นักเศรษฐศาสตร์จีนยํ้าแนวโน้ม เศรษฐกิจแกร่งพร้อมรุกต่างแดน

03 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
ในการบรรยายพิเศษซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้หัวข้อ China’s Economic Direction in an Ever-changing World ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ฯเมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์ ดร. จาง หวี่เยี้ยน ผู้อำนวยการสถาบัน Chinese Academy for Social Sciences (CASS) ได้เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจจีนว่า ยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่งแม้ว่าจะดูชะลอตัวหรือเติบโตน้อยลงเมื่อเทียบกับสถิติในอดีตของจีนเองที่เคยขยายตัวในอัตราตัวเลขสองหลัก แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆก็จะเห็นได้ว่า การเติบโตที่อัตรากว่า 6% ในเวลานี้ ยังเป็นการขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ในขณะที่จีดีพีของจีนมีการเติบโตที่ระดับ 6.6-6.7% ในช่วงกลางปี 2559 ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ยังมีการเติบโตไม่ถึง 3 %

อีกดัชนีสำคัญคืออัตราการว่างงานยังช่วยสะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนยังแข็งแรงดี โดยอัตราการว่างงานลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ก่อนจะค่อยๆขยับขึ้นมาเล็กน้อยในไตรมาสสอง ซึ่งยังเป็นที่จับตาอยู่ “การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นแม้จะโตน้อยลงก็จริงแต่มีความมั่นคง คล้ายๆลักษณะอักษรตัวแอล (L) สัญญาณที่ดีก็คือเรามีการส่งออกเพิ่มขึ้นและมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2557 ตัวเลขเอฟดีไอของจีนมีการขยายตัวเพียง 1.7% ขณะที่ปี 2558 มีการเติบโตที่อัตรา 5.6% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ศ.ดร. จาง หวี่เยี้ยน กล่าวว่า สิ่งที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจจีนคือปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผลพวงให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมา อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ของจีนนับว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันอัตราหนี้เสียของจีนไม่ถึง 2 % (จากที่เคยทะลุ 16% ในปี 2547)

ในส่วนของหนี้ภาครัฐที่เพิ่มจากสัดส่วน 41.1 % ของจีดีพีในปี 2557 มาเป็น 43.9% ของจีดีพีในปี 2558 และคาดว่ายังจะขยับสูงขึ้นไปเป็น 46.8% ในปีนี้ (จากตัวเลขคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ) ผู้เชี่ยวชาญของจีนให้ทัศนะว่า ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและยังไม่ต้องวิตกกังวลมากนัก

ด้านการขยายการลงทุนและเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนั้น จีนมีนโยบาย One Belt One Road เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยโครงการนี้จะเชื่อมโยงจีนเข้ากับประเทศอื่นๆทั้งในเอเชียและนอกภูมิภาคเอเชียผ่านทางโครงการต่างๆ ทั้งในรูปแบบโครงการลงทุน และความช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งรวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือล้านช้าง ที่ประกอบด้วยจีนกับประเทศอาเซียนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง (ซึ่งจีนเรียกแม่น้ำล้านช้าง) เป็นต้น “สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของไทยที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการนั้น ถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนในต่างแดนของจีนเช่นกัน โดยจีนมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและพร้อมจะรุกมาลงทุนในต่างแดน อาทิ หัวเว่ย และอาลีบาบา ซึ่งการลงทุนอาจจะไม่จำกัดในด้านอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่จะรวมถึงอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่จีนมีความเชี่ยวชาญด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. จาง หวี่เยี้ยน กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559