กรรมทันตาทำ'โกง'ชะงัก ไล่ห่วงโซ่ทุจริตปลุกจิตสำนึก ‘ธุรกิจ-ครอบครัว’ โปร่งใส

12 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
เวทีเสวนาวิชาการ"Anti-Corruption Collaboration กรรมโกงแบบไหน....ใครสนอง" ที่ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ในวาระวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 ปีนี้ชูแนวคิดกรรมสนองโกง เมื่อกระบวนการเกี่ยวกับเรื่องนี้กระชับ คล่องตัว และดำเนินการให้เห็นผลได้รวดเร็ว เพื่อให้สังคมตระหนักว่า การกระทำผิดจะต้องได้รับผลกรรมในเวลาอันรวดเร็ว และมุ่งปลุกจิตสำนึกสังคมเชิดชูคุณธรรมความซื่อสัตย์ โปร่งใสให้แผ่กว้างขึ้นแล้ว วิทยากรหลายคนยังชี้ตรงกันว่า ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรับหลักเกณฑ์ หรือข้อกำหนดใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยใสสะอาดเพิ่มขึ้นด้วย

[caption id="attachment_96103" align="aligncenter" width="335"] ดร.ธาริษา วัฒนเกส  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดร.ธาริษา วัฒนเกส
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)[/caption]

ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ในอดีตการโกงในภาคการเงินหรือสถาบันการเงินได้สร้างความเสียหายมาก

หลังเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2540 ธนาคารพาณิชย์ล้มเลิกไปหลายแห่ง ที่เหลือต้องเพิ่มทุน ความเป็นธนาคารของตระกูลนั้นนี้ลดน้อยลง มีการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มความเข้มแข็งของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้ามาตรฐานสากล ขณะเดียวกันทางธปท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เน้นตั้งแต่ต้นในการคัดกรองผู้บริหารที่จะเข้ามาสู่สถาบันการเงิน

ส่วนตลาดทุนนั้นก็ปรับตัวเพื่อให้เข้ามาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มีกรณีการใช้ข้อมูลภายในไปซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร เดิมมีโทษปรับ เมื่อจ่ายแล้วถือว่าจบ โดยผู้บริหารนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แม้สังคมจะจับตามอง ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ว่า ต่อไปนอกจากโทษปรับแล้ว ตัวผู้บริหารที่กระทำผิดถือว่าขาดคุณสมบัติ ต้องจากตำแหน่งตามกำหนดระยะเวลาด้วย

ดังนั้น ในภาพรวมตลาดเงินตลาดทุนกติกาค่อนข้างดี มีการเพิ่มกลไกตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใสมากขึ้น ความเสียหายจากภาคนี้มีน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ดร.ธาริษามีชี้แนะ 3 ประการว่า ประการแรก เพื่อขยายวงการกำกับตรวจสอบให้การประกอบธุรกิจมีธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น ควรขยายห่วงโซ่คุณค่าความสุจริตนี้ออกไปให้มากขึ้น อาทิ ในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ นอกจากดูความเป็นไปได้ของโครงการที่ยื่นขอ มีหลักประกันที่เพียงพอแล้ว อาจต้องพิจารณาปัจจัยความโปร่งใสของผู้ยื่นขอสินเชื่อประกอบด้วย เช่น การเสียภาษีต้องถูกต้องครบถ้วน ระบบบัญชีน่าเชื่อถือ

ประการที่ 2 ที่ยังไม่ชัดเจนคือ การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่รัฐยังมีบทบาทซ้อนกันอยู่ ควรแบ่งบทบาทแยกกันให้ชัด โดยจะมอบให้ธปท.เป็นฝ่ายกำกับดูแลเช่นเดียวกับแบงก์พาณิชย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการมากว่า 2 ปีแล้ว ควรเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนและมีการถ่วงดุลกัน

ขณะเดียวกันยังมีธนาคารพาณิชย์และสถานประกอบการ ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) น่าจะเข้าร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อสร้างกระแสต้านโกง ส่งเสริมให้สมาชิกกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบ

ประการที่ 3 สื่อต้องนำเสนอเพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีบางรายประกาศ"ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" แล้วสื่อเสนอในทำนองชูเป็นฮีโร่ ทั้งที่ไม่ถูกต้อง สังคมต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง วัฒนธรรมศรีธนญชัย หรือการเอาตัวรอดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการต้องยกเลิก

[caption id="attachment_96105" align="aligncenter" width="335"] นายวิเชียร พงศธร  ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย นายวิเชียร พงศธร
ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย[/caption]

ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ได้เห็นความคืบหน้าการต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นโอกาสเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่อย่าเพิ่งวางใจยังต้องทำงานต่อ เพราะยังมีโจทย์ท้าทายอีกมาก โดยกรรมจากการโกงเป็นตัวเลขความเสียหายที่เห็นชัด เงินสินบนงานภาครัฐปีละ 1-3 แสนล้านบาท ต่อเนื่องกันมาหลายปี มีการคำนวณกันว่า ตั้งแต่ปี 2546-2556 มีเงินโกงถูกโอนไปต่างประเทศถึง 1 ล้านล้านบาท เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

