สกว.-คปก.เร่งสร้างคนไทย 4.0

01 ก.ย. 2559 | 06:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สกว.ผลันดันโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สร้าง “คนไทย 4.0” นักวิจัยและงานวิจัยที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดงานปฐมนิเทศนักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 18 จำนวน 240 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 100 คน พร้อมให้คำแนะนำระเบียนปฏิบัติในการรับทุน และเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติทุนอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษา คปก. รุ่น 19 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

DSC02998[1] ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า นับตั้งแต่ คปก.จัดตั้งมา 20 ปี สามารถดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือ “สร้างคน” นักวิจัยระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพสูงให้กับประเทศ และ “สร้างปัญญา” ด้วยการผลิตผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล และยังสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักสูตรและระบบบัณฑิตศึกษา ตลอดจนระบบวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย อีกทั้งทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยกับสถาบันต่างประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นักวิจัยเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของประเทศ จึงอยากให้คณาจารย์และนักศึกษา คปก. ช่วยกันคิดว่าโครงการวิจัยที่ทำอยู่ตอบโจทย์และยุทธศาสตร์ของประเทศในข้อใด ส่วนใหญ่งานวิจัยที่ทำอยู่เป็นงานวิจัยพื้นฐาน แต่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมใดได้บ้าง รวมถึงสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาศักยภาพใดของประเทศ ทุกคนต้องพิจารณาว่างานวิจัยของตนก่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างไรผ่านกระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ ผลผลิต และผลกระทบ ทุกคนถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างประเทศ ที่จะร่วมกันสร้างความฝันเพื่อไปสู่เป้าหมายในการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ด้าน ศ. ดร.อมเรศ ภูมิรัตน อดีตผู้อำนวยการ คปก. กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ดุษฎีบัณฑิต คปก. ที่พึงประสงค์” ว่าอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเป็นนักวิจัย เพราะการที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้นั้น จะต้องเริ่มจาก “คนไทย 4.0” และมีงานวิจัยที่ดี โดยใช้เครื่องมือวิจัยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่เครื่องมือที่จำเป็นและสำคัญที่สุดคือ ตัวนักวิจัยเอง ที่จะแก้ปัญหาด้วยสมองและความคิด ทั้งนี้อยากให้นักศึกษาคิดอย่างสร้างสรรค์ให้มากขึ้น พูดคุยกับเพื่อนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยให้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ปัจจุบันรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่ผลงานตีพิมพ์เป็นผลลัพธ์หลักของ คปก. ดังนั้นหน้าที่ของนักศึกษา คปก. จึงต้องมีทั้งการผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติและสิทธิบัตร รวมทั้งสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเสียดุลด้านเทคโนโลยีน้อยลง ตลอดจนต่อยอดกลไกที่มีอยู่ สร้างวัฒนธรรมการวิจัยและขยายเครือข่ายวิจัยให้มากขึ้น และมีโจทย์วิจัยที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ทั้งนี้บัณฑิต คปก. จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ความภูมิใจและศรัทธาต่อทุน คปก. รวมถึงงานวิจัยที่ทำและการเป็นนักวิจัยที่จะนำการพัฒนามาสู่ประเทศไทย ขณะที่ทางสายอาชีพของนักวิจัยผู้รับทุน คปก. หลังสำเร็จการศึกษาเป็นดุษฎีบัณฑิต จะต้องมีทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก เป็นนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทเอกชน มีความก้าวหน้าในอาชีพนักวิจัย และมีผลงานวิจัยทั้งการตีพิมพ์และการสร้างนวัตกรรม มีการลงทุนโครงการ จัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น ที่สำคัญคือมีความสุขกับการเป็นนักวิจัย มีความฝันที่จะเป็นนักวิจัยที่ดีที่สุด เป็นสมาชิกที่ดีของประเทศและสังคมโลก