รับเหมาคึกคักรับสัญญาณรัฐ Q4 อิตาเลียนไทยขยายงาน / รายใหญ่กับกลางผนึกกำลัง

03 ก.ย. 2559 | 09:30 น.
“อิตาเลียนไทย”เล็งขยายพื้นที่โรงงานย่านวิหารแดง หวังผลิตวัสดุป้อนเมกะโปรเจ็กต์รัฐ เชื่อปีหน้าแนวโน้มสดใส ด้านแพร่ธำรงค์วิทย์หวังข้ามห้วยลุยรับงานมอเตอร์เวย์บางใหญ่ ชี้ปรากฏการณ์ควบรวมรับเหมารายใหญ่กับรายกลางมากขึ้น

นางนิจพร จรณะจิตต์ กรรมการรองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตวัสดุของบริษัทที่ศูนย์อุตสาหกรรมอิตาเลียนไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ได้วางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าเตรียมพร้อมรับงานเต็มที่ เพราะเห็นว่าปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะดีกว่าปีนี้ จึงจำเป็นต้องเตรียมกำลังการผลิตไว้ตั้งแต่วันนี้

"ปัจจุบันโรงงานที่วิหารแดงมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีโรงงานประกอบเซกเมนต์อุโมงค์และรายการผลิตอื่นๆ เพื่อส่งให้กับโครงการต่างๆ แต่ปัจจุบันเริ่มไม่เพียงพอ จึงเตรียมขยายพื้นที่เพิ่มอีก เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่กันได้ เช่นเดียวกับระบบรถขนส่งจะมีการขยายเพิ่มและว่าจ้างรายอื่นร่วมให้บริการด้วย”

ด้านนายสมจิตต์ เลวรรณ์ ผู้จัดการโรงงานบริษัท เอทีโอ-เอเชีย เทิร์นเอ้าท์ส จำกัด ในเครืออิตาเลียนไทย กล่าวถึงการรุกงานก่อสร้างทางรางว่า อิตาเลียนไทยมีการผลิตประแจทางหลีกรถไฟสร้างรายได้ปีละกว่า 300 ล้านบาท ปีนี้ทำรายได้แล้วประมาณ 120 ล้านบาท เพราะหลายโครงการล่าช้าออกไป เช่น รถไฟทางคู่ 2-3 เส้นทาง โดยเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย มูลค่าที่ได้งาน 96 ล้านบาท เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 300 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 จะเกินเป้าโดยขณะนี้มีปริมาณงานในมือแล้ว 360 ล้านบาท ล่าสุดเล็งเพิ่มคำสั่งซื้อจากโครงการรถไฟสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิตอีกราว 700 ล้านบาท ที่คาดว่าจะใช้งานกว่า 300 เซต สายสีส้มกว่า 200 ล้านบาท สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สายสีเขียวเหนือ สายสีเขียวใต้ และสายสีม่วงส่วนต่อขยายที่มีมูลค่าอีกกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งมองโอกาสปี 2560 ในสายสีส้ม สายสีแดงมิสซิ่งลิงค์และรถไฟทางคู่ 4 เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เส้นทางลพบุรี -ปากน้ำโพ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์- ชุมพรที่มีมูลค่าประแจรวมกว่า 200 ล้านบาท

อีกทั้งรุกรับงานตลาดต่างประเทศ โดยได้รับงานจากประเทศมาเลเซียประกอบด้วยรางลิ้นและรางประคอง มูลค่ากว่า 30 -40 ล้านบาท เช่นเดียวกับในกัมพูชาที่อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างช่วงด่านชายแดนไทยที่คลองลึกไปยังเมืองปอยเปตซึ่งสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ได้นั้น ได้รับงานแล้วประมาณ 30 ประแจ มูลค่าราว 46 ล้านบาท ปัจจุบันรถไฟเป็นเทรนด์ของโลก เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ล่าสุดอินโดนีเซียมาดูงานจึงมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก

ส่วนนายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพร่ธำรงค์วิทย์ จำกัด ผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวง กล่าวว่า ไตรมาส 3-4 ปีนี้อยู่ระหว่างปริมาณงานเริ่มทยอยออกสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะงานของงบปี 2560 ตามมาด้วยงานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง ที่เหลืออีก 2 เส้นทาง ดังนั้นไตรมาสแรกของปี 2560 จึงจะได้เห็นการเบิกจ่ายมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ แต่ควรจับตาวัสดุก่อสร้างในส่วนงานท้องถิ่นอาจจะกระทบบ้างในบางพื้นที่ อาทิ ทรายถม หิน จะขาดแคลน แต่วัสดุในส่วนงานใหญ่นั้นได้วางแผนล่วงหน้านาน จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ เหล็กเส้น หิน ซีเมนต์ ปัจจุบันบริษัทรับงานก่อสร้างถนน 4 เลน ช่วงร้องกวาง-น่านมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ส่วนงานถนน 4 เลนช่วงเถิน-ตากค่ากว่า 600 ล้านบาทนั้นจะแล้วเสร็จในปี 2560 ทั้งหมด ทำให้ขณะนี้ศักยภาพการรับงานของบริษัทยังสามารถรับได้อีกราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งได้เล็งการรับงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี อีก 1-2 ตอน จึงได้เตรียมทีมงานโครงสร้างด้านงานสะพานรองรับไว้แล้ว

"ต่อไปอาจจะเห็นการควบรวมบริษัทรับเหมาระหว่างรายใหญ่กับรายกลางมากขึ้น ผู้รับเหมาในแต่ละระดับน่าจะได้รับงานเต็มมือมากขึ้น ปริมาณงานจะกระจายไปในหลายพื้นที่ ผู้รับเหมาชั้นพิเศษอาจต้องไปหาซับคอนแทร็กต์กับชั้น 1 ชั้น 2 ในแต่ละพื้นที่ได้เช่นกันเพื่อรองรับงานเป็นส่วนๆ ผู้รับเหมามีโอกาสเตรียมความพร้อมมานานจากการรับรู้ความชัดเจนโครงการต่างๆที่รัฐวางแผนดำเนินการ ดังจะเห็นได้จากการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างอย่างรถขุด รถตัก รถเครนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับงานดังกล่าวนั่นเอง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559