ซีเกท-เวสเทิร์นสะเทือนรับศึก‘SSD’

08 ก.ย. 2559 | 03:00 น.
อิเล็กทรอนิกส์ อ่วม!หลังตลาดเด้งรับเทคโนโลยีใหม่ SSD แทน HDD เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกแล้ว 30% ทำความต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ร่วงกราวรูด จับตา เวสเทิร์นดิจิตอล , ซีเกทสะเทือนยอดขาย -การจ้างงานทุกฐานผลิตใน-นอกประเทศ ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประกอบในมือถือก็รับศึกหนักบิดราคาสู้จีนไม่ได้ ส่งผลให้ปริมาณออร์เดอร์ลด ดิ้นปรับตัวหันหน้าสู่นวัตกรรมใหม่ ด้าน แมนพาวเวอร์ รายงานสถานการณ์แรงงานกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อยู่ใน7กลุ่มที่มีการปลดแรงงานออกมากสุด

[caption id="attachment_95097" align="aligncenter" width="700"] 7 กลุ่มธุรกิจที่ปลดคนมากที่สุดในปี 2559 7 กลุ่มธุรกิจที่ปลดคนมากที่สุดในปี 2559[/caption]

สืบเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของหน่วยเก็บข้อมูลหรือหน่วยเก็บความจำที่เรียกว่าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive:HDD) มีลักษณะเป็นจานแม่เหล็กหัวอ่าน ต่อมาเทคโนโลยีพัฒนามาเป็นSolid State Drive หรือ SSD ที่มีความทันสมัย ประหยัดไฟ คล่องตัวและสะดวกในการใช้งานมากกว่า จึงมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มากขึ้น ทำให้ล่าสุดราคาเริ่มเอื้อต่อตลาดและสามารถเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด HDDในตลาดโลกไปแล้วในสัดส่วนถึง 30%

 ความเร็วสูงกว่า 5 เท่า

ต่อเรื่องนี้นายจาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยตลาดไคลเอนด์ ดีไวซ์ และหัวหน้านักวิเคราะห์บริษัท ไอดีซี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง โดยปีที่แล้ว มูลค่าตลาดโลกลดลง 16% และปีนี้ คาดการณ์ว่าจะลดลงอีก 16% เนื่องจากลดลงของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(พีซี) ขณะที่ตัวเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เองกำลังถูกทดแทนด้วย SSD ที่มีความเร็วสูงกว่า 5 เท่า ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เลือกมาใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเกม ที่ต้องการเครื่องที่มีสมรรถนะและความเร็วในการทำงานสูง เช่นเดียวกับในกลุ่มคอมพิวเตอร์พกพา หรือโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ที่ออกมา มีความบางบางมากขึ้น และมีขนาดเล็ก จึงถูกเลือกมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแทน แม้ว่าขณะนี้ราคา จะสูงกว่า โดยหากคิดที่ความจุ 500 กิกะไบต์ ราคาSSD จะอยู่ราว 14 บาทต่อกิกะไบต์ ขณะที่ HDD อยู่ที่ราว 3.4 บาทต่อกิกะไบต์ อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นทำให้แนวโน้มราคาเทคโนโลยีใหม่นี้ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับตัวโดยการควบรวมกิจการเพื่อให้เกิดความประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) มีการปรับลดจำนวนพนักงาน และหันมาใช้เทคโนโลยีในการผลิตSSDมากขึ้น ซึ่งไทยที่เป็นฐานผลิตHDDรายสำคัญของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

 ใช้ HDD ในตลาดโลกลดลง

แหล่งข่าวจากวงการอิเล็กทรอนิกส์เปิดเผยว่า จากสัดส่วนการใช้ HDD ที่ลดลงเป็นตัวสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ความต้องการใช้ อยู่ที่ 160 ล้านชิ้นต่อไตรมาส ก็ลดลงมาเหลือ 140 ล้านชิ้นต่อไตรมาส กระทั่งเมื่อไตรมาสแรกปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 100.5 ล้านชิ้นต่อไตรมาส ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 98.5 ล้านชิ้นต่อไตรมาสในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้วยังมีความต้องการใช้อยู่ที่ 110 ล้านชิ้นต่อไตรมาส

โดยตัวเลขความต้องการใช้ HDD เฉลี่ยในตลาดโลกจะอยู่ที่ 95-105 ล้านชิ้นต่อไตรมาส และมีแนวโน้มไม่ขยายตัวมากขึ้นมีคำสั่งซื้อลดลง หลังจากที่ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์พกพาหรือโน้ตบุ๊กลดลง เพราะมีคอมพิวเตอร์พกพาแท็บเลตและสมาร์ทโฟนเข้ามาแย่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการผลิตโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆจะใช้ SSDแทน HDD

จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิต HDD 3 รายใหญ่ในตลาดโลกได้รับผลกระทบแล้ว ไล่ตั้งแต่กลุ่มซีเกท เทคโนโลยี ( Seagate) ที่มีข่าวออกมาเมื่อต้นปี2559 มีนโยบายลดคนทั่วโลกจำนวน 1,600 คน และเพิ่มเป็น6,500 คนทั่วโลกในครึ่งปีหลังนี้ หรือคิดเป็น 14% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลกประมาณ 45,000 คน โดยปัจจุบันซีเกทมีโรงงานอยู่ในไทย อเมริกา มาเลเซียและจีนที่ได้รับผลกระทบด้วย

ขณะที่บริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล จำกัด หรือ WD ผู้บุกเบิก เทคโนโลยี ทางด้านฮาร์ด ดิกส์ ไดรฟ์

มีโรงงานอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา และมีฐานการผลิตหัวอ่านเขียนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ประเทศไทยในนามบริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล(ประเทศไทย)จำกัด ก็ได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีแรงงานไหลออก และไม่มีการรับคนเพิ่ม แม้ว่าล่าสุดโรงงานผลิตที่ปราจีนบุรี ประกาศรับพนักงานเพิ่มเข้ามา 400 คนจากปัจจุบันมีแรงงาน 7,000 คน โดยมองว่ายังมีตลาด HDD เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์และเซิร์ฟเวอร์ ที่เก็บข้อมูลได้มากขึ้นและมีความคมชัดสูงเหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรมและน่าจะเป็นการรับคนเพื่อรองรับกำลังซื้อในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีซึ่งเป็นไฮซีซันในอุตสาหกรรมนี้ โดยปัจจุบันโรงงาน WD ที่อยุธยาและปราจีนบุรีมีพนักงานรวมกันราว 30,000คน

“WD เริ่มมีข่าวเอาคนออกแล้ว เช่น เมื่อเร็วๆนี้โรงงานที่แคลิฟอร์เนียเอาพนักงานชาวต่างชาติออกราว 507คน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการคาดการณ์ว่าโรงงานที่กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งที่อเมริกา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีนและฟิลิปปินส์ ก็อาจเกิดการไหลออกของแรงงานได้ในต้นปี 2560 นี้ ”

 สถานะผู้ผลิตในตลาดโลก 3 ราย

ทั้งนี้ปัจจุบันในตลาดโลกเหลือผู้ผลิต HDD เพียง 3 ราย แต่ละกลุ่มมีกำลังการผลิตดังนี้ กลุ่มบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี สัญชาติอเมริกา มีกำลังการผลิตมากกว่า 30 ล้านชิ้นต่อไตรมาส 2.กลุ่มเวสเทิร์นดิจิตอลทุนสัญชาติอเมริกาที่เมื่อ5 ปีก่อนเข้าซื้อกิจการบริษัท HGSTของญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตในไทย มีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีกำลังผลิต HDD รวมทั้งสิ้น จำนวน 45-50 ล้านชิ้นต่อไตรมาส และ 3.บริษัท โตชิบา สตอเรจ ดีไวซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSDT) ที่ก่อนหน้านั้นตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย พอเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ จึงตัดสินใจเลิกผลิตในไทยและไปให้ความสำคัญกับฐานผลิตที่จีนและฟิลิปปินส์แทน มีกำลังผลิตรวมมากกว่า 10 ล้านชิ้นต่อไตรมาส โดยกำลังผลิตทั้งหมดส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังจีน อเมริกา เพื่อไปประกอบแล้วส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ส่งขายทั่วโลก

 วงการชี้คำสั่งซื้อ HDD หาย 70%

นายสมนึก ไชยกุล ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือSMT กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ว่าปีนี้ยังเป็นอีกปีที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการผลิต HDD และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ตัวหลักที่มีบทบาทในการส่งออกของไทย เมื่อมี SSD เข้ามาทดแทนที่ โดยมีคุณสมบัติที่เหนือกว่า ทำให้ผู้ผลิต HDD กระทบแล้ว เพราะคำสั่งซื้อหายไปจากตลาดแล้วกว่า 60-70%

“การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้SMTได้รับผลกระทบด้วย เพราะเป็นซัพพลายเออร์ป้อนชิ้นส่วน HDD ให้ผู้ผลิต เป็นที่มาที่ทำให้ SMT เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ต้องจับมือลูกค้ารายใหม่พัฒนาสินค้าตัวใหม่ออกมา รวมถึงการลดพนักงานลงจาก 1,200 คนเหลือ 800 คน นอกจากนี้ปี 2559 เดิมตั้งเป้าจะมียอดขายโต 8,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือ 6,000 ล้านบาท โดยยอดขายมาจากการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม3เดือนสุดท้ายปีนี้ยังหวังว่าจะมีกำไรจากการขายมากขึ้น แม้ว่ายอดขายจะลดลง“

 ชิ้นส่วนมือถือราคาสู้จีนไม่ได้

เช่นเดียวกับที่นายโกวิทย์ จันทร์วัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส บริษัท เม็กเท็ค พรีซิชั่น ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วน HDD และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เช่น แผงวงจรภายใน กล่าวถึงยอดขายรวมปี2559ว่า จะลดลงเหลือ 3.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มียอดขายรวมราว 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้นอกจากเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติแล้ว การแข่งขันในตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เข้ามาบิดราคาสู้กันในตลาดโลกมากขึ้น ทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศมีคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนมือถือ นอกจากนี้กำลังการผลิตในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการใช้ จึงเกิดการแข่งขันมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือมีระยะเวลายาวขึ้นจากเดิมมีการเปลี่ยนโทรศัพท์ปีละรุ่นหรือเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่ภายใน2 ปี นอกจากนี้ความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ PC รายต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้HDD จำนวนมากโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหนีไปยังตลาดสินค้าอื่น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้บริษัทฯต้องทำการศึกษาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆอย่างต่อเนื่องล่าสุดก็อยู่ในขั้นศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิต เครดิตการ์ดด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีชิปฝังอยู่ในบัตรเครดิต มีความปลอดภัยมากขึ้นในเวลาที่รูดการ์ด จะมีการเช็กรหัสกับตัวเจ้าของ ยกตัวอย่าง เช่น เวลาซื้อของออนไลน์ ก็จะใช้บัตรเครดิตควบคู่กับรหัสส่วนตัว เป็นการเลี่ยงปัญหาถูกแฮกเกอร์ (hacker)ข้อมูล

 เปลี่ยนรูปแบบจ้างงาน

ต่อเรื่องนี้ นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทรับจัดหางานกล่าวว่า ขณะนี้ตลาดแรงงานอิเล็กทรอนิกส์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบ ที่มีแนวโน้มหันมาใช้แรงงานรับเหมาช่วงมากขึ้น โดยลดพนักงานประจำให้เหลือน้อยลง และหันมารับแรงงานเอาต์ซอร์ซมากขึ้นเป็นสัญญาระยะสั้น 3-8 เดือน และจะมีการต่อสัญญาก็ต่อเมื่อ มีออร์เดอร์ในการผลิตเข้ามามากเป็นการลดความเสี่ยงด้านการจ้างงาน และจะเป็นโอกาสที่นายจ้างจะได้คัดเลือกพนักงานประจำที่มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นพนักงานที่เข้ามาทำงานวันแรกจะเริ่มที่เป็นพนักงานเอาต์ซอร์ซก่อน เมื่อมีฝีมือดีจึงบรรจุเป็นพนักงานประจำในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทฯมีการจัดกลุ่มธุรกิจที่มีการปลดคนออกมากที่สุดในขณะนี้ มีจำนวน 7 กลุ่มหลัก(ดูตาราง) และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไอทีก็เป็นหนึ่งในนี้ เพราะอยู่ระหว่างปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง จะมีการไหลเข้า-ออกของแรงงานถี่ขึ้น

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมี2 ประเภทคือกลุ่มที่มีความต้องการใช้แรงงานลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ พีซี วิดีโอ กลุ่มรับส่งสัญญาณมือถือ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกลุ่มที่มีองค์ประกอบของ HDD อยู่ภายในสินค้า ที่ขณะนี้เทคโนโลยีกำลังค่อยๆถูกเปลี่ยนไปใช้ SSD แทน ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้คนเพิ่ม ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มการผลิตวิทยุ ทีวี และชิ้นส่วนประกอบ เป็นกลุ่มที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากในช่วงนี้ถึงปลายปีเพราะเป็นช่วงไฮซีซัน รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์จากแบรนด์มือถือชื่อดังที่มีฐานการผลิตอยู่ที่จีนแต่ใช้ชิ้นส่วนประกอบจากประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้มีการเติบโต 20-30% เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559