กระทรวงอุตฯจับมือ สอท.ดัน industry 4.0 เฟสแรก 4 สาขา

07 ก.ย. 2559 | 02:15 น.
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวเข้าสู่ industry 4.0 ว่า การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติถือว่ามีส่วนสำคัญแม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีการนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานทำงานแทนมนุษย์ในการผลิตที่เป็นอันตรายหรือในส่วนที่ต้องการความแม่นยำสูงเป็นการใช้เฉพาะบางส่วน แต่ไม่สามารถนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบันอุตสาหกรรมในประเทศส่วนใหญ่มีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.0-2.5 และมีเพียงบางสาขาที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ ยังพบว่าบางสาขาอาจไม่มีความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากลักษณะการผลิตและผลิตภัณฑ์เป็นประเภทตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche  Market) เช่น อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมทุนวัฒนธรรมและบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยว แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ของตกแต่งบ้าน ของเล่น และเซรามิก เป็นต้น

ดังนั้น การเริ่มต้นเข้าสู่โมเดล Industry 4.0 ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรดิจิทัลเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยจะต้องมีการปรับตัวที่สำคัญใน 2 ลักษณะ คือ1.เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Enterprise) เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเพื่อนำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้า 2.เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยการสร้างสรรค์คุณค่า (Value Driven Enterprise) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยมีสินค้าที่น่าสนใจและใช้กระบวนการผลิตขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ

นายสมชาย  หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จากการประชุมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 4 ผ่านกลไกการจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้มีมติร่วมกันให้มีการปรับปรุงเนื้อหาร่างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและสอดคล้องกับสถานภาพอุตสาหกรรมไทย

“สาระสำคัญ คือ กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นลำดับแรก 4 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วน  อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และเป้าหมายที่จะพัฒนาในลำดับถัดไป คือ อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกร่วมกันต่อไป โดยแบ่งตัวชี้วัดเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 2-3 ปี ได้แก่ ตัวชี้วัดสถานภาพของสถานประกอบการนำร่อง ระยะกลาง 5ปี  ได้แก่  ตัวชี้วัดด้านผลิตภาพอุตสาหกรรม (Productivity) และระยะยาว 10 ปี  ได้แก่ ตัวชี้วัดผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity : TFP) ของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 นอกจากนี้ยังกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ต่างๆในการส่งเสริมของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น 1.การส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงระบบการพัฒนาอัตโนมัติ  2.การส่งเสริมพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรม (Industrial service providers)   3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 4.แหล่งสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs และมาตรการทางภาษี ในขณะนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ อยู่ระหว่างการนำเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เสนอในที่ประชุมดังกล่าวเพื่อพิจารณา คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้”นายสมชาย  กล่าว