ล็อกซเล่ย์หาพันธมิตรร่วมทุน กำ 300 ล้านรอขยายธุรกิจกลุ่มเทรดดิ้งเล็งเพิ่ม3สินค้าเสริม

05 ก.ย. 2559 | 03:00 น.
ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง พร้อมเปิดรับพันธมิตรร่วมทุน เสริมซัพพลายเชนธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ วางหน้าตัก 200-300 ล้านรับการลงทุนทุกเงื่อนไข เล็ง 3 กลุ่มสินค้าเสริมพอร์ต ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม ล่าสุด นำร่องเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ชูราคาถูกกว่าคู่แข่ง 20% เป็นหัวหอกทำตลาด

[caption id="attachment_93908" align="aligncenter" width="335"] สุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) สุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์
กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบด้านธุรกิจการค้า และกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมงบประมาณการลงทุนไว้ 200-300 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจกลุ่มเทรดดิ้งระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่จำกัดรูปแบบการลงทุน ซึ่งได้มองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงระบบซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจได้ โดยเฉพาะด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กลุ่มสินค้าสุขภาพ และกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม

“ปัจจุบันยังหาพันธมิตรที่จะมาร่วมทุนไม่ได้ ซึ่งรูปแบบที่จะลงทุนเป็นได้ทั้งการซื้อกิจการ การเข้าไปถือหุ้น และการร่วมทุน โดยต้องการขยายกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ รวมถึงกลุ่มสินค้าสุขภาพ แม้ว่าปัจจุบันจะมีระบบซัพพลายเชนครบ ทั้งต้นน้ำ ด้านการผลิตสินค้า กลางน้ำ การกระจายสินค้า ที่มีรถจำหน่ายสินค้ากว่า 100 คัน และปลายน้ำ เป็นช่องทางจำหน่ายร้านเทรดดิชันนัลเทรดกว่า 2,000 ราย ร้านค้าส่งอีกกว่า 1,000 ราย แต่อาจจะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่มากนักก็ตาม”

ส่วนในปีนี้กลุ่มเทรดดิ้งได้วางแผนใช้เงินลงทุน 10-20 ล้านบาท เพิ่มไลน์การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง เป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น โดยที่ผ่านมาได้ทดลองทำตลาดบ้างแล้ว แต่พบว่ายังไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดได้ จึงวางแผนด้านการผลิตและการตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 20% เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

นายสุรพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจเทรดดิ้งในช่วงครึ่งปีแรก ถือว่าเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อ แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เฉพาะไตรมาส 2 กลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์มีอัตราการเติบโต 25% เมื่อเทียบจากช่วงไตรมาสแรก ซึ่งนอกจากปัจจัยเรื่องกำลังซื้อแล้ว เป็นผลจากบริษัทได้ร้านอาหารของกลุ่มโออิชิเข้ามาเป็นลูกค้า ที่ซื้อสินค้าประเภทอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น

“ตอนนี้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และเริ่มมีการบริโภคมากขึ้น ราคาน้ำมันก็ปรับตัวถูกลงด้วย บริษัทก็มีการขยายช่องทางภัตตาคารและร้านอาหารหรือโฮเรกามากขึ้น มีโรงแรมที่เป็นเชนอินเตอร์เข้ามาเป็นลูกค้าเพิ่มด้วย รวมถึงสินค้าที่จัดจำหน่ายก็มียอดขายที่เติบโต ไม่ว่าจะเป็นนมหนองโพ ที่ออกสินค้าใหม่ ซีเล็คทูน่า จัดทำรายการส่งเสริมการขาย เครื่องดื่มวีมิกซ์ ขยายช่องทางขายเพิ่มมากขึ้นเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 2,000 จุด” นายสุรพันธ์ กล่าวและว่า

สำหรับช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ากลุ่มเทรดดิ้ง น่าจะมียอดขายเติบโตกว่าช่วงครึ่งปีแรก 15% เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ประกอบกับแนวโน้มกำลังซื้อที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งมองว่าในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังเป็นบวกมากกว่าลบ ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของรัฐบาล ส่วนภาครัฐเองพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและเบิกจ่ายงบประมาณให้ออกมาสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น จึงคาดว่าภาพรวมรายได้ของบริษัทปีนี้จะเติบโตประมาณ 8% จากปีก่อน รายได้รวมอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท ส่วนธุรกิจเทรดดิ้งมียอดขายประมาณ 4,200 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,189 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559