บาทแข็งเสี่ยงสูงสุด ส่งออกข้าว-ไก่-อัญมณี-การ์เมนต์-รถยนต์เครียด

29 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ภาคส่งออกสะท้าน "บาทแข็ง" ประสานเสียงยกเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 พ่อค้าข้าวบ่นอุบแข็งทุก 1 บาททำข้าวไทยแพงขึ้นตันละ 10 ดอลลาร์ ฟากอุตฯไก่เจอ 2 เด้งลูกค้าผู้ดีกดราคารับซื้อ ตลาดอัญมณีผวาคู่ค้าชักดาบ ขณะที่อาหารหวั่นเป้า 9.7 แสนล้านวืด รถยนต์จับตาใกล้ชิด พาณิชย์ประกาศตัวเลข 7 เดือนยังติดลบ 2%

[caption id="attachment_91275" align="aligncenter" width="700"] การส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 การส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558[/caption]

จากกรณีที่ค่าเงินบาทได้กลับมาแข็งค่ามากสุดในรอบ 13 เดือน โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 สิงหาคม2559 อยู่ที่ 34.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ได้สร้างความกังวลกับภาคการส่งออกอีกครั้งเพราะจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหมายถึงราคาสินค้าไทยจะสูงขึ้น และจะขายยากขึ้น สวนทางกับรายได้การส่งออกที่แลกกลับมาเป็นเงินบาทที่ลดลง ทั้งนี้จากการตรวจสอบในหลายกลุ่มสินค้าพบมีความกังวล และได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะ

แข็งค่า1บ.ข้าวไทยแพงขึ้น10 ดอลล์

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทุก ๆ 1 บาท ของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯจะมีผลให้ราคาข้าวส่งออกของไทย(ราคาเอฟโอบี)สูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยขายยากขึ้นไปอีก จากปัจจุบันราคาข้าวส่งออก(ข้าวขาว 5%) เฉลี่ยที่ 375-380 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ก็ขายยากอยู่แล้ว เพราะเทียบกับราคาข้าวชนิดเดียวกันของประเทศคู่แข่ง เช่นเวียดนามเฉลี่ยเวลานี้อยู่ที่ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวไทยราคาสูงกว่า 25-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

“เรื่องนี้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ช่วยดูแลค่าเงินบาทอย่าให้แข็งค่ามาก หากธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อนเราจะแข่งขันได้ดีกว่า ทั้งนี้ในปี 2559 เราตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 9.5 ล้านตัน แต่ถึงตอนนี้ชักไม่แน่ใจว่าจะไปถึงเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากทั้งค่าเงินบาท เศรษฐกิจคู่ค้า ผู้นำเข้าชะลอซื้อเพื่อรอข้าวใหม่ที่จะออกมา รัฐเร่งระบายสต๊อกข้าว”

 ไก่เจอ 2 เด้งคู่ค้ากดราคา

สอดรับกับนางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกไก่แปรรูปมีตลาดหลักที่สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่เผยว่า การส่งออกสินค้าไก่ไปยังทุกตลาดยังไปได้ดี เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน ผู้นำเข้าจะมีการสต๊อกสินค้าเพื่อไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ แต่จากเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบ 1 ปีในเวลานี้ มีผลให้ลูกค้า เฉพาะอย่างยิ่งลูกค้ายุโรป ซึ่งมีตลาดใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ ได้ต่อรองราคามากขึ้น ผู้ส่งออกก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะเดิมค่าเงินปอนด์ของอังกฤษก็อ่อนค่าลงจากเดิมประมาณ 10% แต่คู่ค้าได้ปรับเพิ่มราคาสินค้าให้เพียง 5% เท่านั้นไม่ครอบคลุมตามเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง

"ช่วงนี้บาทแข็ง ราคาสินค้าเราแพงขึ้น ลูกค้าก็ต่อรองราคามากขึ้น ตกลงซื้อขายกันยากขึ้น สรุปแล้วราคาที่เราได้รับไม่ค่อยดี และต้องบริหารความเสี่ยงการขาดทุนโดยทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือทำฟอร์เวิร์ดในทุกล็อตสินค้าที่ส่งไป"

ขอดูแลไม่เกิน34.50บาท/ดอลล์

เช่นเดียวกับ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ระบุว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ในรูปเงินบาทส่งออกได้แล้วที่ 36,987 ล้านบาท ขยายตัว 2% ส่วนในรูปดอลลาร์สหรัฐฯส่งออกที่ 1,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯติดลบ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แนวโน้มการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังไปได้แบบไม่หวือหวา แต่ห่วงผลกระทบเรื่องค่าเงินบาทจะทำให้รายได้รูปเงินบาท และกำไรลดลง เรื่องนี้ขอให้ธปท.ช่วยดูแลอย่าให้แข็งค่ามากกว่า 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะสินค้าเกษตรและประมงมีกำไรน้อยต้องพึ่งอัตราแลกเปลี่ยน

 อาหารหวั่นเป้า 9.7 แสนล.วืด

ขณะที่นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเวลานี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกมากที่สุด จากเดิมก็มีอยู่แล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว รวมถึงการก่อการร้าย และอื่น ๆ อย่างไรก็ดีสินค้าอาหารยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบริโภค และการส่งออกยังไปได้ ล่าสุด(22 ส.ค.59)ทางสถาบันเพิ่งปรับคาดการณ์ส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2559 จะมีมูลค่า 9.72 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% โดยที่ช่วง 6 เดือนแรกส่งออกได้แล้ว 4.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9 % โดยสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่ กุ้ง น้ำผลไม้ สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย นมพร้อมดื่ม และกะทิสำเร็จรูป

"ยังเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทเพราะหากแข็งค่าขึ้นไปอีก สินค้าอาหารไทยจะขายยากขึ้น และยอดส่งออกอาจจะลดลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้บวก-ลบที่ 1 หมื่นล้านบาท"

 การ์เมนต์ชี้บาทเสี่ยงอันดับ 1

ส่วนนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มองว่า ค่าเงินบาทเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการส่งออกของไทย ณ เวลานี้ ซึ่งแม้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่งขันยังผันแปรในทิศทางที่แข็งค่าไม่ต่างกันมาก และมีผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเช่นกัน แต่คำถามคือสินค้าไทยจะมีศักยภาพในการลดราคาแข่งขันได้มากน้อยเพียงใด เพราะแน่นอนว่าลูกค้าคงไม่ให้ขึ้นราคาในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ และจะกระทบกับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ใหม่ว่าจะโค้ดราคากันอย่างไร และคงต่อรองกันมากขึ้น

"การบริหารความเสี่ยงค่าเงินบาทของผู้ส่งออกส่วนใหญ่ใช้วิธีทำฟอร์เวิร์ด ผมเชียร์ให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้เงินไหลกลับสหรัฐ และทำให้เงินบาทเราอ่อนค่าลง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออก แต่ล่าสุดสัญญาณที่เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีแค่กว่า 50% ดังนั้นหากเขาไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็ยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอีก จากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตรบานเรา ซึ่งมองว่าการส่งออกในภาพรวมของไทยปีนี้ติดลบแน่นอน ส่วนการ์เมนต์ก็คงติดลบเช่นกัน"

 อัญมณีผวาคู่ค้าชักดาบ

นายสุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำที่ซื้อมาขายไปเพื่อเก็งกำไร)ในปีนี้คงไม่ขยายตัว เพราะบรรยากาศทั่วโลกไม่ค่อยจูงใจให้คนมีอารมณ์ออกมาจับจ่ายสินค้าอัญมณีซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยขณะที่การส่งออกสินค้าอัญมณีฯที่ผ่านมา คู่ค้าสองฝ่ายจะค้าขายกันมานาน และอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ค่อยมีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน

"ปัจจุบันการซื้อขายอัญมณีจะสั่งซื้อและมีการส่งมอบสั้น ๆ เพียง 10-15 วัน อย่างมากไม่เกิน 3 สัปดาห์สำหรับออร์เดอร์ใหญ่ๆ คู่ค้าขณะนี้ไม่ซื้อไปเก็บสต๊อก แต่จะสั่งออร์เดอร์ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าขายได้ เป็นตลาดของผู้ซื้อ คุณไม่รับออร์เดอร์รายอื่นเขารับ และยังเสี่ยงถูกชักดาบค่าสินค้าอีกในสถานการณ์เช่นนี้"

 รถยนต์ยังโต-ห่วงเดือนที่เหลือ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินที่ผันผวนยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตามต้องรอประเมินสถานการณ์หลังจากที่เฟดจะพิจารณาประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือไม่ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าอาจจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและอาจจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนตัวลงโดยรวมๆยังไม่มีผลกระทบอะไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนปีนี้ มีการส่งออกแล้ว 6.93 แสนคัน เพิ่มขึ้น 2.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 3.70 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.99% เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 2.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.27% ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 1.06 แสนล้านบาท ลดลง 8.49 % ,อะไหล่รถยนต์ส่งออก 1.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.12% รวมการส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ช่วง 7 เดือนแรกปี 2559 มีมูลค่า 5.21 แสนล้านบาท เพิ่ม 13.42%

 กสิกรฯย้ำผู้ส่งออกทำเฮดจิ้ง

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนหลังจากนี้ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจควรป้องกันความเสี่ยง(Hedging)อัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่ควรวางใจแม้ว่าทิศทางการข้างหน้าเฟดจะส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งถ้อยแถลงประธานเฟดที่ออกมาจะส่งสัญญาณความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะสามารถรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือโดยจะมีการประชุมอีก 2ครั้งคือ ระหว่างวันที่ 1-2พฤศจิกายน และระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคมปีนี้

"หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าและฟันด์โฟลว์จะไหลออก แต่สำหรับผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจยังจำเป็นต้องควรป้องกันความเสี่ยงเพราะความผันผวนยังมีอยู่ต่อเนื่อง จึงไม่ควรวางใจโดยศูนย์กสิกรไทยยังมองเงินบาทปลายปีจะอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ"

ส่งออกไทย 7 เดือนลบ 2%

ขณะที่ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ว่า มีมูลค่า 1.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 9.8% การส่งออกที่ยังมากกว่าการนำเข้าส่งผลไทยยังเกินดุลการค้า 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นผลมาจากการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจโลกรวมถึงราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำและผลผลิตภาคเกษตรที่ยังหดตัวจากสภาพอากาศที่ยังแปรปรวนและหากดูมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพบว่ายังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออก

 หวังทั้งปียังขยายตัวได้ 1.3%

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หากประมาณมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ถ้าดูจากสถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 2556-2558 ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนธันวาคม จะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 1.8 -1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากสามารถส่งออกได้มูลค่าดังกล่าว ก็เชื่อว่าการส่งออกไทยทั้งปีจะมีโอกาสเป็นบวกที่1.3% ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559