‘บิ๊กตู่’ เปิดไฟไล่คนโกง กร้าว!รายเก่าหมดไปหน้าใหม่ต้องไม่มี

16 ก.ย. 2559 | 11:30 น.
"..รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญ คือ คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่จะต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกง ในทุกวงการ" คำประกาศกร้าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ คืนวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา

[caption id="attachment_98070" align="aligncenter" width="500"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)[/caption]

กระทั่ง ประกาศย้ำจุดยืนนี้อีกรอบบนเวทีใหญ่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน คือ วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559 ที่จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยปาฐกถาตอนหนึ่งใจความว่า

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นกับดักสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโตได้ช้า ทั้งยังเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ และการไม่ยอมรับของต่างประเทศที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาเก่าและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นใหม่มาต่อเนื่อง

ทั้งยังส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ บริหารงานในองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ทั้งยังได้วางมาตรการทางกฎหมาย ยกเลิก แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับที่ไม่จำเป็น รวมถึงปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน มีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน ทั้งยังสร้างกลไกการใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมและเที่ยงธรรม โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายอำนาจของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ในส่วนของข้าราชการต้องเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนโครงการขนาดใหญ่โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบความเป็นมาของการดำเนินการ การประกวดราคา และผลการดำเนินการ ตลอดจนมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ทั้งการผลิตสื่อและการรณรงค์สร้างการรับรู้ของประชาชนทุกระดับในวงกว้าง เสริมสร้างจิตสำนึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม เน้นย้ำให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด

ทั้งยังกำชับให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตร "โตไปไม่โกง" บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมการปราบปรามและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่สาธารณะรับทราบ อย่าใช้ความคิดเห็นส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ข้อมูลบิดเบือน

ก่อนกำชับถึงข้าราชการว่า ต้องเป็นที่พึ่งดูแลทุกข์สุขของประชาชน ร่วมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันเพื่อลดความหวาดระแวงโดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ และลดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนโดยให้มีส่วนร่วมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตบท้ายด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ส่องไฟขึ้นฟ้าเพื่อขับไล่คนโกงให้หมดไปจากแผ่นดินไทย"

ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "กรรมสนองโกง" เพื่อจุดพลังความร่วมมือของประชาชนคนไทยจากภาคส่วนต่างๆทั่วประเทศ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาคอร์รัปชันและถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ลุกขึ้นมามีส่วนในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อขจัดปัญหาให้หมดไป เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ "กรุงเทพโพลล์" โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง"สังคมไทยกับความห่างไกลการทุจริตคอร์รัปชัน" จากการเก็บข้อมูลกับ 1,232 หน่วยตัวอย่างทั่วประเทศ เห็นว่า 2 ปีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ดีขึ้นเรื่อยๆโดย 67.8% เชื่อว่า จะพาประเทศไทยโปร่งใสขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ 49.7 กลัวการคอร์รัปชันจะกลับมาอีกหากมีรัฐบาลใหม่ แต่มองว่า รัฐธรรมนูญเป็นตัวช่วยป้องกันการทุจริตได้

ขณะที่ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index :CPI) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556 – 2558 พบว่า อันดับของประเทศไทย "ดีขึ้น" ต่อเนื่องโดยปี 2556 ก่อนรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ อยู่ในอันดับที่ 102 ปัจจุบันไทยอยู่อันดับที่ 76 ตั้งเป้าจะเพิ่มค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกของไทยจากปัจจุบันที่ 38 คะแนนให้ได้ 50 คะแนนจาก 100 คะแนนในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559