โรงไฟฟ้าเทพาจะรออะไรอยู่

06 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
ผมเห็นข่าวชาวบ้านแห่แหนกันมาที่ทำการสำนักงานใหญ่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเรียกร้องให้เร่งลงมือสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลาแล้ว อดที่จะเขียนสนับสนุนไม่ได้ เพราะการที่ฝ่ายรัฐบาลชักช้าไม่ตัดสินใจเสร็จเด็ดขาดไปเสียที กลับปล่อยให้เวลาทอดยาวออกไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อันใด รัฐบาลจะไปกลัวอะไรเมื่อเข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองแล้วก็ต้องกล้าที่จะตัดสินใจดำเนินการ เพราะทุกอย่างก็มีกฎมีระเบียบ มีเกณฑ์ให้ปฏิบัติอยู่แล้ว มีกรอบกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติไปตามนั้น ใครค้านก็ค้านไป เพราะถึงอย่างไรผมว่า "ไม่มีวันเสียล่ะที่เขาจะเลิกค้าน"

ก็ดูอย่างการสร้างเขื่อนปากมูลจังหวัดอุบลราชธานีเป็นไง ทุกวันนี้วันดีคืนดีก็หยิบเรื่องคัดค้านมาเป็นประเด็น เห็นข่าวออกมาทิ่มมาแทง กฟผ.บ่อยๆ ตามสื่อโทรทัศน์บางช่อง ความจริงแล้วถ้าไม่มีเขื่อนปากมูล ทุกวันนี้เรือกสวนไร่นาริมเขื่อนริมแม่น้ำมูลจะมีน้ำใช้ จะมีอาชีพเกี่ยวเนื่องกันหรือ และแน่นอนล่ะฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป แต่ฝ่ายสนับสนุนนี่สิ ทำเฉยไม่แสดงท่าทีแต่อย่างใด คงกลัวเขาว่ากล่าวกันกระมัง

ตอนนี้เราเห็นฝ่ายสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินขึ้นมาแล้ว และแสดงออกอย่างชัดเจน มีการรวมตัวกัน มีการถือป้ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาอย่างโจ่งแจ้ง และยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยตรงด้วย ว่าชาวชุมชนสนับสนุนการก่อสร้าง ซึ่งความจริงแล้วในพื้นที่เขาก็ทราบกันมานานแล้วว่า ผู้คนในพื้นที่เกือบทั้งหมดล้วนสนับสนุนโครงการของรัฐทั้งนั้น จะมีแต่เพียงคนบางคน บางกลุ่มทั้งในและนอกพื้นที่เท่านั้น แต่มีเพียงจำนวนเล็กน้อยกว่าเยอะที่ออกมาคัดค้าน

ใครก็รู้ว่าทุกวันนี้ขีดความสามารถในการสร้างโรงไฟฟ้าของกฟผ.ตกต่ำลงไปมากๆ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่มีชาวบ้านมาคอยคัดค้าน เมื่อเห็นว่ากำลังการผลิตจะไม่มีไม่เพียงพอในอนาคตอันใกล้ก็จะเสนอแผนและก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของเมืองและชนบท และเปิดให้เอกชนสนใจลงทุนทำโรงไฟฟ้าและจำหน่ายให้เครือข่ายและป้อนเข้าระบบได้ ที่ให้ทำกันแบบนี้ก็เพราะลำพัง กฟผ.เพียงหน่วยงานเดียวจะทำไม่ทันแน่ อีกอย่างก็ให้เกิดการแข่งขันแบบกลายๆ ไปด้วย แต่ย้อยหลัง 10 กว่าปีมานี้ จะทำแต่ละแห่งด้วยแต่มีอุปสรรค เพราะคนไทย "สำรัก" ประชาธิปไตยก๋า สำรักเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เคยมองความจริงว่าเขาพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีกันไปถึงไหนแล้ว เมื่อความคิดของนักประชาธิปไตย แต่ล้าหลังเรื่องวิทยาการก้าวหน้า ปัญหาก็เกิดขึ้น และเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้

รู้กันหรือไม่ว่า ห้างสรรพสินค้าห้างใหญ่ๆ เกิดขึ้นที่ภูเก็ตเพียงห้างเดียวก็ต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึง 100 เมกะวัตต์จึงจะพอเพียงป้อนนะครับ ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้เติบโตขึ้นปีละ 5-6 % ทุกวันนี้ยังไม่ส่ออาการใดๆ ออกมาก็เพราะมีไฟฟ้าช่วยป้อนจากส่วนกลางลงไปใต้ และจากมาเลเซียเข้ามาช่วยเสริม (แล้วแต่อารมณ์ของเขา บางทีเขาก็ไม่ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเข้ามา) การส่งผ่านไฟฟ้าตามสายแรงสูงด้วยระยะทางไกลๆ ก็ทำให้สูญเสียกระแสไฟฟ้าลงไปได้ ที่สำคัญ บอกตามตรงที่มีไฟฟ้าใช้กันอยู่ก็เพราะ "บุญเก่า" ที่ทำกันมาก่อนหน้าแล้วทั้งนั้น

โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งๆ ใช้เวลาการก่อสร้าง 4 ปีจึงจะเปิดเดินเครื่องได้ โรงไฟฟ้าเทพาก็จะไม่เอา โรงไฟฟ้าที่กระบี่ก็ไม่เอา ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้ากระบี่โรงแรกก็เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินครับ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติหรือใช้นํ้ามันเตา แล้วจะให้ทำอะไรล่ะครับ จะอาศัยโรงไฟฟ้าเล็กๆ อย่างโรงไฟฟ้าจากชีวมวล ใช้เศษไม้ ใช้ฟืนไปเผา จะใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์หรือ ก็ดูสิครับราคาต้นทุนของโรงไฟฟ้าเหล่านี้แพงกว่าใช้ถ่านหินมากกว่าหลายเท่าตัวเสียอีก ที่ทุกวันนี้เขาให้ทำก็เพราะเราต้องการ “เกาะกระแส”ไปเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว สู้ถ่านหินไม่ได้หรอก ทั้งถูกกว่า และมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าทันสมัยกว่าด้วย...โรงไฟฟ้าเทพาจะรออะไรอยู่ ตอนนี้ก็ถึงเวลาลงมือสร้างกนั ได้แล้ว เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559