สศอ.ส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้น ชี้ช่วงที่เหลือปีนี้ได้เห็นเอ็มพีไอขยายตัวเดือนละ 2-3%

01 ก.ย. 2559 | 00:00 น.
สศอ.ชี้ภาวะเศรษฐกิจ 5 เดือนหลังของปีนี้ดีต่อเนื่อง มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ได้เห็นเอ็มพีไอขยายตัวเดือนละ 2-3 % แม้ช่วงก.ค.จะติดลบ 5.1 % ต่ำสุดในรอบ 2 ปี แต่เป็นเพียงระยะสั้น ชี้อุตสาหกรรมรถยนต์ เหล็ก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ยังมีอนาคตสดใส

[caption id="attachment_92286" align="aligncenter" width="700"] ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต (ม.ค.-ก.ค. 59) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต (ม.ค.-ก.ค. 59)[/caption]

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในช่วง 5 เดือนหลังของปีนี้ว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวภาวะเศรษฐกิจโลก จากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา(เฟด) มีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคภายในประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นผลมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 6-7 % และปริมาณการผลิตปรับตัวดีขึ้น บวกกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อขายรัฐบาล จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้เห็นสัญญาณภาคการผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 7.88 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าถึง 16.87 % เป็นผลจากความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ในประเทศขยายตัวจากกำลังซื้อที่ขยายตัว และการส่งออกตลาดที่สำคัญในอาเซียน ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะติดลบ 1.11 % แต่ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร เริ่มปรับตัวดีขึ้นจาการติดลบน้อยลงเพียง -1 % ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของไก่สดแช่แข็งและกุ้งที่มีการผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ความต้องการใช้เหล็กน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้าง ที่เป็นผลจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐกว่า 20 โครงการ ประกอบกับผู้ผลิตภายในประเทศเริ่มที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนจากจีน 2-3 ราย ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นก่อสร้าง เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศและใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้เหล็กแผ่น จะขยายตัวเช่นเดียวกันตามการผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว สศอ.จึงประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในแต่ละเดือนหลังจากนี้ไปน่าจะขยายตัวในระดับ 2-3 % ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้เอ็มพีไอที่คาดการณ์ไว้ทั้งปีน่าจะขยายตัวในระดับ 1-2 % จากปีก่อนขายตัว 0.34 % แม้ว่าเอ็มพีไอในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะติดลบอยู่ที่ 5.1 % ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 ปี ก็ตาม แต่มองว่าเป็นการหดตัวเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากในเดือนดังกล่าวมีวันหยุดติดต่อกันยาว ทำให้กำลังการผลิตหายไปบางส่วน โดยมีอัตราการใช้กำลังผลิตของเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 62.34 % ในขณะที่เอ็มพีไอในช่วง 7 เดือนแรกหดตัวเพียง 0.5 %

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มดีอยู่นี้ น่าจะทำให้การขยายตัวหรือจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2.5-3.5 % ได้ จากที่ปีก่อนขายตัวไม่ถึง 1 % อย่างไรก็ตาม ทางสศอ.จะทบทวนตัวเลขเอ็มพีไอและจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง หลังจากเดือนกันยายนไปแล้ว ซึ่งจะบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559