อ.ส.ค.จับมือสวก.พัฒนาพลังงานทางเลือกลดต้นทุนฟาร์มโคนม

26 ส.ค. 2559 | 01:48 น.
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัย จำนวน 2,531,560 บาท ให้ อ.ส.ค.ดำเนินการวิจัยและพัฒนาฟาร์มโคนมต้นแบบเพื่อการใช้พลังงานทางเลือกต้นทุนต่ำ เพื่อเป็นแนวทางลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้เลี้ยงโคนมตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำร่องในฟาร์มโคนมอินทรีย์ของ อ.ส.ค.มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยทีมนักวิจัยของ อ.ส.ค.จะเร่งพัฒนานวัตกรรมการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือระบบโซล่าเซลล์มาผลิตกระแสไฟฟ้า เป้าหมายกำลังผลิต 4,500 วัตต์ เพื่อใช้ภายในฟาร์มควบคู่กับการใช้ระบบไบโอแก๊สแบบ MCLD (Modified Covered Lagoon Digester) เพื่อนำของเสียและมูลโคมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มและต้มน้ำร้อนเพื่อล้างอุปกรณ์รีดนม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นและลดมลภาวะในชุมชน เป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงานไฟฟ้าในฟาร์มโคนมได้ค่อนข้างมาก

โครงการฯวิจัยนี้มีแผนดำเนินการ 2 ปี โดยช่วง 6 เดือนแรก จะดำเนินการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ในฟาร์มโคนมอินทรีย์ซึ่งมีจำนวนโครีดนมไม่เกิน 50 แม่รีด พร้อมจัดทำระบบไบโอแก๊สขนาดความจุ 30-80 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นจะศึกษาประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งขึ้น และนำกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้มาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์มต้นแบบ ขณะเดียวกันยังศึกษาประสิทธิภาพของระบบไบโอแก๊สในการผลิตก๊าซชีวภาพใช้กับเครื่องปั่นไฟ เพื่อเสริมระบบโซล่าเซลล์กรณีที่ความเข้มของแสงแดดน้อยไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพื่อช่วยให้ระบบไฟฟ้าภายในฟาร์มมีความเสถียร สามารถช่วยได้ถ้ามีปัญหาไฟตกหรือไฟฟ้าดับช่วงที่กำลังรีดนม

“นอกจากนั้น ยังจะศึกษาการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม เช่น ต้มน้ำร้อนเพื่อล้างอุปกรณ์รีดนม หรือล้างทำความสะอาดท่อส่งนม เบื้องต้นคาดว่า งานวิจัยนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2560 ซึ่งจะได้ฟาร์มโคนมต้นแบบการจัดการพลังงานทางเลือกต้นทุนต่ำสำหรับฟาร์มขนาดกลาง อนาคต อ.ส.ค. ได้มีแผนที่จะขยายผลงานวิจัยที่สำเร็จไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศที่ต้องการนำไปปรับใช้ ทั้งฟาร์มโคนมขนาดเล็กที่มีแม่โครีดนมไม่เกิน 20 ตัว และฟาร์มขนาดใหญ่ซึ่งมีโครีดนมมากกว่า 50 แม่รีดขึ้นไปด้วย” ผอ.อ.ส.ค.กล่าว

ดร.ณัฐภร แก้วประทุม  ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ในเกณฑ์สูง ประมาณ 15-16 บาท/กิโลกรัม โดย 50-60 % ของต้นทุนทั้งหมดเป็นค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น  รองลงมาเป็นต้นทุนด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็น 20-25 % โดยฟาร์มโคนมมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิต อาทิ ถังทำความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพน้ำนมดิบ การใช้พัดลมระบายอากาศในโรงเรือน ใช้ในระบบเครื่องรีดนม การใช้ไฟฟ้าเพื่อส่องสว่าง ปั๊มน้ำ เครื่องผสมอาหาร เครื่องสับต้นข้าวโพด รั้วไฟฟ้า และการใช้หลอดไฟไล่ยุงในช่วงกลางคืน เป็นต้น ทำให้เกษตรกรสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง หลายฟาร์มต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละกว่า 10,000 บาท

“อ.ส.ค.คาดว่า งานวิจัยนี้จะเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทางเลือกที่ผู้เลี้ยงโคนมสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับขนาดฟาร์มของตนเองได้ และเป็นทางออกช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าไฟฟ้า หรือช่วยเหลือกรณีฟาร์มที่มีปัญหาไฟตกหรือไฟดับได้อีกด้วย ทั้งยังช่วยยกระดับการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น” ดร.ณัฐภรกล่าว