สพฉ.จับมือผู้ผลิตให้ความรู้ด้านแพทย์ฉุกเฉินผ่านละครทีวี

24 ส.ค. 2559 | 07:39 น.
สพฉ. จัดเวทีพลิกโฉมวงการทีวีไทย ให้ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ถูกต้องกับผู้จัดหนังละคร ผู้ผลิตรายการทีวี เตรียบจับมือบันทึกข้อตกลงร่วมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรม

สุภาษิต ที่กล่าวว่า ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว เป็นสุภาษิตคำพังเพยที่ให้เราได้กลับมานึกและทบทวนตัวเองเมื่อเสพสื่อละครต่างๆ

หากแต่ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตหนังและละคร อาจจะต้องทบทวนบทบาทตัวเองในการนำเสนอเรื่องราวการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะมีหลายครั้งมีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนเรื่องการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินในหนังละคร หรือ รายการทีวีต่างๆ จนอาจสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดให้กับประชาชนที่รับสารได้

ด้วยเหตุนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้จัดเวทีหารือความร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ โดยมีบริษัทผู้จัดละครให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ บริษัทโพลีพลัส บริษัททีวีซีน บริษัทโมโน 29 ฝ่ายผลิตรายการทีวี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 บริษัทกันตนา บริษัททีวีธันเดอร์ บริษัทฮูแอนด์ฮู นิตยสารไบโอสโคป์ บริษัทสกายคิก และบริษัทกราฟเฟอร์แอนไลท์ติ้งทีม

การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการนำเสนอข้อมูล ด้านการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยผู้จัดหนังละครได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และยังได้ร่วมกันหาทางออกในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานวิทยากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติยังได้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมงานถึงการถ่ายทำฉากที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องอาทิ การใช้เครื่องช๊อตหัวใจ การใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด และผู้เข้าร่วมงานยังได้รับการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องอาทิ การฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน cpr การช่วยคนจมน้ำ ช่วยคนเป็นโรคลมชัก ช่วยคนที่มีอาการหอบหืดกำเริบ คนที่ถูกงูกัดและการใช้งานสายด่วน1669 อย่างถูกวิธีด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการนำเสนอฉากเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ การช่วยชีวิตผู้ป่วยในฉากละครยังมีผู้ผลิตหนังละครทีวีบางแห่ง เสนอข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งเมื่อนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดก็จะเป็นการสร้างภาพจำให้กับประชาชนที่ผิด

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสพฉ. กล่าวว่า อยากให้ผู้ผลิตละครหนัง ทำเหมือนในต่างประเทศที่มีการเสนอนำหมายเลขที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ 1669 เพื่อให้ประชาชนได้รับสื่อที่ถูกต้อง เพราะหากประชาชนสามารถจดจำหมายเลขนี้ได้และได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้จริง ด้วยการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขนี้ถ้ามีคนรอดเพียงหนึ่งคนจากการดูละครก็เหมือนกันการที่เราได้ ทำความดีอย่างใหญ่ อย่างไรก็ตามเวทีนี้เป็นเวทีหารือครั้งแรก โดยสพฉ.ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เพื่อฝึกอบรมให้ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะลงบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท ผู้ผลิตละครต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง

ขณะที่นายพีรพล เธียรเจริญ ผู้กำกับละครชื่อดังจากค่ายโพลีพลัสซึ่งฝากผลงานผ่านจอแก้วมาแล้ว หลากหลายเรื่อง อาทิ แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา ซินเดอเรลล่ารองเท้าแตะ เธอกับเขาและรักของเรา กล่าวถึงความรู้สึกในการร่วมเวทีหารือในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับความจริงว่าการผลิตละครที่ผ่านมา ไม่ได้มีความเข้าใจในการปฐมพยาบาลมากเพียงพอ มีการใช้ข้อมูลจากการบอกต่อกัน เพราะเมื่อก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ตให้สืบค้นข้อมูล และไม่มีการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย ซึ่งที่ผ่านมาวิธีของการผลิตละครของเราเมื่อต้องมีฉากที่ต้องปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินเราก็จะประสานกับอาสาสมัครซึ่งในบางครั้งเราก็จะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่โดยส่วนตัวหากประเด็นไหนที่ตนรู้สึกว่าไม่ชัดเจน และไม่รู้อย่างแท้จริงก็จะตัดฉากนั้นออกไปจากละคร

“ที่สำคัญทุกวันนี้เมื่อประชาชนเข้าถึงสื่อได้ง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวีดิจิตอลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย หรือแม้กระทั่งสื่ออินเตอรเน็ต พวกเราเองก็จะถูกตรวจสอบและจับตามากขึ้นว่าได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้กับพวกเราหรือไม่ ซึ่งพวกเราก็ต้องปรับตัวให้การนำเสนอข้อมูลของเรามีเหตุมีผลมีความสมจริง และถูกต้องมากขึ้น ซึ่งการอบรมในวันนี้มีประโยชน์อย่างมากในการทำงานในฐานะที่เป็นผู้กำกับที่จะได้นำ ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องไปใช้ในการผลิตละครที่มีคุณภาพและมีประโยชน์กับประชาชนต่อไป

และหากสพฉ.จัดหลักสูตรอบรมตนก็จะเข้าร่วมอีกอย่างแน่นอน ซึ่งผู้จัดละครค่ายอื่นๆก็ควรที่จะมาร่วมกัน เพื่อให้ประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนต่อไป”ผู้กำกับมือทองระบุ

ด้านนายสยมพร สุวรรณภูมิ ผู้กำกับภาพยนตร์เชอรี่เดอะซีรีย์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า ทุกครั้งที่จะต้องนำเสนอฉากเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน ก็จะพยายามหาขอมูลให้มากที่สุดจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ส่วนตัวอาจจะโชคดีที่รู้จักกับสพฉ. จึงทำให้ในการนำเสนอฉากเหล่านี้จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยในฉากที่ตัวเอกจะต้องเรียกคนมาช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน ตนกำหนดให้ในบทระบุถึงเบอร์ 1669 เพื่อให้ประชาชนจำได้ ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อผู้จัดละครได้รับทราบว่าสามารถขออข้อมูลจากทางสพฉ.ได้ ก็จะทำให้การนำเสนอข้อมูลเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

การหารือร่วมในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างผู้จัดหนังละคร ที่จะได้มีการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยความมุ่งหวังอันสูงสุด เมื่อประชาชนได้รับสื่อโทรทัศน์และมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งการใช้งานสายด่วน 1669 ก็จะเป็นห่วงโซ่ที่จะช่วยให้เขาและคนรอบตัวรอดชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้

นี่จึงเป็นก้าวย่างที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งของวงการทีวีไทย