‘ไทยแลนด์4.0’ หนุนนวัตกรรม ‘หุ่นยนต์แขนกล’

02 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
"RST ROBOTICS"ธุรกิจหุ่นยนต์แขนกลฝีมือคนไทย หนึ่งในผลิตผล โครงการประชารัฐ ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลสานต่อไอเดียภาคเอกชน ซึ่งมุ่งเพิ่มทักษะแรงงานขั้นสูงตอบโจทย์ "ไทยแลนด์ 4.0"โดยใช้เทคโนโลยีด้านArticulated Arm สร้างขึ้นเลียนแบบแขนของมนุษย์!

[caption id="attachment_92670" align="aligncenter" width="500"] RST ROBOTICS RST ROBOTICS[/caption]

"อรัญ อนุพรรณสว่าง"กรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือรวมสินไทย เกริ่นถึง หจก.รวมสินไทยบ้านและที่ดินซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มต้นในการจำหน่ายรถแทรกเตอร์ยันมาร์ รถเกี่ยวข้าว โรงงานผลิตเครื่องจักรกล และอุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตรRST Asiapacific อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีและ จากพื้นฐานด้านช่างอีเล็กทรอนิกส์ บวกประสบการณ์ผู้ผลิต จำหน่ายเครื่องจักรกลและอุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตรอยู่แล้ว ประกอบกับเห็นสินค้าที่เป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยต่างประเทศนั้น มีราคาค่อนข้างแพง จึงเป็นแรงบันดาลใจในการค้นคว้า พัฒนา ออกแบบ กระทั่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนต่อยอดธุรกิจเดิม

ด้วยความหลงใหลในนวัตกรรมของหุ่นยนต์ของ "อรัญ"ซึ่งสามารถขยายผลไอเดียให้เป็นรูปธรรมสามารถอวดโฉมจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีเครือข่ายร่วมพัฒนา"หุ่นยนต์แขนกล"ทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค7 อุบลราชธานี ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)หรือเอสเอ็มอี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.) โดยร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายดังกล่าวตั้งแต่ออกแบบ สร้าง พัฒนาหุ่นยนต์แขนกลขึ้นมาภายในระยะเวลา 3 ปี

จุดเด่น "โรบอต"หรือหุ่นยนต์แขนกลนั้น นับว่าเป็นเทคโนโลยีพหุศาสตร์ ประกอบด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์ โดยใช้อะลูมิเนียมหล่อ อาศัยเทคโนโลยีด้านArticulated Arm เพื่อเลียนแบบแขนของมนุษย์ สามารถรับน้ำหนักที่ปลายแขน 3 กิโลกรัม สามารถเคลื่อนที่ได้ทั้ง 6 แกน ซึ่งยังประกอบด้วย AC Servomotor การส่งกำลังด้วย Harmonic Gear มีความแม่นยำและเที่ยงตรงสูง ขณะเดียวกันถือเป็นสินค้าที่ผลิตโดยสตาร์ตอัพคนไทย 100% ราคาต้นทุนถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ มีการควบคุมง่ายเป็นมิตรกับการใช้งานและรองรับเทคโนโลยี Lot Internet of Thing โดยที่โรบอตตัวนี้สามารถทำงานแทนคนได้ 3-5 คนต่อหุ่นยนต์ 1 ตัว

ขณะที่เป้าหมายสำคัญนั้น มุ่งมั่นจะสร้างหุ่นยนต์แขนกลเพื่อทดแทนแรงงานที่มีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต ประกอบกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของเมืองไทย ซึ่งจากตัวเลขความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มเป็น 4 ล้านคนในปี 2564 เหล่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนผลงานของ "อรัญ"อย่างมากซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ปีนี้เน้นตลาดการศึกษาโดยกำลังร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หุ่นยนต์แขนกล พร้อมห้องปฎิบัติการ(ห้องแล็บ) เบื้องต้นจะมีมหาวิทยาลัยทำMOUส่งนักศึกษาประมาณ 100 คน มาฝึกอบรมและเรียนรู้ โดยหวังสร้างแรงงานขั้นสูงกลุ่มแรกเพื่อออกไปทำงานในสถานธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็ก จากนั้นปีหน้า(2560)จะผลิตหุ่นยนต์ทำตลาดในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่เด็กกลุ่มแรกไปทำงานและสามารถซ่อมแซมหุ่นยนต์ในอนาคต

"ผมจึงตั้งหลักเริ่มจากสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อเน้นโรงเรียน มหาวิทยาลัยนำนักศึกษาอบรมคนให้เข้มแข็งก่อนทำตลาดในปีถัดไป เพราะส่วนตัวคิดว่าโรบอตเป็นนวัตกรรมของคนไทยต้องสร้างความมั่นใจหรือ Brand Loyalty ที่สำคัญเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์แขนกลจำนวนน้อย ดังนั้นจำเป็นต้องเทรนคนขึ้นมาเพื่อรองรับอย่างเพียงพอ"

ในทางธุรกิจนั้น ถือว่าเป็นจังหวะเหมาะ โดยเฉพาะRST ROBOTตอบโจทย์"ไทยแลนด์ 4.0"ซึ่งโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมุ่งเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ดังนั้นที่ผ่านมา เวทีสตาร์ตอัพไทยแลนด์จึงจุดประกายการทำตลาดของRST ROBOT ด้วยการออกบูธสร้างแบรนด์ให้ปรากฏแก่สาธารณะในวงกว้าง แต่วางแผนการดำเนินงานตามกรอบเวลาเช่น ปีนี้เน้นให้ความรู้และทำการสำรวจตลาด ถัดไปในปีหน้า(2560)จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หุ่นยนต์แขนกล พร้อมห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ต่อไปปี 2561 จึงเริ่มจำหน่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและอนาคตมีเป้าหมายจะขยายตลาดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)คงประมาณปี 2562

"อรัญ"บอกว่าหลังจากออกบูธมีลูกค้าซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่เข้มแข็ง บางแห่งมีแรงงาน 2,000 คนต้องการโรบอตไปทำงาน โดยรวมเวลานี้มีลูกค้า 5-10 แห่ง แต่ละแห่งอาจทำโครงการ 3-5 ปี จึงจะส่งมอบหุ่นยนต์แขนกลจบ นอกจากนี้ได้เตรียมทายาททั้ง 3 คนที่จะมารับช่วงต่อในธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยบุตรชายคนโตศึกษาด้านเครื่องกลมหาวิทยาลัยนอร์ติ้งแฮม บุตรชายคนที่2 ศึกษาด้านโยธาและวางแผนให้บุตรสาวศึกษาด้านการตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559