‘ท่าอากาศยาน’ยกเครื่อง 28 สนามบิน สปีดแผนพีพีพีกระบี่6พันล้าน

26 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
จุฬา"เดินหน้าทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการสนามบิน 28 แห่ง วางเป้าหมายใน 4 ปีนี้ จะยกระดับทุกสนามบินให้มีมาตรฐานเดียวกัน มุ่งทั้งเซฟตี้และเซอร์วิส เริ่มจากสนามบิน 6 แห่งที่มีผู้โดยสารเกิน 1 ล้านคน ชูเรื่องเร่งด่วนปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยใน 3 สนามบินรับการตรวจสอบจาก ICAO ปี 61 ด้วยงบ 300 ล้านบาท ทั้งเร่งเครื่องแผนลงทุนสนามบินกระบี่เข้าโครงการพีพีพีมูลค่า 6 พันล้าน รองรับนักท่องเที่ยว 8 ล้านคนใน 20 ปี

[caption id="attachment_89791" align="aligncenter" width="335"] จุฬา สุขมานพ  อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จุฬา สุขมานพ
อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)[/caption]

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือกพท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในขณะนี้ทย.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการบริหารจัดการสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ ภายใต้เป้าหมายการยกระดับท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 28 แห่งให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ในช่วงระยะเวลา 4 ปีนี้ ซึ่งจะเน้นการสร้างมาตรฐานใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องความปลอดภัย 2.การรักษาความปลอดภัยและ3.การให้บริการของสนามบิน

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ2560 คือการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย ใน 3 สนามบินนานาชาติของทย. ได้แก่ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินอุดรธานี และสนามบินกระบี่ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะใช้งบในการดำเนินการราว 300 ล้านบาทในการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับกรณีการสุ่มตรวจในโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Ptogramme : USAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ในช่วงปี 2561 และจะเป็นสนามบินนำร่องในการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นสนามบินนานาชาติ จากนั้นในปีถัดๆไปก็จะทยอยดำเนินการในส่วนของสนามบินที่เหลือให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ทย.ได้แบ่งกลุ่มท่าอากาศยานออกเป็น 3 กลุ่มโดยกลุ่มที่ 1 ได้แก่ สนามบินที่มีปริมาณผู้โดยสารเกิน 1 ล้านคน มี 6 สนามบิน คือ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี สนามบินอุบลราชธานี สนามบินสุราษฏร์ธานี สนามบินนครศรีธรรมราช และสนามบินขอนแก่นกลุ่มที่2 เป็นสนามบินที่มีการใช้งานปานกลาง มีผู้โดยสารอยู่ที่ 2 แสน-1 ล้านคน มี 9 สนามบิน อาทิ สนามบินตรัง สนามบินพิษณุโลก สนามบินลำปาง และกลุ่มที่3 เป็นสนามบินที่มีปริมาณงานน้อย มีผู้โดยสารต่ำกว่า 2 แสนคน มี 10 สนามบิน อาทิ สนามบินแม่ฮ่องสอน สนามบินชุมพรสำหรับใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการสนามบินต่างๆให้เหมาะสม จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะเริ่มจากการยกระดับการบริการของสนามบินในกลุ่มที่ 1 ก่อน เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการมาก

ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี2549-2558) มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของทย.เติบโตถึง409%หรือ 4 เท่า (จาก 3.10 ล้านคนเป็น12.7 ล้านคน)รวมถึงนโยบายในการทำการบินที่กำหนดให้สายการบินที่ทำการบินในเส้นทางสายหลัก ต้องทำการบินเส้นทางสายย่อยด้วย ก็ส่งผลให้ในระยะหลังนี้มีการเดินทางข้ามภาคมากขึ้น ซึ่งก็จะเอื้อต่อการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่มาใช้บริการสนามบินในภูมิภาคเพิ่มขึ้นแต่ที่ผ่านมาการพัฒนาไม่ได้โตตามไปด้วย ดังนั้นทย.ต้องมีทิศทางในการบริหารจัดการสนามบินต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

นายจุฬา ยังกล่าวต่อว่า การพัฒนาการบริการของสนามบิน จะดูทั้งในแง่ของการเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร และการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในสนามบิน ซึ่งในสนามบินที่มีผู้โดยสารใช้บริการเกิน 1 ล้านคนทย.มองถึงการวางแผนในการขยายศักยภาพของสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร โดยจะนำร่องที่สนามบินกระบี่ ที่จะผลักดันให้เกิดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(Public Private Partnership-PPP)เพื่อให้เอกชนมีโอกาสเข้ามาพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และเพิ่มลานจอดอากาศยาน เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น6-8 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่ามูลค่าการลงจะอยู่ที่ราว 6 พันล้านบาทยังไม่รวมการปรับปรุงอาคารเดิม

