กระทรวงวิทย์จับมือ 5 จังหวัดภาคอีสานลุยพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา  

24 ส.ค. 2559 | 09:05 น.
วันนี้(24 ส.ค.59) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ 5 จังหวัดทุ่งกุลา ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดมหาสารคาม ในการ พัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำ วทน.มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาตลอดห่วงโซ่คุณค่า พัฒนาและสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมข้าวไทยสู่ระดับสากล เพื่อผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้-งานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างสมดุล

ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสานต่อข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ลงนามเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558 ในการนำ วทน. มายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง โดยครั้งนี้ จะขยายขอบเขตความร่วมมือให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบตามที่ วท. และผู้ว่าฯ 5 จังหวัด เห็นชอบร่วมกัน ทำหน้าที่วางแนวทางปฏิบัติ และกำกับการดำเนินงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ติดตามและทบทวนการดำเนินงานให้มีการนำ วทน. ไปพัฒนาข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย คุณภาพชีวิตดีขึ้น และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นหัวหน้าทีมรับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ผ่านกิจกรรมวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ด้าน วทน. ในพื้นที่ทุ่งกุลา

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  วท. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดในรูปแบบประชารัฐ อาทิ เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด พัฒนาชุมชน ภาคเอกชน  โดยกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม อาทิ เกษตรกรและผู้ประกอบการเขตทุ่งกุลามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ผลผลิตข้าวหอมมะลิได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 การแปรรูปข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของปริมาณข้าวเปลือกในทุ่งกุลา เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตข้าวหอมมะลิลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นต้น