‘บิ๊กตู่’เร่งงบค้างท่อ คมนาคมรับลูก กันยายนจ่อประมูล 100 สัญญา

26 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ครม.คลอด 3 มาตรการเข้มสั่งทุกกระทรวงเร่งเบิกจ่ายงบปี 59 กระตุ้นลงทุน-พัฒนาคน ด้านคมนาคมสนองรัฐใช้งบช่วงโค้งสุดท้ายเกือบ 80% พร้อมจี้ทล.-ทช.ใช้งบที่เหลือรวมกันเฉียด 2 หมื่นล้าน ขณะที่ร.ฟ.ท.-ขสมก.อืด ด้าน กทพ.นำโด่งเบิกครบ 100% พบ 7 งานค่ากว่า 400 ล้านรอเซ็นสัญญา รับเหมาจับตางบกระตุ้นศก.ระยะ 2 “บิ๊กก่อสร้าง” ชี้ก.ย.นี้ประมูลโครงการขนาดใหญ่กว่า 100 สัญญา

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งกำลังจะจบปีในสิ้นเดือนกันยายนนี้

หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐไตรมาส 4 ปี 2559 เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายและรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงินงบประมาณทั้งหมด 31,500 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายประจำเร่งรัดให้เบิกจ่ายอย่างน้อย 33% หรือ 1 ใน 3 ภายในไตรมาสแรก หรือสิ้นปีนี้ กรณีการเบิกจ่ายสำหรับการฝึกอบรมประชุมสัมมนาให้เบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนรายจ่ายลงทุนถ้าไม่ถึง 2 ล้านบาท ให้ก่อหนี้และเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้ อยู่ระหว่าง 2 -1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน หากมากกว่า 1,000 ล้าน ให้ก่อหนี้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า หรือภายในเดือนมีนาคม 2560

มาตรการที่ 2 คือ กระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินงบประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณได้ประสานกับทางส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ( อปท.)ให้จัดทำรายละเอียดรายการรายจ่ายและลงทุน เสนอรองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนความมั่นคง และนโยบายของรัฐบาล ภายในวันที่ 1 กันยายน 2559 และมาตรการที่ 3 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลกรและองค์กร โดยให้ใช้งบประมาณที่เหลือจ่ายจากปี 2559 ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2559

คมนาคมเบิกจ่ายเฉียด 80%

ด้านกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับปีงบประมาณ 2559 ปรากฏว่าผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ประมาณ 77% จากกรอบวงเงินทั้งสิ้นกว่า 133,506 ล้านบาท โดยรัฐบาลกำหนดเป้าเบิกจ่ายไว้ที่ 90 % ด้านการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนนั้นทำได้ประมาณ 76% คิดเป็นมูลค่า 92,941 ล้านบาท จากวงเงินรวม 121,667 ล้านบาท

นายชาติชาย สุทิพย์นาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้ในส่วนหน่วยราชการที่ได้รับจัดสรงบประมาณก้อนใหญ่ เช่น กรมทางหลวง (ทล.) เบิกจ่ายแล้วประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท จากงบจัดสรรกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 77% กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เบิกจ่ายประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท จากงบจัดสรรกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 80% โดยหน่วยงานที่ยังต้องเร่งรัดคือกรมเจ้าท่าที่ได้รับงบ 4,458 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายได้เพียง 1,760 ล้านบาท คิดเป็น 39.48%

"ภาพรวมการเบิกจ่ายของทล.ที่ได้รับงบทั้งสิ้นกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทคงเหลือรอเบิกจ่ายอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาทหรือกว่า 13% โดยในส่วนงบลงทุนนั้นพบว่ารอเบิกจ่ายอีกเกือบ 15% ยังต้องเร่งรัด เช่นเดียวกับทช.ที่ได้รับงบทั้งสิ้นกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท คงเหลือเบิกจ่ายอีกเพียง 8,927 ล้านบาทหรือคิดเป็น 19.86% โดยพบว่าเป็นงบลงทุนหลายรายการ ดังนั้นทั้ง 2 หน่วยงานยังเหลืองบเบิกจ่ายรวมกันเกือบ 2 หมื่นล้านบาท"

