คลังเร่งงบลงทุนปี 60 กำหนดเป้ารายไตรมาส/จี้ทำสัญญาเบิกจ่ายก่อนสิ้นปี

01 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
กางแผนเบิกจ่ายลงทุนงบประมาณปี 60 รายไตรมาส เร่งหน่วยงานราชการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ส.ค.ก่อนลงนามก่อหนี้ผูกพันให้ทันสิ้นปีนี้ พุ่งเป้าโครงการลงทุนขนาดเล็ก 2 ล้านบาท ผอ.สคร.แจงเหตุบี้ลงทุนรัฐวิสาหกิจบางแห่งเบิกจ่ายฝืดแค่ 20% ตั้งทีมติดตามตรวจสอบ พร้อมขู่เป็นเคพีไอประเมินผลงานซีอีโอ 55 แห่ง มั่นใจเม็ดเงินเพิ่ม1 แสนล้านบาท ดันเศรษฐกิจโค้งท้ายโตอีก 0.4%

[caption id="attachment_92302" align="aligncenter" width="700"] เป้าหมายการเบิกจ่าย ปีงบประมาณ 2560 เป้าหมายการเบิกจ่าย ปีงบประมาณ 2560[/caption]

จากนโยบายของรัฐบาล ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานราชการ เร่งทำแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2560 (1ต.ค.59-30ก.ย.60 ) โดยเน้นให้มีการเบิกจ่ายในไตรมาส1/2560 (1ต.ค.- 31 ธ.ค. 59) โดยเฉพาะให้เลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เร็วขึ้น(Front load) พร้อมขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนด

คาดสิ้นงบ59เบิกจ่ายลงทุน70%

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าภาพรวมของงบประมาณรายจ่ายปี 2559 (1ต.ค.58-30 ก.ย.59) กรอบวงเงินงบประมาณ 2.72 ล้านล้านบาท ตัวเลข ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559 พบว่าภาพรวม งบลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ที่อยู่ 66% ส่วนงบประจำ สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 84% และเมื่อเทียบอัตราการเบิกจ่าย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 งบลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จริงที่ 66% ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อสิ้นปีงบฯ 2559 แล้วการเบิกจ่ายงบลงทุนจะขยายตัวถึง 70% ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา

เปิดแผนเบิกจ่ายงบ 60 รายไตรมาส

ส่วนเป้าหมายการเบิกจ่ายในปี 2560 (1ต.ค.59-30 ก.ย.60) ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณากำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น โดยรายจ่ายด้านการลงทุนไตรมาสที่ 1 กำหนดต้องเบิกจ่ายให้ได้ 19% ,ไตรมาสที่ 2 เบิกจ่าย 41% ,ไตรมาสที่ 3 เบิกจ่าย 63% และไตรมาสที่ 4 เบิกจ่ายที่ 87% ส่วนเป้ารายจ่ายภาพรวม ไตรมาสที่ 1 เบิกจ่ายอยู่ที่ 30% ,ไตรมาสที่ 2 เบิกจ่ายที่ 52% ,ไตรมาสที่ 3 เบิกจ่ายที่ 73% และไตรมาสที่ 4 เบิกจ่ายที่ 96%

รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติม ถึงมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับมติครม.เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่กำหนดให้แต่ละหน่วยงานราชการจะต้องเริ่มจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เมื่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)พิจารณางบประมาณผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 แต่ละหน่วยงานราชการสามารถเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้เลย และเมื่อถึงเดือนตุลาคม 2559 (เริ่มปีงบประมาณ2560 ) แต่ละหน่วยงานจะสามารถเริ่มลงนามในสัญญาได้ทันที หรือสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปีงบประมาณ 2560 (1 ต.ค.-30 ธ.ค.59) หน่วยงานต่างๆ สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที

จี้เร่งก่อหนี้ให้เสร็จก่อนธ.ค.59

โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการลงทุนปีเดียวที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายการ ให้เร่งก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ หรือให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2559 ดังนั้นแต่ละหน่วยงานราชการจะต้องเร่งทำสัญญาและเบิกจ่ายให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

ส่วนกรณีการลงทุนมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อรายการ ต้องทำแผนพร้อมให้เร่งรัดก่อหนี้ให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2560 (ก่อน 31 ธ.ค. 59) และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณตามงวดงาน นอกจากนี้หากเป็นวงเงินเกิน 1พันล้านบาทขึ้นไปต่อรายการ ให้เร่งก่อนหนี้ผูกพันภายในไตรมาสที่ 2ของงบประมาณปี 2560 หรือก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 และเบิกจ่ายตามงวดงาน

โฟกัสโครงการเล็กต่ำกว่า 2 ล้าน

"ส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาน่าจะผลักดันโครงการที่มีมูลค่าสูงๆ สามารถทำสัญญาและเร่งเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น แต่เนื่องจากจากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาทต่อรายการ มีการทำสัญญาได้น้อยมาก ขณะที่โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อรายการ ถือเป็นโครงการที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่ 1 มีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ที่จะผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี 2559"

นอกจากนี้ยังได้ให้เร่งทำการจัดสรรและโอนเงินเข้าสู่ภูมิภาคให้เสร็จสิ้น ภายใน 3 วันทำการหรืออย่างช้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ประสานงานไปยังสำนักงบประมาณแล้วซึ่งทางสำนักงบประมาณจะเริ่มดูความคืบหน้าขอของแต่ละหน่วยงานราชการ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นไป ฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคมจะต้องเร่งโอนเงินเข้าสู่หน่วยงานภูมิภาคให้เป็นที่เรียบร้อย

แก้เงินจมลดระยะเวลา"เงินกันฯ"

"ในส่วนประเด็นของเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าอยากขอให้ขยายต่อออกไปเป็นระยะเวลาเพิ่มอีกหนึ่งปี แต่จากข้อมูลซึ่งได้ตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ณ. ปีงบประมาณ 2559 มีเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีค้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 ซึ่งกินเวลารวมกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.)จึงมีแนวคิดที่จะจะให้กรมบัญชีกลาง กำหนดระยะเวลาสำหรับเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีสูงสุดเพียงระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น

แต่ต้องยอมรับว่าบางโครงการยังจำเป็นที่จะต้องมีเงินกันสำหรับระยะยาวเนื่องจากบางโครงการอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในศาล มีการฟ้องร้อง หรือแม้แต่เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดินดังนั้นระยะเวลา 2 ปีอาจไม่มีความเพียงพอ แต่ในทางกลับกัน หากปริมาณเงินกันสูงขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้เป็นภาระกับทางงบประมาณ เพราะเป็นเงินจม แทนที่จะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่ซึ่งตรงนี้ ได้ฝากให้แต่ละหน่วยงานราชการว่าหากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเพิ่งตั้งสำรองเป็นเงินกันสำหรับเงินงบประมาณในปีปัจจุบันก่อน โดยจะจัดสรรเป็นเงินกันให้เฉพาะโครงการที่มีความจำเป็นท่านั้น"
*กระทุ้งเบิกจ่ายงบอบรมให้ทันสิ้นปี

นอกจากนี้ในส่วนของงบฝึกอบรมจะต้องให้เร่งเบิกจ่ายภายในไตรมาสที่หนึ่งของปีงบประมาณ 2560 หรือภายในเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งหากย้อนกลับไปดูในปีงบประมาณ 2558 จะพบว่ามีเสียงสะท้อนจากหน่วยราชการว่าการที่จัดอบรมในไตรมาสที่ 1 ที่เป็นช่วงปลายปี ถือเป็น ช่วงไฮ ซีซัน หรือฤดูกาลท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่ปริมาณจำนวนโรงแรมหรือจำนวนห้องจัดเลี้ยงหรือสัมมนาไม่เพียงพอ

ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นหน่วยงานราชการอาจเลือกสถานที่ราชการซึ่งสามารถประหยัดเงินงบประมาณหรืออาจขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆว่าสามารถใช้สถานที่ร่วมกันได้หรือไม่

