สสว. ฟื้นฟู SMEs โครงการ Turnaround

02 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
สสว. ฟื้นฟู SMEs โครงการ Turnaround มีผู้สมัครเข้า 12,816 ราย สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 หมื่นราย ประสานให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว 2 พันรายพร้อมยื่นขอกู้เงินทุนพลิกฟื้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ (Turnaround) ภายใต้วงเงินงบประมาณ 200 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 และตั้งเป้าหมายจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ จำนวน 10,000 ราย
สสว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินการร่วมกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) ได้รายงานความคืบหน้าว่า โครงการ Turnaround ได้เริ่มดำเนินการจริงในช่วงต้นปี 2559 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 13,600 ราย ผ่านคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเพื่อรับคำปรึกษาแนะนำแล้วทั้งสิ้น 12,816 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 5,000 ราย ผู้เชี่ยวชาญจาก มทร. ธัญบุรี ได้เข้าวิเคราะห์ธุรกิจในเชิงลึกแล้วพบว่า มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ 4,000 ราย สสว. ช่วยประสานให้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมได้ 2,000 ราย
ประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่ม Turnaround ที่ประสบอยู่ จำแนกออกได้เป็น 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1. ยอดขายลดลงเพราะขาดช่องทางในการจำหน่ายสินค้า 2. ขาดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่างๆ และ 3. ขาดสภาพคล่องถูกเร่งรัดหนี้สินจากธนาคาร ซึ่ง สสว.และมทร.ธัญบุรี ได้จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังต่อไปนี้
1. ประสานงานเพิ่มช่องทางในการขาย
- งาน Expo งานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้า โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- เพิ่มช่องทาง ตลาดออนไลน์โดยประสานให้เข้าขายใน E Market Place ซึ่งเป็นที่นิยม
2. การหาแนวทางการลดต้นทุน
-ให้ความรู้ด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

3. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่างๆ
-ที่ปรึกษาของทางมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งเป็นภาคี จะช่วยพัฒนาตรวจสอบ และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ รวมถึงมีการจัดอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน การให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาด Digital Marketing และการสร้าง Brand
- การวินิจฉัยและให้คำปรึกษาเชิงลึก เพื่อปรับปรุงธุรกิจ ให้ความรู้ กรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากิจการ SME Turnaround
4. เพิ่มสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงกิจการและเงินทุนหมุนเวียนในการผลิต
ยื่นขอกู้จากเงินทุนพลิกฟื้นของ สสว. ซึ่งให้กู้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินเรียบร้อยแล้ว สสว. จะจัดตั้งคณะทำงานกลั่นกรองสินเชื่อ โดยมอบให้ SME Development Bank เป็นหน่วยร่วมรับหน้าที่ดำเนินการทางด้านสินเชื่อและติดตามดูแลลูกหนี้

ผู้เข้าร่วมโครงการ Turnaround ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ามีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และได้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมแล้วมีจำนวน 2,000 ราย ผู้ประกอบการเหล่านี้มีคุณสมบัติยื่นขอกู้จากเงินทุนพลิกฟื้นได้

ในส่วนของผู้ประกอบการ ที่เป็นบุคคลธรรมดา 5,000 ราย และผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลอีก 1,000 ราย ที่มีข้อกำจัดทางด้านศักยภาพ สสว. ได้จัดโปรแกรมกิจกรรมเสริมศักยภาพการอบรมสัมมนา เช่น การจัดทำ Website เพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การใช้ Website สำเร็จรูป และการให้คำแนะนำทางด้านการตลาดและการบริหารจัดการ

โดยสรุปแล้ว ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 12,816 ราย ได้รับการส่งเสริมทางด้านการขาย การเพิ่มนวัตกรรม และการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้