ศุลกากรวางเกณฑ์ซื้อสินค้า BorderTown

03 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
ศุลกากรเล็งวางระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิต-ต่อยอดร้านค้าปลอดภาษีเชื่อมโยงอี-เพย์เมนต์ เตรียมวางกฎเกณฑ์เคลมภาษี 2 กลุ่ม ต่างประเทศรับสิทธิ์คืนทันที/กรณีคนไทยรับเงินผ่านพร้อมเพย์ ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งศึกษาผลกระทบและกำหนดโซนเสนอรมว.คลังเร็วๆ นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวคิดการตั้งย่านการค้าปลอดภาษีบริเวณชายแดน หรือ บอร์เดอร์ ทาวน์ ว่า กรมศุลกากรได้เตรียมแผนพร้อมกำหนดแนวทางในการจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษี (BorderTown) ที่ต้องการส่งเสริมการค้าชายแดน/พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความคึกคัก ซึ่งกรมฯ ได้รับมอบหมายจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เตรียมความพร้อมและจัดวางระบบการซื้อขายภายในบอร์เดอร์ทาวน์ และหาข้อสรุปเรื่องพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เหมาะสม

ขณะนี้ได้กำหนดแนวทางการซื้อสินค้าแล้ว สำหรับคนไทยสามารถซื้อสินค้าเดือนละ 1 ครั้งไม่เกิน 2 หมื่นบาท เทียบเท่ากับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้ามาโดยไม่เสียภาษี ส่วนการชำระค่าสินค้า เพื่อให้สามารถยืนยันการซื้อสินค้าจริงโดยจะมีการลงทะเบียนผู้ซื้อในลักษณะของ Tax Record เพื่อยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริงและได้ซื้อสินค้า ป้องกันการสวมสิทธิ์จากบุคคลอื่น หรือไม่ได้ซื้อสินค้าเพื่อนำมาขายต่อภายในประเทศหรือขายนอกเขต

“ผมจะออกเกณฑ์พร้อมกับวางระบบให้เชื่อมต่อถึงกันหมด โดยเฉพาะแนวทางการซื้อสินค้า ประเภทสินค้าที่จะสามารถวางขายได้ เพื่อป้องกันการรั่วไหล โดยเฉพาะระบบการชำระค่าสินค้านั้นจะชำระด้วยบัตรที่ออกให้เป็นการเฉพาะ ลักษณะเหมือนบัตรเครดิต ข้อดีคือสามารถเชื่อมโยงเข้ากับการจ่ายเงินกับระบบชำระเงิน E-payment หรือบริการพร้อมเพย์ (Prompt pay) ได้ทันที

โดยเฉพาะแนวทางที่จะต้องเชื่อมต่อกัน คือ กลุ่มผู้ซื้ออาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีชาวต่างชาติจะได้รับสิทธิ์คืนภาษีทันที แต่หากเป็นคนไทย มีความเป็นไปได้ที่เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะได้รับการคืนเงินภาษีจากการซื้อสินค้าผ่านพร้อมเพย์ (บัญชีรับเงิน) เหล่านี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และจะต้องสรุปแนวทางเสนอ รมว.คลังให้ได้เร็วๆ นี้”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่เขตปลอดภาษีในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนนั้น เบื้องต้นจะใช้แนวคิดเช่นเดียวกับการตั้งร้านปลอดภาษี หรือ Duty Free ที่ตั้งอยู่ในสนามบิน โดยภายในร้านจะประกอบด้วยสินค้าที่มีคุณภาพในเมืองนั้นๆ (OTOP) กลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่ข้ามฝั่งไปมา ให้สามารถซื้อสินค้าในราคาถูกเนื่องจากเป็นสินค้าปลอดภาษี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงแนวคิดที่กระทรวงการคลังเตรียมที่จะผลักดัน Border Townนั้น ระดับนโยบายต้องหารือร่วมกันให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ในทางปฏิบัติสามารถสานต่อนโยบายได้ทันที เนื่องจากกำหนดให้ตั้งอยู่บนเป็นพื้นที่ที่อยู่บนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องสรุปลักษณะของโครงการ เนื่องจากการทำ Free Trade zone อาจส่งผลกระทบต่อผู้ค้าที่มีอยู่เดิม เนื่องจากเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีภาษี เช่นเดียวกันจะต้องหาข้อสรุปของที่ตั้งควรมีระยะใกล้เคียงกันมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย คงต้องไปศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ สำหรับกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด

“สำหรับคอนเซ็ปต์คือจะทำ เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นที่คึกคัก เกิดการค้าใหม่ๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยสามารถซื้อสินค้าและนำออกไปโดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะต้องเสีย Vat แต่ปัญหาหรือผลกระทบในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวกับกรมสรรพากรและศุลกากร เท่าที่ทราบมาคือได้มีการสั่งให้ศึกษาอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยหากเดินหน้าโครงการดังกล่าวแล้วจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรอบแนวทางการกำหนด Border Town เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้การค้าชายแดนขยายตัวมากขึ้นนั้น รูปแบบของการทำเขตการค้าเสรีบริเวณชายแดน คงต้องเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปทันภายในสิ้นปีนี้ คงเหลือระยะเวลาในการพิจารณาศึกษาอีกเกือบ 4 เดือน เพื่อให้เริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุดคือภายในปี 2560 ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้วว่า จะให้เอกชนเข้ามาขายสินค้าปลอดภาษีแล้วจะต้องสรุปจำนวนราย ตลอดจนรูปแบบการค้าขายเพื่อไม่ให้เกิดการค้าที่เหมือนกันหรืออาจเป็นการจัดโซนจำหน่ายสินค้า เช่น ต่อ 1 พื้นที่จำหน่ายอาจกำหนดให้มีกี่เจ้าที่ขายสินค้า เช่น เครื่องจักรกลนำเข้า สินค้าเพื่อการบริโภค เรียกว่าเป็นย่านการค้ารูปแบบใหม่

ส่วนสำคัญที่อาจต้องใช้ระยะเวลานาน คือ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากรและสรรพสามิต รวมถึงการจัดเก็บรายได้ที่อาจจะหายไป จุดนี้กระทรวงการคลังยอมรับได้หากชั่งน้ำหนักแล้วเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ รวมถึงการค้าปลีกจะสามารถขยายตัว เนื่องจากในแต่ละปีการค้าชายแดนมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% สะท้อนได้จากมูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเดือนมิถุนายน 2559 มีมูลค่าการค้ารวม 81,239.54 ล้านบาท ทั้งนี้ การค้าชายแดนด้านประเทศมาเลเซีย ถือว่ามีการค้าขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 39,210.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.27% รองลงมา คือ สปป.ลาว มูลค่า 17,148.85 ล้านบาท เมียนมา มูลค่า 15,661.90 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 9,217.97 ล้านบาทคิดเป็น 21.11%, 19.28% และ 11.35% ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559