‘บางกอกแคน’ล้มลงทุน2พันล. ย้ายรง.ไปอยุธยา ด้านส.อุตเครื่องดื่มไทยฯชี้ตลาดแข่งแรง

06 ก.ย. 2559 | 10:00 น.
“บางกอกแคน” ล้มแผนย้ายโรงงานและขยายกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมไปอยุธยา แจงชะลอไม่มีกำหนด รอเศรษฐกิจในประเทศฟื้นเต็มตัว ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมองภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์แข่งขันแรง มีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น

นายศักดิ์ชัย มโนจิตงาม กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท บางกอกแคน แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ BCM ในเครือบริษัท โตโยไซกัน จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกจากประเทศญี่ปุ่นเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าแผนการลงทุนมูลค่า 2,000 ล้านบาทในการย้ายไลน์ผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมที่โรงงานรังสิต ช่วงคลอง 2 เส้นรังสิต-นครนายก ซึ่งมีอยู่ 3ไลน์ผลิต ไปยังพื้นที่แห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 50 ไร่ขึ้นไป เนื่องจากโซนรังสิตขณะนี้กลายเป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่นตามการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง จึงต้องวางแผนการลงทุนเพื่อรับการเติบโต จากที่ปัจจุบัน BCM มี 3 ไลน์ผลิต มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านกระป๋องต่อวัน ขายในประเทศเกือบทั้งหมด
แต่ล่าสุดโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องชะลอไว้ก่อน อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าเศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อขอขยายโรงงาน แต่ก็ต้องยกเลิกไป

“ปัจจุบันฺ BCM ผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับป้อนลูกค้าในประเทศเพื่อบรรจุเครื่องดื่มประเภทเบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยคาดว่ายอดขายรวมปี 2559 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้วหรือมียอดขายราว 3,900-4,000 ล้านบาท ส่วนยอดขายปีหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลด้านการตลาดเพื่อวางแผนการขายพร้อมกำหนดเป้าหมายปีหน้าต่อไป”

ด้านนายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกและประธานกรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย(TBA) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดบรรจุภัณฑ์มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดูจากที่บรรจุภัณฑ์บางประเภทมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก โดยเฉพาะขวดเพ็ต (PET)

ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุเครื่องดื่มชนิดต่างๆจะมีส่วนแบ่งตลาดดังนี้ บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดเพ็ต 50% รองลงมาเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว30% และบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมมีส่วนแบ่งตลาด 20% โดยขวดเพ็ตจะมีน้ำหนักเบา ขนส่งง่าย ส่วนขวดแก้วสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ขณะที่กระป๋องอะลูมิเนียมจะพกพาสะดวก โดยภาพรวมส่วนใหญ่ขวดเพ็ตจะนิยมใช้ในเครื่องดื่มประเภทชา ส่วนขวดแก้วจะนิยมใช้ในเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมและเบียร์ ส่วนกระป๋องอะลูมิเนียม จะนิยมบรรจุน้ำอัดลม กาแฟสำเร็จรูปและเบียร์ เป็นต้น

ปัจจุบันสมาชิกในสมาคม มีจำนวน 32 รายที่มาจากกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ทั้ง 6 กลุ่ม คือ 1.บรรจุภัณฑ์แก้ว 2.กระดาษ 3.พลาสติก 4.เหล็กและโลหะ 5.อะลูมิเนียม 6.กล่องเครื่องดื่ม โดยทั้ง 6 กลุ่ม มีการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปขายตั้งแต่ต้นทาง เป็นการส่งเสริมรายได้ และสร้างงาน จนถึงขณะนี้มีการส่งเสริมเพิ่มรายได้และสร้างงานแล้ว มากกว่า 1.50 แสนครอบครัวในธุรกิจรีไซเคิล เป็นการส่งเสริมให้มีรายได้และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะแผ่นอะลูมิเนียมที่นำมาผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่ยังต้องนำเข้า 100% ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559