ธพว.กดต้นทุนการเงินตํ่า2% ฟุ้ง!บริหารสินเชื่อ/สภาพคล่องเข้าเป้า/ยํ้าปีหน้าออกจากแผน

02 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
เอสเอ็มอีแบงก์ ปลื้มหลังบริหารต้นทุนการเงินเหลือ 1.8-2% จากเดิมเคยสูงกว่า 3% เผยลูกค้ารายใหญ่เชื่อมั่นสถานะธนาคารไม่ต้องแข่งระดมดอกเบี้ยสูง-ปรับพอร์ตเงินฝากให้แมตช์สินเชื่อกดสภาพคล่องหมุนเวียนเหลือ 1.2-1.4 หมื่นล้านต่อเดือน / ชี้เดือนก.ย.คลังใส่เงินเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้าน ผลักพอร์ตสินเชื่อคงค้างแตะ 1 แสนล้าน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.8-8.9 หมื่นล้าน ย้ำปีหน้าหลุดจากแผนฟื้นฟูฯ

[caption id="attachment_92646" align="aligncenter" width="335"] พรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) พรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)[/caption]

นางพรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารสามารถบริหารจัดการต้นทุนการเงิน (Cost of fund) ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนเงินฝาก ซึ่งจากเดิมต้นทุนเงินฝากในช่วงต้นปีอยู่กว่า 3% ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-2% เป็นผลมาจากนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ปรับดีขึ้นสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน ทำให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่มั่นใจธนาคารจึงไม่มีการถอนเงินเหมือนในอดีตประกอบกับธนาคารไม่ต้องแข่งขันระดมเงินฝากโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในตลาด เพื่อรักษาสภาพคล่อง ตลอดจนการบริหารสภาพคล่องต่อการปล่อยสินเชื่อในสัดส่วนที่เหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่งจากเดิมเงินฝากส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้น 3 เดือน แต่ธนาคารปล่อยสินเชื่อระยะยาว 5-7 ปี จึงทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารบริหารจัดการเงินฝากให้มีความเหมาะสมกับการปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นเงินฝากระยะยาวและระยะสั้นให้เหมาะสมมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าเงินฝากครบกำหนดส่วนใหญ่ธนาคารจะมีผลิตภัณฑ์มาทดแทน ทำให้สภาพคล่องปัจจุบันของธนาคารค่อนข้างดีมีประสิทธิภาพ โดยในแต่ละเดือนสภาพคล่องหมุนเวียนจะอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมเคยอยู่สูงที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารแบกภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากไว้ค่อนข้างพอสมควร แต่ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคาดว่าในช่วงเดือนกันยายนหลังจากกระทรวงการคลังพิจารณาเงินเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท จะช่วยให้ธนาคารขยายการลงทุนและดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงภายใต้โครงการสินเชื่อต่างๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง จะช่วยให้ต้นทุนการเงินของธนาคารสามารถปรับลดลงได้อีก

ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนฐานเงินฝากของธนาคารปัจจุบันมากกว่า 100 ราย จะเป็นลูกค้าสถาบัน และรองลงมาจะเป็นลูกค้ากองทุนต่างๆ ประมาณ 20 ราย ที่มีวงเงินฝากโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,000 ล้านบาท อาทิ กองทุนน้ำมัน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) การไฟฟ้า และการประปา เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเงินฝากขยายตัวสอดคล้องกับสินเชื่อที่ปัจจุบันมียอดคงค้างประมาณ 8.8-8.9 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องในระดับที่เหมาะสม โดยดูสภาพคล่องระหว่างเดือนให้มีประสิทธิภาพ

“ ปัจจุบันเราสามารถปิดช่องว่างส่วนต่างดอกเบี้ย ที่เคยแบกต้นทุนจากการนำเงินฝากระยะสั้น 3เดือนไปปล่อยกู้ระยะยาว ประกอบกับความน่าเชื่อถือของแบงก์ทำให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่ไม่ถอนเงิน จึงไม่ต้องแข่งระดมเงินฝาก ซึ่งน่าจะปรับลดลงจากปัจจุบันได้อีก”

นางพรรณขนิตตา กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.8-8.9 หมื่นล้านบาท ส่วนความต้องการสินเชื่อจะมาจากโครงการหลัก 3-4 โครงการ ทั้งในส่วนของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน 3) ของธนาคารออมสินวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปีตลอดอายุสัญญา ผ่อนนาน 7 ปี ปลอดเงินต้น 12 เดือน ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ลูกค้าไม่ต้องประเมินราคาและไม่ต้องจดจำนองเครื่องจักร โดยธนาคารคาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ตลอดโครงการวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขอรอการอนุมัติแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนโครงการซอฟต์โลน 1 และ 2 ธนาคารใช้วงเงินทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท มีลูกค้าเข้าโครงการทั้งหมดประมาณ 2,000-3,000 ราย

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการ Policy Loan ที่สนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาดเออีซี อัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% ปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาโครงการไปถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ โดยวงเงินเหลืออีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งโครงการอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก ตลอดจนโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่งที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนโครงการภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือรับโครงการภาครัฐ สามารถเข้ามาใช้วงเงินโครงการดังกล่าวได้ โดยนำลูกหนี้การค้า หรือใบคำสั่งซื้อ (Invoice) มาขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นสภาพคล่องในธุรกิจได้ โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.99% ต่อปี ถูกกว่าสถาบันการเงินอื่นที่คิดดอกเบี้ย 2 หลัก และเน้นเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งลูกค้ารายเล็กสามารถมาใช้บริการธนาคารได้ โดยเม็ดเงินโครงการนี้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นว่ามีอัตราการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยตัวเลข ณ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ลดลงจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 29% คาดว่าหลังจากปล่อยสินเชื่อตามโครงการต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมาย ภายในสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลจะลดลงเหลือต่ำกว่า 20% หรือไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารสามารถหลุดจากแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจตามนโยบายภาครัฐที่กำหนดได้อย่างแน่นอน

“สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มีเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารได้ดูแลติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยมีทีมงานติดตามหนี้คอยเตือนลูกค้าเมื่อใกล้วันชำระ หรือรายใดมีปัญหาก็พร้อมให้คำปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม ประกอบกับเรามีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลา 3-4 เดือน ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 15 วัน และภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดเพดานวงเงินปล่อยสินเชื่อจะต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท เราได้ยึดตามพันธกิจนี้ คาดว่าสิ่งที่ทำจะช่วยให้เราสามารถหลุดจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ในปีหน้าแน่นอน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559