ส่วนหน่วยรัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบิกจ่ายแล้วเกือบ 1.9 หมื่นล้านบาท จากงบจัดสรรกว่า 2.05 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 92% การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)เบิกจ่ายได้ 100% จากงบจัดสรร 550 ล้านบาท ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับจัดสรรงบกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท แต่เบิกจ่ายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ยังต้องเร่งรัดเช่นกัน

ยังไม่เซ็นสัญญาอีก7โครงการ

นอกจากนั้นยังพบอีกว่าการดำเนินงานมี 7 รายการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 422 ล้านบาท ได้แก่ โครงการของกรมเจ้าท่า จำนวน 2 รายการ วงเงิน 137 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.การจัดซื้อเรือตรวจการณ์ วงเงินปี 2559 จำนวน 29 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปี 2560 อีก 116 ล้านบาท 2.อาคารที่ทำการของกรมเจ้าท่า วงเงินรวม 774 ล้านบาท ปี 2559 งบ 154 ล้านบาท และผูกพันปี 2560 วงเงิน 309 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 309 ล้านบาท

กรมท่าอากาศยาน 3 รายการ รวมวงเงิน 159 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าซ่อมบำรุงผิวทางวิ่งและไหล่ทางวิ่ง ท่าอากาศยานกระบี่, สุราษฎร์ธานี และแม่ฮ่องสอน และกรมทางหลวง อีก 2 รายการ วงเงินรวม 124 ล้านบาท ในโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีงานทางกรุงเทพมหานคร

"ทั้งนี้ได้ยกโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทบ.หมายเลข 403(ช่วงแยกทุ่งสง) จ.นครศรีธรรมราชจำนวน 1 แห่งของทล.ออกมาเนื่องจากมีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทคาดว่าจะลงนามสัญญา 15 กันยายนนี้ ส่วนรายการอื่นๆนั้นคาดว่าจะมีการทยอยลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาไปจนถึงช่วงกลางเดือนกันยายน 2559"นายชาติชายกล่าว

งบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ2รอระบาย

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังมีงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (เงินกู้) ที่ ทล.-ทช. ได้รับนำไปพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนจำนวน 2,611 รายการวงเงินกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท ลงนามสัญญาแล้ว 2,610 รายการวงเงินกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาเบิกจ่ายรวมคิดเป็น 91.01% ในส่วนของทล.งวดแรกจำนวน 851 รายการผลการเบิกจ่ายได้กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท งวดที่ได้รับเพิ่มเติมมาอีก 23 รายการ วงเงิน 243 ล้านบาทได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 22รายการ ล่าสุดในส่วนงบกลางปี 2559 ได้รับในส่วนงานบำรุงรักษาทางหลวง 231 รายการที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้ 1,944 ล้านบาท อยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้างอีกเพียง 84 รายการเท่านั้น

ส่วนทช.นำไปดำเนินโครงการปรับปรุงถนนเชื่อมโยงพื้นที่เกษตรและแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 37 โครงการวงเงิน 390 ล้านบาท และถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2โครงการวงเงิน 41 ล้านบาทลงนามครบทุกสัญญาแล้วโดยในส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติม(งบกลาง) รายการค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปนั้นในส่วนทช.จัดเป็นค่าบำรุงรักษาทาง 357 รายการวงเงิน 2,000 ล้านบาท ประกาศประกวดราคาแล้ว 162 รายการ รอลงนาม 190 รายการจะลงนามในสัญญาครบทุกรายการภายในกันยายนนี้และจะก่อสร้างแล้วเสร็จทุกรายการในเดือนธันวาคม 2559

โครงสร้างพื้นฐานเริ่มขยับ

สำหรับความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมนั้น การเบิกจ่ายโครงการมอเตอร์เวย์ของทล.ทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี งบประมาณปี 2559 วงเงิน 3,000 ล้านบาท เบิกค่าเวนคืนได้เพียง 514 ล้านบาทเท่านั้น ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 9 ตอนจากทั้งสิ้น 25 ตอน ช่วง พัทยา-มาบตาพุด ผลการเบิกจ่ายปี 2559 วงเงิน 4,050 ล้านบาท จากแผน 5,422 ล้านบาท และช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ผลการเบิกจ่ายปี 2559 จำนวน 2,221 ล้านบาทจากแผน 6,890 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ซึ่งเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเรียบร้อย และทยอยเบิกจ่ายค่าก่อสร้าง โดยเดือนกันยายนจะเป็นงวดที่ 5

งบปี 60 ตั้งไว้ 1.9 แสนล.

สำหรับปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2560 กระทรวงคมนาคมได้เสนอวงเงินงบประมาณไว้ที่ 1.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่า 7,600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณในส่วนราชการ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานหลัก เช่น กรมทางหลวง เสนอวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท, กรมทางหลวงชนบท อีก 4.6 หมื่นล้านบาท, กรมเจ้าท่า 4,900 ล้านบาท, กรมการขนส่งทางบก 3,800 ล้านบาท และกรมท่าอากาศยาน 3,200 ล้านบาท ส่วนหน่วยรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. 1.9 หมื่นล้านบาท, รฟม. 1.8 หมื่นล้านบาท, ขสมก. 5,000 ล้านบาทเศษ การทางพิเศษ 240 ล้านบาท

ไตรมาส 3 จัดประมูลมากสุด

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า ในครึ่งหลังของปีนี้กระทรวงคมนาคมจัดการประกวดราคาค่อนข้างมาก และเป็นงานก่อสร้างขนาดใหญ่วงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาทเกือบทั้งสิ้น และโครงการที่เปิดประมูลนั้นไม่ใช่แค่งบประมาณของปีงบประมาณ 2559 ยังมีโครงการของปีงบประมาณหน้าด้วย

"ปีนี้งานประมูลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไตรมาส 3 จะมีปริมาณงานมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด แค่กรมทางหลวงหน่วยงานเดียวก็มีงานประมูลออกมามาก โดยโครงการมอเตอร์เวย์ 2 เส้นคือ บางใหญ่-บ้านโป่ง และเส้นบางปะอิน-นครราชสีมา รวมกันมีทั้งหมด 80-90 สัญญา และในเดือนกันยายนนี้ก็คาดว่าจะมีงานประมูลสำหรับโครงการขนาดใหญ่ๆอีก 30-40 สัญญา ถือว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี"

แหล่งข่าวระดับสูงบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าหนึ่งในโครงการที่รับดำเนินการอยู่คือการก่อสร้างศูนย์การรับส่งสินค้าทางรถไฟ(SRTO) ที่แหลมฉบัง ยังพบการเบิกจ่ายล่าช้าบ้าง แต่การก่อสร้างในภาพรวมยังเป็นไปตามแผน เนื่องจากกระบวนการเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติยังพบว่าการส่งมอบงานบางช่วงบางตอนยังมีความล่าช้าอยู่บ้าง อาทิ การรื้อรางรถไฟออกไปก็พบว่าทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ไม่ยินยอมเพราะจะไม่สามารถขนส่งสินค้าได้จึงต้องสร้างรางใหม่ขึ้นมาแล้วจึงค่อยไปรื้อรางเก่าออกไปส่งผลให้ใช้ระยะเวลาดำเนินการที่มากขึ้นไปอีก

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทแม็กซ์เครนแมซซินนารี่ จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถเครนซานี่ กล่าวว่า ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในกลุ่มผู้รับเหมาเริ่มมีออร์เดอร์กล้าที่จะสั่งซื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่รับงานภาครัฐไปดำเนินการแต่หลายรายยังพบว่าได้รับการเบิกจ่ายงบที่ต้องใช้เวลาตั้งเบิกและรับเงินที่มีระยะเวลานานกว่าเดิม จากเดิม 3 เดือนอาจจะขยายเป็น 4 เดือนจึงกระทบสภาพคล่องในบางช่วงได้เช่นกัน แนวทางหนึ่งนั้นคือเร่งงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้เบิกงบได้เร็วขึ้นเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการโครงการอื่นต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559