เงินเหลือจ่ายเป็นเงินกันได้3เดือน

ในส่วนของการเบิกจ่ายในส่วนของงบดำเนินงานให้แต่ละส่วนราชการกันเงินไว้ ซึ่งจะมีประเด็นว่าวันนี้การตั้งกับจำนวนงานเช่นค่าน้ำค่าไฟค่าใช้จ่ายหรืออื่นๆ เดิมจะต้องสำรองไว้ถึง ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นการตั้งเผื่อกรณีที่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามาแต่ปรากฏว่า ณวันที่ 30 กันยายนรายจ่ายดังกล่าวไม่มีเข้ามาเพิ่มเติม แต่ละหน่วยงานอาจมีเงินเหลืออยู่ระดับหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทหรือหลักล้านบาท

ดังนั้นเมื่อถึง ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 ให้แต่ละหน่วยงานแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าให้นำเงินที่เหลือดังกล่าวนำไปใช้เป็นงบประมาณสำหรับพัฒนาบุคลากรหรือตั้งเป็นงบอบรมเพื่อเสริมประสิทธิภาพให้กับบุคลากรในองค์กรนั้นๆ โดยเงินเหลือจ่ายส่วนนี้ สามารถกำหนดให้เป็นเงินกันไว้ได้นานถึงระยะเวลา 3 เดือนหรือกล่าวคือเมื่อถึง ณ วันที่ 30 กันยายน จะมีระยะเวลาให้บริหารจัดการเงินดังกล่าวนานถึง 3 เดือนให้เริ่มใช้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม- 31 ธันวาคม 2559
*"บิ๊กตู่"แนะใช้จัดซื้อจัดจ้างแบบกองทัพ

ขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯและหัวหน้าคสช.ได้สอบถามความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานว่าอยู่ในกระบวนนิติบัญญัติแล้ว รอการประกาศให้มีผลบังคับใช้อยู่

โดยนายกฯเสนอความเห็นให้กระทรวงการคลังไปศึกษาเพื่อเตรียมทำประกาศหรือระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ โดยใช้แนวคิดและแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ซึ่งจะมีขั้นตอนดำเนินการชัดเจน เริ่มตั้งแต่ 1.คณะกรรมการกำหนดความต้องการว่าหน่วยงานจะมีความต้องการการจัดซื้ออุปกรณ์อะไรห้วงเวลาไหนเป็นการมองในเชิงยุทธศาสตร์ของหน่วย โดยอาจกำหนดแผนเป็นระยะ 5 ปี 10 ปี15 ปีหรือ 20 ปีไปเลย

2. คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานอุปกรณ์ที่จะจัดซื้อ 3. จากนั้นมีอีกชุดเป็นกรรมการมกำหนดทีโออาร์ โดยกรรมการชุดต่างๆ แยกจากกันเพื่อแก้ข้อครหาเรื่องล็อกสเปก แล้วถึงมาที่ 4. คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและให้มีสัญญาคุณธรรมที่เริ่มทำแล้ว

"เมื่อกฎหมายหลักออกมาแล้ว ให้ไปศึกษาดูว่าในขั้นตอนการดำเนินงานจะใช้กระบวนการแบบนี้ได้หรือไม่ เป็นการคิดนอกกรอบเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว"

ด้านดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวกับ" ฐานเศรษฐกิจ "ว่าขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (Front Load) ที่เตรียมแผนที่จะเริ่มลงทุนในปี 2560 โดยจะผลักดันให้เริ่มลงทุนให้เร็วขึ้น ให้ทันและเห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 4 ของปีปฏิทินนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 59) แทนที่จะเริ่มลงทุนในปี 2560 ตามแนวทาง ของรองนายกรัฐมนตรี "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มอบหมายให้ สคร. เข้าไปดูลงลึกถึงแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด

สคร.ประกบติดลงทุนรสก.