ขณะที่ยังมีห่วงโซ่การโกงที่ไม่ปรากฏเป็นตัวเงิน สะท้อนเป็นปัญหาสังคมรอบตัวเรา

"คนที่รับผลกรรมของการโกงมิใช่เพียงคนโกง แต่เวลานี้พวกเราเสมือนอยู่ในกรงขังการโกงกันทุกคน เพราะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาสารพัด จากพฤติกรรมการโกงเล็กโกงน้อยในชีวิตประจำวันของพวกเรากันเอง วงจรการโกงใหญ่โตเกินกว่ากำลังของใครคนใดคนหนึ่งจะทัดทานหรือเปลี่ยนแปลง มีแต่ต้องรวมพลังร่วมมือกันทุกระดับ ในการเลิกส่งเสริมการโกง ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก โดยการไม่ยอมและไม่เพิกเฉยอีกต่อไป คือต้องทั้งผนึกกำลังกันและร่วมเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในการปราบโกง" เราต้องร่วมกันเอาชนะการโกงเพื่ออนาคตของลูกหลาน"

[caption id="attachment_96104" align="aligncenter" width="336"] พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ  ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)[/caption]

ขณะที่พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต้องการเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการบ้านใหญ่ของป.ป.ช. ซึ่งขณะเข้ารับตำแหน่งมีคดีคั่งค้างเป็นเรื่องระหว่างการไต่สวน 2 พันเรื่อง มีเรื่องร้องเรียนอยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริง 1.1 หมื่นเรื่อง ขณะที่ป.ป.ช.มีศักยภาพในการทำสำนวนคดีได้ปีละ 2-3 ร้อยเรื่อง และจนถึงเมษายน 2559 มีเรื่องร้องเรียนใหม่เข้ามาอีก 2 พันเรื่อง ป.ป.ช.ได้จัดกระบวนการทำงานใหม่ ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนอนุมัติอัตราพนักงานสอบสวนให้อีก 800 คน พร้อมกับมีการกระจายกำลังลงพื้นที่ในตั้งป.ป.ช.จังหวัดขึ้นครบทุกพื้นที่แล้ว โดยพบว่าคดีที่ร้องมาป.ป.ช.นั้น 50-60 % เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อดำเนินการในพื้นที่ได้จะลดเรื่องเข้ามาส่วนกลางได้มาก

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้จัดช่องทางการดำเนินการด้านคดีเป็น 2 ทางชัดเจน โดยคดีร้องใหม่ที่กรรมการรับไว้ไต่สวนนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หากไม่แล้วเสร็จต้องทำรายงานเสนอพร้อมเหตุผลข้อติดขัดที่มีเหตุผลยอมรับได้ประกอบด้วย การทำงานจะไม่เอาอายุความเป็นตัวกำหนดอีกต่อไป

ขณะที่คดีค้างเก่า 2 พันคดีที่แยกออกมาจัดการต่างหากอีกชุดนั้น ต้องสะสางให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีจากนี้ โดยในปีแรกนี้ต้องให้เสร็จ 500 คดี ที่เหลืออีก 1,500 คดีนั้นให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จปีละ 750 คดี ขณะที่ขั้นตอนทางศาลก็มีการเร่งรัดมากขึ้น โดยจัดตั้งแผนกคดีทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นในศาลอาญาแล้ว ใครทำผิดต่อไปนี้ 3 ปีติดคุกแน่

ประธานป.ป.ช.เสนอความเห็นอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักงานป.ป.ช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละ1.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนน้อยมาก ไม่ถึง 0.1 %ของงบประมาณ ทั้งที่ต้องดูแลปัญหาการทุจริตที่มีวงเงินความเสียหายมหาศาล หากจะได้ปรับเพิ่มงบอีกเท่าตัวก็ยังไม่ถึง 5 พันล้านบาท หากจะตั้งงบประมาณให้เป็นสัดส่วน เช่น ของงบประมาณ หรือของวงเงินทุจริตที่ตรวจสอบได้ เพื่อให้มีเงินเหลือมาตั้งเป็นกองทุนในป.ป.ช. เพื่อนำไปช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคีเครือข่ายที่ช่วยตรวจสอบการทุจริตได้ จะช่วยให้งานทั้งป้องกันและปรามปรามเข้มแข็งขึ้น แทนที่จะปล่อยให้องค์กรที่ทำงานด้านนี้ต้องมีภาระในการหางบประมาณกันเองเช่นที่เป็นอยู่

รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายนิติบุคคลไทย ให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดของนิติบุคคลนั้น ๆ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดการกระทำทุจริตของนิติบุคคลนั้นด้วย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของกิจการ ต้องร่วมติดตามสอดส่องการดำเนินการให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมสุจริต โปร่งใส ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของป.ป.ช. ที่มุ่งปลุกจิตสำนึกให้เป็นสังคมไม่ทนทุจริต

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559