Deal แห่งปี เสริมแกร่งธุรกิจ 

31 ธ.ค. 2563 | 06:30 น.

ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือชะลอตัวลง เรามักจะเห็นการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่เกิดขึ้นเสมอ อย่างช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ที่สถาบันการเงินไทยจะถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของทุนต่างชาติจำนวนมาก ขณะที่ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป เราจะเห็นทุนของเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้เข้าซื้อกิจการดั้งเดิมของคนยุโรปจำนวนมาก ปีนี้ก็เช่นกันที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปีก่อนจากแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เราจะเห็นดีลใหญ่เกิดขึ้นเช่นกัน

 

 

 

ดีลประวัติศาสตร์ ซีพีควบเทสโก้ โลตัส

ถูกยกให้เป็น “ดีลแห่งปี” สำหรับกรณี “ซีพีควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัส” หลังกลุ่มซีพีเข้าซื้อหุ้นเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย เฉือนคู่แข่งอย่างกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มบีเจซี (เบอร์ลี่ยุคเกอร์) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ด้วยตัวเลขมูลค่าที่สูงถึง 338,445 ล้านบาท หลังจาก TESCO UK ส่งสัญญาณว่า ต้องการขายกิจการเทสโก้ สโตร์ในไทยและมาเลเซีย ตั้งแต่ปลายปีก่อน ทำให้สปอตไลท์จับจ้องไปที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ทันที

ขณะที่กลุ่มซีพี แม้จะชนะการประมูล แต่ยังต้องลุ้นว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้จะบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่ เพราะยังมีด่านของพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการควบรวมกิจการว่าการควบรวมครั้งนี้จะเข้าข่ายการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่  แต่ที่สุดคณะกรรมการกขค. ทั้ง 7 คน มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ด้วยคะแนน 4:3 เสียง

Deal แห่งปี เสริมแกร่งธุรกิจ 

ธนินท์ เจียรวนนท์

คณะกรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า การรวมธุรกิจระหว่างดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด และการรวมกิจการครั้งนี้จะสร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศและเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า และเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดหรือใช้อำนาจเหนือตลาดในการบิดเบือนกลไกลตลาดหรือลดการแข่งขัน จึงกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อกำกับไว้ให้กลุ่มซีพีปฏิบัติตาม 

เทสโก้ อังกฤษจึงประกาศปิดดีลประวัติศาสตร์การขายกิจการในไทยและมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่18 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ “เทสโก้ โลตัส” เมืองไทยย้ายเข้ามารวมอยู่ในอาณาจักรค้าปลีกของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ทำให้กลุ่มซีพีมีรายได้ค้าปลีกหลังควบรวมกิจการแล้วกว่า 9.7 แสนล้านบาท 

 

 

 

บิ๊กดีลข้ามปี “แบงก์กรุงเทพ-เพอร์มาตา”

บิ๊กดีลข้ามปีที่ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการธนาคารไทย เมื่อธนาคาร กรุงเทพ ซึ่งคุ้นเคยกับอินโดนีเซียนมายาวนานกว่า 50 ปี หลังจากเข้าไปเปิดสาขาที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซียเป็นสาขาแรก ตั้งแต่ปี 2511 ได้ทุ่มเงินก้อนโตเฉียด 100,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ธนาคารพาณิชย์อันดับ 12 ของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีขนาดสินทรัพย์ 335,000 ล้านบาท สาขา 332 แห่ง และพนักงาน 7,000 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 

 

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพจะเข้าซื้อหุ้นเพอร์มาตาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ พีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเคในสัดส่วน 89.12% ของหุ้นที่ออกจำหน่าย คิดเป็นมูลค่า 81,017 ล้านบาท และจะคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดของเพอร์มาตาอีก 10.88% คาดใช้เงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 100% รวมมูลค่าการซื้อกิจการทั้งหมดของเพอร์มาตาเบื้องต้นอยู่ที่ราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 90,909 ล้านบาท

Deal แห่งปี เสริมแกร่งธุรกิจ 

ชาติศิริ โสภณพนิช

ปิดดีลการเข้าซื้อกิจการอย่างสมบูรณ์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 หลังจากได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) ทำให้เพอร์มาตายกฐานะขึ้นเป็นอันดับ 10 ในอินโดนีเซียทันที 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สิ่งที่ธนาคารกรุงเทพได้จากการซื้อหุ้นครั้งนี้ นอกจาก ดิจิทัลแบงกิ้ง “ Permata MobileX App” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งในอินโดนีเซีย ซึ่งมีมากกว่า 200 ฟีเจอร์ และผู้ใช้เติบโต 58% ต่อเดือน ยังสามารถเชื่อม API สำหรับรองรับบริการด้านWholesale และ SME ด้วย และพันธมิตรบริษัทขนาดใหญ่และฟินเทค ซึ่งจะแรงเสริมให้กรุงเทพก้าวสู่ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเอเซียอยู่ใกล้แค่หยิบมือ 

 

PRINC ควัก 2 หมื่นล.ปิดดีลหุ้น BH

อีกดีลที่ถูกพูดถึงและเรียกความสนใจไม่น้อย กับกรณี “พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ” ยักษ์เล็ก ที่ห้าวหาญควักเงินกว่า 18,613.70 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น “บำรุงราษฎร์” ต่อจาก “BDMS” ยักษ์ใหญ่ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้ง

ดีลนี้ตกเป็นข่าวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) ที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 180,175,806 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.71 % ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของ BH ให้กับผู้ซื้อรายหนึ่งในราคาหุ้นละ 103 บาท มูลค่าราว 18,613.70 ล้านบาท ซึ่งการขายครั้งนี้จะทำให้ BDMS มีกำไร 1,100 ล้านบาท 

 

ก่อนที่จะเฉลยในเวลาต่อมาว่า ผู้ซื้อรายนี้คือ “PRINC” หรือ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) เจ้าของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ซึ่ง “สาธิต วิทยากร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ PRINC เจ้าของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ออกมาระบุว่า การซื้อหุ้น BH ในครั้งนี้เป็นการซื้อในนามส่วนตัว โดยล็อตแรกจำนวน 90.5 ล้านหุ้น มีมูลค่า 9,321.5 ล้านบาท ส่วนล็อตที่ 2 อีก 90,215,806 หุ้น หรือ 11.34% มีมูลค่า 9,292.22 ล้านบาท ในวันที่ 18 ธันวาคม ส่งผลให้ “สาธิต” ถือหุ้นรวม 22.72% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ใน BH รองจากบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 13.41% 

 

หลังการเข้าซื้อหุ้น “สาธิต” ให้เหตุผลว่า เพราะมองเห็นถึงศักยภาพของบำรุงราษฎร์ ศักยภาพของแพทย์ และเชื่อว่าจะสามารถซินเนอยี่กับ PRINC ช่วยเสริมทักษะด้านการแพทย์ การบริการ การส่งต่อผู้ป่วยหนักได้ อีกทั้ง เป็นการตอกย้ำถึงแผนการเดินหน้ารุกขยายการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล ที่ PRINC ต้องการขยายโรงพยาบาลให้ครบ 20 แห่งในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 11 แห่ง 

Deal แห่งปี เสริมแกร่งธุรกิจ 

สาธิต วิทยากร

 

ดีลนี้ยังส่งผลให้แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยมในปีหน้าดุเดือดขึ้นทันที จากการเข้ามาของผู้ประกอบการเดิมและหน้าใหม่ อีกทั้งการผนึกกำลังเมื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการรักษาผู้ป่วย เห็นได้จากการนำโมเดล “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” มาใช้ในโรงพยาบาลพิษณุเวช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือ PRINC 

 

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564