รัฐเปิดเสรีนำเข้าLPGเต็มรูปแบบ1ม.ค.60

30 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
กระทรวงพลังงาน รื้อแผนนำเข้าแอลพีจีใหม่ หลังความต้องการใช้ในประเทศต่ำ ยกเลิกระบบประมูลโควตา ตั้งธงเปิดเสรีนำเข้าเต็มรูปแบบ เริ่ม 1 ม.ค.60 ให้เอกชนที่มีความพร้อมแข่งขันกับปตท.จากที่ผูกขาดมานาน ส่วนผู้บริโภคจะได้อานิสงส์ด้านราคาหรือไม่นั้น อยู่ที่ขั้นการศึกษาและตั้งกฎระเบียบรองรับ ขณะที่ "สยามแก๊ส”ภาครัฐชัดเจนเมื่อใดพร้อมนำเข้าได้ทันที 4 หมื่นตันต่อเดือน

[caption id="attachment_91309" align="aligncenter" width="335"] ทวารัฐ สูตะบุตร  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทวารัฐ สูตะบุตร
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมาได้เห็นชอบในหลักการโรดแมปการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการแข่งขันให้มีผู้นำเข้ามากกว่า 1 ราย นอกเหนือจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ด้วยระบบโควตา ในรูปแบบประมูล

แต่ระหว่างการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ทางกรมธุรกิจพลังงานรายงานว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้น ปริมาณการนำเข้าจะเหลืออยู่ในระดับต่ำเพียง 1,970 ตันต่อเดือนเท่านั้น และหลังจากนั้นจะไม่มีการนำเข้ามาอีก เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีความต้อการใช้แอลพีจีโดยรวมอยู่ที่ 5.14 แสนตันต่อเดือน ใกล้เคียงกับการจัดหาภายในประเทศ จึงคาดการณ์ว่า หลังจากนี้ไปไม่น่าจะมีปริมาณนำเข้าที่สามารถนำมาประมูลได้ในปีนี้ และอาจจะต่อเนื่องนานถึงปีหน้า ส่งผลให้การเปิดประมูลนำเข้าก๊าซแอลพีจีไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้

ดังนั้น ทางสนพ. เห็นว่าควรให้มีการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีแบบมีเงื่อนไข โดยยกเลิกระบบปริมาณโควต้าการนำเข้าก๊าซแอลพีจีที่ถูกกำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงาน และให้ผู้ค้ารายอื่นๆ สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านระบบการประมูลที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งกบง.ก็ได้รับทราบในหลักการไปแล้ว แต่ยังไม่มติออกมา เนื่องจากต้องไปจัดทำรายละเอียดต่างๆ นำมาเสนออีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างราคาและกฎระเบียบให้รองรับการเปิดเสรีนำเข้า

เร่งศึกษากฎระเบียบ/ราคา

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานในขณะนี้นั้น สนพ.อยู่ระหว่างหารือกับผู้ค้ามาตรา 7 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการเปิดนำเข้าแอลพีจีว่าจะสามารถแข่งขันกันอย่างเสรีได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านราคานำเข้าจะทำอย่างไรที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากกองทุน จากปัจจุบันใช้สูตรราคานำเข้า CP+85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเป็นระดับราคาเท่าไรที่เหมาะสมไม่ให้กระทบกับราคาขายปลีกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงปริมาณความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศ เพื่อคำนวณปริมาณนำเข้าในแต่ละเดือน ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือกับผู้ค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 2-3 ครั้ง รวมถึงจะต้องรอผลการศึกษาอัตราค่าเช่าคลังแอลพีจีของ ปตท. ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ว่าหากบุคคลที่ 3 เข้าไปใช้ ควรอยู่ในอัตราเท่าไรจึงจะเหมาะสม เพื่อมาคำนวณต้นทุนการนำเข้าของผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่ ปตท. เพราะต้องบวกต้นทุนดังกล่าวเข้าไปด้วยซึ่งทั้งหมดจะต้องได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การเปิดนำเข้าแอลพีจีแบบเสรีในวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสามารถนำเข้าแอลพีจีได้ในลักษณะคล้ายตลาดน้ำมัน คือไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และผู้ประกอบการแข่งขันกันเองได้

