LPN เปิดเคล็ด‘ชุมชนน่าอยู่’ แม่แบบสู่อาคารแนวตั้งทั่วไป

02 ก.ย. 2559 | 11:30 น.
แอล.พี.เอ็น.ผู้นำคอนโดฯตลาดล่าง สร้างวัฒนธรรม “ร่วมใจ ห่วงใยแบ่งปัน” สร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย “ทิฆัมพร”ปลื้มหน่วยงานรัฐสนใจนำเป็นกรณีศึกษา สร้างแม่แบบของชุมชนน่าอยู่ในอาคารแนวตั้ง

[caption id="attachment_92716" align="aligncenter" width="335"] ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)[/caption]

“เมื่อ 20 ปีก่อน แอล.พี.เอ็น.เริ่มต้นในการสร้าง ‘ชุมชนน่าอยู่’ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่หลังจากบริษัทได้จัดประชุมระดมความคิดร่วมกับประธานและกรรมการชุมชนหลายครั้ง จนทุกคนสัมผัสและจับต้องได้ รวมถึงเห็นคุณค่า”นายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าว และเสริมอีกว่า

“ชุมชนน่าอยู่” เป็นเรื่องใหม่ ในยุคแรกของการเริ่มพัฒนาโครงการอาคารชุด สมัยนั้นก็มีโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่และที่สุดกลายเป็นชุมชนที่ไม่มีทิศทาง ทำให้บริษัทตระหนักว่าจะต้องทำให้ชุมชนของลุมพินีน่าอยู่ และสามารถเดินไปอย่างมีทิศทางและต่อเนื่องจนเกิดเป็นชุมชน เกิดความผูกพันจนเกิดเป็นชุมชนที่มีคุณค่า จึงทำให้เกิดการเริ่มต้นของเป้าหมายว่าชุมชนน่าอยู่

“จากการที่พัฒนามาตลอดและจากการใช้เวลาระดมความคิดร่วมกับประธานและคณะกรรมการชุมชนหลายครั้ง ทำให้ชุมชนน่าอยู่เป็นที่จับต้องได้และได้รับการยอมรับ จนมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมากพอสมควร อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มาร่วมเพื่อจะเรียนรู้สิ่งที่เราได้เริ่มต้นทำกันมา และนำเอาชุมชนของทางลุมพินี ไปใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อนำไปสู่การสร้างแม่แบบของชุมชนน่าอยู่ในอาคารแนวตั้ง”

“ผมเชื่อว่าวันนี้ชุมชน ลุมพินี ที่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี หลายๆชุมชนได้เริ่มสัมผัสและเห็นถึงคุณค่าของความสำเร็จของการอยู่ร่วมกันในลักษณะของเป้าหมายชุมชนน่าอยู่”

“ชุมชนน่าอยู่เป็นเรื่องของจิตใจโดยตรง ไม่ใช่เรื่องของกายภาพอย่างเดียว ซึ่งจิตใจของคนที่อยู่ร่วมกันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่บริษัทพยายามทำให้ทุกคนรู้และร่วมใจเพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ที่เป็นรูปธรรมคือการสร้างวัฒนธรรม การร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน โดยทุกคนที่เข้ามาร่วมในชุมชน ไม่ว่าฝ่ายจัดการ กรรมการ ผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยประธานชุมชนเป็นตัวกลางเชื่อมโยงฝ่ายจัดการและความต้องการของชุมชน”

แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือชุมชนจะเกิดขึ้นก็ด้วยคนที่มาอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการที่จะบริหารหรือดูแล และการเปลี่ยนแนวคิดหรือสร้างแนวคิดขึ้นมาใหม่ การที่จะเกิดความร่วมใจก็ต้องเกิดจากการที่คนเรามองตัวเองน้อยลงแล้วมองรอบข้างมากขึ้น หลายครั้งต้องตัดสินใจระหว่างคำว่า ถูกใจ กับถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนที่อยู่รวมกันมีความสุข ฝ่ายจัดการและประธานกับกรรมการก็ต้องมีความสุขด้วย

หัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนน่าอยู่ได้ อยู่ที่การเปลี่ยนวิธีคิด ถึงจะเป็นเรื่องยากแต่ก็ควรจะสู้และอดทนทำไปเมื่อไหร่ที่เปลี่ยนความคิดของคนได้นั่นคือสิ่งดีๆ ที่เราได้เริ่มต้นทำเมื่อเราสามารถทำให้คนออกมาจากกรอบของตัวเอง มองตัวเองน้อยลง แล้วมองข้างนอกให้มากขึ้น สิ่งที่มีประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือครอบครัวของเขาก็จะมีความสุข จากครอบครัวเล็กที่มีความสุขก็จะกลายเป็นครอบครัวใหญ่ได้

ปัจจุบันชุมชน ลุมพินีมีทั้งสิ้น122 ชุมชน 380 อาคาร มี 112,000ครอบครัว โดยประชากรในชุมชนลุมพินีมีทุกช่วงวัย เริ่มจากวัยเด็ก 1-10 ขวบมี 3%, วัยรุ่น 11-20 ปี 10% , วัยทำงาน21-59 ปี มี 85% ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุด และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 2%และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงปีหลังๆ คือ เจ้าของอาคารชุดจะมีอายุลดน้อยลง จากเดิมอายุมากกว่า 30 ปีปัจจุบันอายุมากกว่า 20 ปี

ด้านนายพิเชษฐ์ ศุภกิจจานุสันติ์กรรมการบริหาร ของแอล.พี.เอ็น. กล่าวเสริมว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทให้งบประมาณสนับสนุนแก่นิติบุคคลเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ กว่า 60 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ของยอดรับรู้รายได้ปี 2558และในงบดังกล่าวได้แบ่งออกมาให้การสนับสนุนกิจกรรมของชมรม ที่เกิดจากการรวมของชุมชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559