โดยเฉพาะในอนาคตในช่วง 3-5ปีข้างหน้าให้เลื่อนมาลงทุนให้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบภารกิจให้กับผู้แทนจากสายงานฝ่าย Account Officer (AO) หรือ เอโอ ของ สคร. ที่ปัจจุบันมีพนักงาน 20 คน เร่งติดตามผลงานดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งเป็นรายแห่งและรายสาขา โดยจะเน้นไปที่ผลประกอบการ การดำเนินตามนโยบายภาครัฐ ตลอดจนประสิทธิภาพของการดำเนินของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ งานก่อนส่งข้อมูลต่อให้ผู้แทนฯ สคร. เพื่อให้ AO ประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจตอนท้ายปีว่าทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ โดย AO มีภารกิจเร่งด่วน คือ ต้องรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่สามารถทำ ฟรอนต์โหลดให้ได้ครบภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังและผู้บริหารระดับสูงต่อไป

ลงทุนรสก.แสนล้านดันจีดีพี 0.4%

สำหรับครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากจำนวนรัฐวิสาหกิจ 55 แห่งที่ สคร.ดูแลอยู่ ซึ่งมีงบลงทุนรวมกันทั้งสิ้นเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 1.3 แสนล้านบาท(เหลือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีขยายตัวอีกไม่ต่ำกว่า 0.3-0.4% ของจีดีพี

"จริงๆ แล้ว งบลงทุนของรัฐวิสากิจปกติจะต้องขอบอร์ดแล้วเสนอไปให้สภาพัฒน์ พิจารณาซึ่งสภาพัฒน์เท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสากิจทั้งหมด จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. โดยสิ่งที่รองนายกฯสมคิดและคุณอภิศักดิ์ เน้นย้ำให้ ทำเป็นพิเศษคือขอให้ไปดูว่าสิ่งที่รัฐวิสาหกิจ ส่งไปถึงให้สภาพัฒน์ แผนที่เสนอนั้นเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในรอบ 3-5 ปีที่จะถึงนี้ ตลอดจนโอกาสที่จะเลื่อนให้ลงทุนเร็วขึ้น ให้มาอยู่ในปี 2559 แต่ต้องยอมรับว่า โดยธรรมชาติแต่ละปี รัฐวิสาหกิจจำนวนไม่น้อยที่ทำแผนออกมาแล้ว เมื่อลงทุนจริงก็ช้ากว่าแผนมาก บางแห่งไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน อย่างไรก็ดีหากทำให้เม็ดเงินลงทุนลงได้เร็ว อีกทั้งผลจากมาตรการฟรอนต์ โหลดจะทำให้เงินลงทุนของรัฐวิสาวิสากิจที่จะได้เห็นในปีนี้ อาจจะขยับจาก 3 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 4แสนล้านบาท "

ขู่!เป็นตัววัดKPI ซีอีโอรสก.

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติม ว่า สำหรับโครงการฟรอนต์ โหลดขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลข้อมูลโครงการตลอดจนแผนการลงทุนของแต่ละโครงการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะได้สรุปโครงการ และมั่นใจว่าหากได้ข้อมูลทั้งหมด ขั้นตอนต่อไปทาง สคร. จะใช้ประกอบเพื่อทำการประเมินแผนการลงทุนให้ขยับเดินหน้าโครงการได้เร็วขึ้น และแน่นอนจะสามารถนำมาตั้งเป้าเพื่อกำหนดผลชี้วัด สำหรับประเมินผลงานของ ซีอีโอแต่ละแห่ง หากหน่วยงานใดผลงานออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็จะมีมาตรการเข้ามาเพิ่มเติมสำหรับหน่วยงานนั้นๆ

ทั้งนี้ล่าสุดที่นายสมคิดได้ติดตามพร้อมประเมินผลการเบิกจ่าย ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) - AOT ก็เพราะเอโอที เบิกจ่ายงบลงทุนช้าและช้าที่สุดในบรรดาหน่วยงานรัฐวิสากิจทั้ง 55 แห่งที่ สคร.ดูแล เทียบกับหน่วยงานรัฐวิสากิจอื่นมีการเบิกจ่ายงบลงทุนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60% ขณะที่เอโอทีสเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 20กว่า% เท่านั้น"

กรอบงบประมาณปี 2560 นี้ เดิมกำหนดไว้ที่ 2,733,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 2,720,000 ล้านบาทหรือเพิ่มประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยรายจ่ายลงทุน (เบื้องต้น) ใกล้เคียง 5.6 แสนล้านบาท แต่หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้พิจารณาปรับลดงบประมาณลงจากเดิมเกือบ 18,000 ล้านบาท โดยคาดว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จะพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ภายในวันที่ 8 กันยายน 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559