พฤติกรรมนักช็อปออนไลน์ (1)

28 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ฉบับที่ผ่านมาทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative ได้เขียนถึงธุรกิจการค้าออนไลน์หรือ E-Commerce ในประเทศไทยซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าของอินเตอร์เน็ต และระบบโทรศัพท์ไร้สาย ทำให้มีจำนวนผู้เข้าถึงระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 30 ล้านคนในปัจจุบัน และส่งผลให้ธุรกิจ E-Commerce มีการแข่งขันกันสูงเพื่อแย่งชิงผู้บริโภคที่สามารถสั่งซื้อสินค้าหรือบริการได้ทุกที่ และทุกเวลา โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ เปิดเผยว่า ในปี 2557 E-Commerce แบบ B2C ในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 411,715 ล้านบาท และในปี 2558 ที่ผ่านมาประเมินว่ามีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 474,648 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความน่าสนใจในตลาดการค้าออนไลน์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาดที่ต้องศึกษาข้อมูลของกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์เพิ่มเติม ซึ่งทีมงานได้นำข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกัน

[caption id="attachment_90443" align="aligncenter" width="700"] ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าออนไลน์ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าออนไลน์[/caption]

จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10,434 คน พบว่ามีจำนวนถึง 64.9% ที่เคยซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการนั้น ๆ พบว่า 58.2% มีการเข้าไปที่เว็บไซต์ที่ขายสินค้า/บริการนั้นๆ เพื่ออ่านรีวิวหรือคอมเมนต์ของผู้ที่เคยซื้อสินค้า/บริการมาก่อนก่อนจะทำการตัดสินใจซื้อ มีจำนวน 50.2% ซื้อสินค้า/บริการที่ตัวเองสนใจโดยดูจากโฆษณาในเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ ในขณะที่ 34% ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือจากการบอกต่อๆ กัน มี 32.3% ที่ดูโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม อาทิ โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์, บิลบอร์ด, โบชัวร์ เป็นต้น มีจำนวน 31.5% ได้รับอิทธิพลจากการหาข้อมูลทางเสิร์ชเอนจิน อีก 20.8% ตัดสินใจซื้อเพราะพวกบล็อกเกอร์ เน็ตไอดอล ดารา และนักแสดงต่างๆ และ 5.1% จากเหตุผลอื่น ๆ

[caption id="attachment_90444" align="aligncenter" width="700"] เหตุผลที่ไม่กล้าซื้อสินค้า / บริการออนไลน์ เหตุผลที่ไม่กล้าซื้อสินค้า / บริการออนไลน์[/caption]

สำหรับในกลุ่ม 35.1% ที่ไม่เคยซื้อสินค้า/บริการออนไลน์เลย โดยให้เหตุผลว่า กลัวการถูกโกงมากถึง 57.6% มี 42.1% ตอบว่าเพราะไม่ได้ทดลองหรือทดสอบสินค้าก่อนซื้อ อีก 32.2% บอกว่าสินค้า/บริการบนออนไลน์ยังไม่ถูกใจ ส่วน 20.8% ชอบที่จะไปซื้อของเองตามแหล่งช็อปปิ้งมากกว่า ยังมี 18.2% ตอบว่าเพราะไม่ได้ติดต่อหรือซื้อกับผู้ค้าโดยตรง และเหตุผลอื่นๆ อีก 4.5%

ข้อมูลครั้งนี้น่าจะช่วยให้นักการตลาดได้รับทราบถึง ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ของผู้บริโภคเพื่อให้นักการตลาดได้หาช่องทาง และโอกาสในการสร้างยอดขายให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้รับทราบถึงอุปสรรคที่ยังคงทำให้การซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ไม่เติบโตอย่างที่ควร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการขยายตลาดการค้าออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในทุกๆ ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559