“การนำเข้าแอลพีจีในปีนี้ นับว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเชื่อว่าหากเปิดนำเข้าแอลพีจีเสรี คงไม่กระทบต่อสัญญานำเข้าแอลพีจีของ ปตท. เพราะทำสัญญาเป็นรายปีไม่ใช่ระยะยาว และก็จะสิ้นสุดในปีนี้ ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่สนพ.วางไว้ว่าจะสามารถเปิดนำเข้าแอลพีจีเสรีภายในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งสนพ.อยากส่งเสริมให้แข่งขันแบบเสรี เหมือนตลาดน้ำมัน แต่แนวทางนี้ก็ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ เพราะต้องได้ข้อตกลงร่วมกันก่อน ทั้งด้านราคา ปริมาณนำเข้า ค่าเช่าคลัง โดยจะพยายามให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วและนำเสนอให้กบง.อนุมัติเห็บชอบต่อไป”นายทวารัฐ กล่าว

ยันปตท.ไม่ได้เปรียบรายอื่น

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมและ สนพ. เตรียมหารือข้อสรุปมาตรการนำเข้าแอลพีจีเสรีร่วมกัน โดยเชื่อว่าจะสามารถเปิดได้ทันภายในเดือนมกราคม 2560 เบื้องต้นทาง สนพ. อยู่ระหว่างคำนวณราคาแอลพีจีนำเข้า ปริมาณนำเข้า และค่าเช่าคลัง ในอัตราที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาผู้ค้าบางรายอาจเห็นว่า รัฐเอื้อประโยชน์กับ ปตท. หรือไม่ ดังนั้นหากเปิดเสรี ก็จะปล่อยให้เอกชนทุกรายสามารถนำเข้าได้อย่างเสรี โดยไม่มีการกำหนดโควตาเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าภายหลังจากเปิดเสรี ปตท.จะไม่ได้เปรียบผู้ค้ารายอื่นอย่างแน่นอน แม้ว่าท่าเรือและคลังเป็นของตัวเองก็ตาม เนื่องจากทาง สนพ. จะกำหนดเกณฑ์การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้าใช้หรือTPAในการเช่าคลังแอลพีจีของ ปตท. ซึ่ง ปตท. ก็ต้องบวกค่าเช่าคลังในอัตราเดียวกับผู้ค้ารายอื่นเช่นกัน ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงแอลพีจีในประเทศหรือไม่ กรมยังมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการแข่งขันแบบลอยตัว จะทำให้ผู้ค้ายังคงทำธุรกิจและต้องนำเข้าแอลพีจีอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นแต่ยกเลิกกิจการเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ผู้ค้ารายอื่นก็ต้องนำเข้าแอลพีจีมาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดแทน

เดินหน้าเร็วกว่าโรดแมปที่วางไว้

ส่วนการนำเข้าแอลพีจีในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าอาจจะไม่ต้องนำเข้าเพราะมีปริมาณการผลิตในประเทศเพียงพอ แต่ในช่วงที่โรงกลั่นฯหยุดซ่อมก็จำเป็นต้องนำเข้ามาทดแทน ขณะที่สถานการณ์ปี 2560 ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ส่วนตัวมองว่าความต้องการใช้ที่เติบโตขึ้นจะต้องมีการนำเข้าแต่จะมีปริมาณนำเข้าเท่าไหร่นั้นจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

เอกชนจ่อนำเข้าหากรัฐชัดเจน

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เชิญหารือผู้ค้ามาตรา 7 ในการนำเข้าแอลพีจีเสรี เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทางภาครัฐออกมา แต่ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมในการนำเข้าแอลพีจี และส่วนตัวเห็นว่าควรเปิดนำเข้าแบบลอยตัว เพื่อให้ผู้ค้าแอลพีจีสามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้บริษัทยังรอความชัดเจนจากทางภาครัฐว่านโยบายการเปิดนำเข้าแบบเสรีจะออกมาในทิศทางใด เนื่องจากปัจจุบันยังติดขัดหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีค่าเช่าคลังของ ปตท. เพราะจะต้องบวกต้นทุนดังกล่าวเข้าไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ ปตท.ได้เปรียบผู้ค้ารายอื่น ดังนั้นอัตราค่าเช่าจะต้องมีความเหมาะสม นอกจากนี้เห็นว่ากระทรวงพลังงานควรเปิดนำเข้าเสรีในช่วงนี้ เนื่องจากราคาแอลพีจีในตลาดโลกลดลงต่ำ อยู่ที่กว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น เทียบกับปีก่อนอยู่ที่กว่า 500-800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559