G20-อาเซียนซัมมิต 2 เวทีต่อยอดไทยแลนด์ 4.0

08 ก.ย. 2559 | 04:00 น.
นับตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงกลางสัปดาห์นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันเฉียงใต้กลายเป็นเวทีการประชุมระดับผู้นำประเทศที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เพราะผู้นำรัฐบาลและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศต่างเดินทางมาประชุมแสวงหาความร่วมมือและแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี เริ่มกันที่ 4-5 กันยายน 2558 เป็นการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ต่อด้วย 6-8 กันยายน การประชุมอาเซียนซัมมิทและการประชุมระดับผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ในส่วนของ G20 ซัมมิทที่นครหังโจวของจีนซึ่งปิดฉากไปแล้วนั้น การประชุมสะท้อนชัดว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวต้องการพลวัตรขับเคลื่อนจากนโยบายที่เชื่อมโยงและสอดประสานกันทั้งจากประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา แถลงการณ์ของผู้นำ G20 ยอมรับว่าต้องร่วมกันผลักดันมาตรการต่างๆหลากหลายรูปแบบนอกเหนือไปจากมาตรการด้านการเงินและการคลัง

นอกจากนี้เพื่อให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งในระยะยาวนั่นหมายถึงมาตรการในระดับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การใช้นวัตกรรมและทุกๆภาคส่วนในสังคมต้องได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน ทั้งนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ได้ระบุถึง G20 Blueprint on Innovative Growth หรือแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสร้างความเติบโตด้วยนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดจากโอกาสใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ รวมทั้งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ การมุ่งหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ตลอดจนจากปัจจัยแวดล้อมและรูปแบบใหม่ๆของการทำธุรกิจ นับว่าเป็นจุดยืนหรือท่าทีจากเวทีระดับโลกที่สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของไทยที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่

การประชุมผู้นำ G20 ที่ประเทศจีนครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วยแม้ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก G20 โดยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 (ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ)ในปีนี้ ทำให้ผู้นำของไทยได้เข้าร่วมหารือในหลายๆประเด็นที่กลุ่ม G20 ให้ความสำคัญซึ่งก็รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการกลุ่มG20 ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยในโอกาสดังกล่าว ผู้นำของไทยได้ย้ำว่า กลุ่ม G77 ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสนับสนุนให้กลุ่ม G20 ส่งเสริมการใช้หลักการทำธุรกิจให้ครอบคลุมในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกและได้ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน

ประเด็นดังกล่าว หากกลับมาพิจารณาในส่วนของไทยเองก็จะพบว่าเป็นแนวทางเดียวกันกับการพัฒนา Foodpolis ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่มุ่งพัฒนาและยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรอัจฉริยะ หรือการเกษตรสมัยใหม่ ที่นำการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตรให้สูงขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน ผู้นำรัฐบาลไทยยังมีโอกาสได้พบหารือกับนายแจ๊ค หม่า ประธานบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ปฯ กลุ่มทุนใหญ่ของจีนและเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซระดับโลก โดยนายหม่ากล่าวกับพลเอกประยุทธ์ว่า มีความยินดีหากจะสามารถใช้ระบบของบริษัทอาลีบาบาซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการขนส่งและระบบการชำระเงิน ช่วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของไทย (SMEs) ในการส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ทุเรียน ผลไม้ ข้าว มายังตลาดประเทศจีนและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบอาลีทริป (Alitrip) ที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยระบบนี้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปีได้

ผู้บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป ยังรับปากยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์เพื่อช่วยพัฒนา SMEs และสินค้าโอท็อปของไทยในตลาดต่างประเทศ โดยแสดงความมั่นใจว่า ไทยเองมีนวัตกรรมที่จะสามารถพัฒนายกระดับสินค้าโอท็อปได้อีก

สำหรับการประชุมอาเซียนซัมมิตที่จะเปิดฉากในวันที่ 6 กันยายนศกนี้ ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หัวข้อสำคัญของการประชุมคือ Turning Vision into Reality for a Dynamic ASEAN Community เน้นการทำวิสัยทัศน์ของอาเซียนให้เกิดผลจริงเป็นรูปธรรม นับเป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งสำคัญเปิดศักราชใหม่หลังประชาคมอาเซียนมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2559

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะหารือกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างให้อาเซียนเป็นประชาคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ประชาชนทุกคนก้าวหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังและทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ การส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค รวมทั้งประเด็นที่ประเทศสมาชิกมีความสนใจและความห่วงกังวลร่วมกัน อาทิ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และอาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนมีกำหนดลงนามร่วมกันในเอกสารสำคัญ 1 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค และจะรับรองเอกสาร 20 ฉบับที่สำคัญ อาทิ แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 เป็นต้น

นอกเหนือจากประเด็นภายในภูมิภาคอาเซียนเองแล้ว จากการที่อาเซียนมีการประชุมระดับผู้นำกับประเทศคู่เจรจานอกภูมิภาคอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ทำให้เวทีนี้เป็นที่จับตามองของประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศเอเชียตะวันออก ที่เรียกว่าการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) และการประชุมประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (อาร์เซ็ป) 16 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่คาดว่าจะออกแถลงการณ์เพื่อประกาศความคืบหน้าของการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งเดิมวางเป้าหมายให้การเจรจาแล้วเสร็จในปี 2559 นี้ แต่เชื่อว่าอาจต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด เนื่องจากมีรายละเอียดที่ยังตกลงกันไม่ลงตัวอีกมาก อีกทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่มีสมาชิก 12 ประเทศและมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้อตกลงกลุ่มการค้าเสรีคู่แข่งของอาร์เซ็ป ก็ยังมีความล่าช้าในกระบวนการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศสมาชิก

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความร่วมมือและการเจรจากับประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคในฐานะพันธมิตรที่จะร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าทั้งการประชุม G20 และอาเซียนซัมมิตกับประเทศคู่เจรจา คือเวทีที่เปิดโอกาสให้ไทยซึ่งเป็นฮับและฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว ได้นำเสนอนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและทิศทางความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559