เอกชนแห่คืนพีพีเอขยะชุมชน ส.อ.ท.ระบุปริมาณมีไม่เพียงพอถูกกกพ.กดดันจี้ขายเข้าระบบ

01 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
ส.อ.ท.ระบุผู้ประกอบการแห่คืนใบอนุญาตขายไฟฟ้าจากขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ หลังประเมินแล้วขยะไม่พอสร้างโรงไฟฟ้าได้ แถมโดนกกพ.จี้ให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2560 ทำไม่ทันบางรายเร่ขายพีพีเอ ส่วนรอบใหม่ที่จะเปิดซื้ออีก 100 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้ หวั่นสะดุดจากพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ สนช.พิจารณาล่าช้า ขณะที่รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุสาหกรรม เชื่อผ่านคุณสมบัติแค่ 5 ราย
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 (เออีดีพี) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสำหรับขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ไปจนถึงปี 2579 โดยในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าหรือพีพีเอไปแล้วจำนวน 400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดพบว่า มีผู้ประกอบการที่ได้พีพีเอไปแล้ว ประมาณ 200 เมกะวัตต์ กำลังจะคืนพีพีเอ เนื่องจากปริมาณขยะที่มีอยู่ไม่พอที่จะตั้งโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดจากอดีตที่การให้พีพีเอ จะพิจารณาจากการมีหนังสือบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) กับทางท้องถิ่นในการจัดหาขยะไว้เท่านั้น ประกอบกับก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ให้ผู้ประกอบการที่ได้พีพีเอไปแล้ว ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหรือซีโอดีภายในปี 2560 หากเลยจากนี้ไปก็สามารถบอกยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าได้ จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเร่ขายใบอนุญาตหรือพีพีเอเกิดขึ้น จนต่อมามีการประกาศขยายระยะเวลาซีโอพีออกไปเป็นปี 2562 แทน

อย่างไรก็ตาม ทางกกพ.ทราบปัญหานี้ดี จึงเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนขึ้นมาใหม่ จำนวน 100 เมกะวัตต์ ที่จะดำเนินการประมาณปลายปีนี้ ทางกกพ.จึงได้ปิดช่องโหว่ โดยผู้ที่จะยื่นเสนอขายไฟฟ้า จะต้องมีสัญญาผูกพันกับท้องถิ่นโดยตรงในการจัดหาขยะป้อนโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี และจะต้องขายไฟฟ้าได้ตามปริมาณที่ยื่นขอ และต้องได้รับการยืนยันจากกระทรวงมหาดไทยด้วย ถึงจะได้รับการพิจารณาหรือผ่านด้านคุณสมบัติ เพื่อเป็นการการันตีว่าแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีปริมาณขยะป้อนได้เพียงพอ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากกกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ ไปแล้ว คาดว่าหลังจากนั้นจะเปิดรับซื้อในระยะต่อๆไปเพิ่มขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางภาคเอกชนเอง เห็นว่าการที่กกพ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ และจะทำให้โครงการเดินหน้าได้ ทางภาครัฐจะต้องผลักดันให้ ร่างพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเรียบร้อยของบ้านเมือง ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ทันภายในช่วงปลายปีนี้ เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะต้องใช้ระยะเวลา 2-2.5 ปี ดังนั้นหาก พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปภายในปีนี้ คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะไม่สามารถเข้าระบบได้ตามกำหนดในปี 2562

ขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiTโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา ล่าสุดทาง กกพ.อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นเสนอขายไฟฟ้า คาดว่าจะมีผู้มีผ่านคุณสมบัติและได้รับการคัดเลือกประมาณ 5 ราย เนื่องจากระยะแรก เปิดรับซื้อเพียง 50 เมกะวัตต์เท่านั้น และจะประกาศรายชื่อในช่วงเดือนตุลาคมนี้

“ปัจจุบัน กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม แต่ยังเปิดรับซื้อในจำนวนน้อย ดังนั้นส.อ.ท.จะรอดูความสำเร็จโครงการระยะแรกก่อน แต่คาดว่าระยะแรกคงมีผู้มายื่นไม่มากนัก เพราะอาจจะหันไปสนใจโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากกว่า เนื่องจากมีปริมาณขยะมากเมื่อเทียบกับขยะอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการบางรายนำไปขายได้ อย่างไรก็ตามหากเห็นว่าผู้ประกอบการสนใจมาก ก็จะเสนอให้เปิดรับซื้อระยะที่ 2 เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าทาง กกพ.พิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ที่จะเปิดรับซื้อในปลายปีนี้ หาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดยังไม่มีผลบังคับใช้ โครงการก็คงเกิดขึ้นได้ช้า และอาจจะต้องเลื่อนระยะเวลาซีโอดีออกไปอีก”

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐสามารถให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมได้จริง จะสร้างเม็ดเงินลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือหากคำนวณที่จะเปิดรับซื้อภายในปีนี้ 150 เมกะวัตต์ จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559