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ได้รับอนุมัติงบให้ศึกษาการทำ พีพีพี แล้ว วงเงิน 25 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินจากกองทุนที่ทย.จัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการกับสายการบินต่างๆที่มีวงเงินอยู่ราว 600-700 ล้านบาทต่อปี คาดว่าใช้เวลาศึกษาอีกราว 4 เดือนน่าจะมีรูปแบบที่ชัดเจนในการเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้าลงทุนและบริหารสนามบิน อาจจะอยู่ที่ราว 30 ปีขึ้นกับเงื่อนไขการทำพีพีพี และกว่าจะได้ขออนุมัติก็น่าจะอีกราว 9 เดือนมั่นใจว่าหากผลักดันให้โครงการนี้ทำพีพีพี ได้เอกชนจะสนใจมาก เพราะเป็นสนามบินที่มีการเติบโตของผู้โดยสารสูงมาก และยังประหยัดงบลงทุนของรัฐ รวมถึงทำให้แผนการลงทุนดำเนินการเร็วกว่าการลงทุนของรัฐ และทันกับดีมานด์การเติบโตของผู้โดยสาร

ขณะที่การบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ทย.เริ่มทยอยการจ้างเอาต์ซอร์ซในบางกิจกรรมแล้ว เช่น การบริหารที่จอดรถ หรือแม้แต่เจรจากับทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้มาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถซึ่งปตท.จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และจ่ายค่าเช่าให้ทย. โดยรายได้จากค่าเช่าก็จะส่งให้ทางกรมธนารักษ์ สัญญา 3 ปี สามารถต่อเพิ่มได้อีกครั้งละ 3 ปี ต่อเพิ่มได้อีก 2 ครั้ง รวมแล้ว 9 ปี กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการระยะแรกในเดือนธันวาคม2559 และทย.มีการคุมราคาขายสินค้าว่าไม่ให้แพงกว่าราคาตลาด 10%สินค้าต้องมีคุณภาพดี และต้องมีพื้นที่ขายสำหรับสินค้าโอท็อป ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นแปลงสาธิต ที่เริ่มดำเนินการพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน หากไปได้ดีก็จะดำเนินการลักษณะนี้ในท่าอากาศยานอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้โดยสารให้เกิดความสะดวกสบายและเกิดความพึงพอใจต่อไป

"บทบาทของทย.ในแง่ของการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ควรมองว่าตัวเองเป็นเพียงแลนด์ลอดจ์หรือเจ้าของพื้นที่การบริหารจัดการควรให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญไปดำเนินการแทน เพราะจะทำให้ได้ร้านค้าและการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกมีความเป็นมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ของทย.ก็จะไปทำหน้าที่หลักคือบริหารจัดการสนามบินจริงๆ ไม่ใช่ต้องลงไปหาร้านค้ามาลงหรือทำทุกเรื่องในเรื่องเชิงพาณิชย์ซึ่งไม่มีความถนัดในเรื่องนี้"

นายจุฬา ยังกล่าวต่อว่าในขณะนี้ทย.นำร่องในเรื่องดังกล่าวที่สนามบินอุดรธานี ได้ก่อนเพราะเป็นพื้นที่ใหม่ ที่ไม่ติดสัญญาเช่าจากผู้ประกอบการร้านอื่น แต่ในขณะนี้ได้ให้นโยบายไปแล้วต่อไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ในทุกอากาศยานหากสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์หมดสัญญาก็จะไม่มีการต่อสัญญา เพื่อเคลียร์พื้นที่ ให้สามารถนำไปทยอยเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินต่างๆเหล่านี้ต่อไป ขณะที่พื้นที่จอดรถ ก็สามารถเปิดเอาต์ซอร์ซให้เอกชนมาดำเนินการ หรือมาลงทุนได้ เพราะทุกวันนี้ที่จอดรถของสนามบินส่วนใหญ่ เป็นการจอดฟรี คนเลยเอามาจอดกันมาก ดังนั้นต่อไปหากเราต้องยกระดับเพื่อสร้างมาตรฐาน หรือต้องเก็บเงินผู้ใช้บริการ การพัฒนาที่เกิดขึ้นต้องทำให้เห็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ส่วนสนามบินที่มีผู้โดยสารน้อย ทย.ก็ยังคงต้องเปิดให้บริการอยู่ เนื่องจากมีเครื่องบินของราชการ และทหารเข้ามาใช้งาน แต่อาจจะตอบโจทย์การให้บริการของเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งก็ต้องมองแนวทางการพัฒนาในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ ซึ่งก็มีเอกชนบางราย แสดงความสนใจจะขอเช่าพื้นที่ทำศูนย์ซ่อมอากาศยาน แต่ทั้งนี้ใครที่แสดงความสนใจ ทย.จะบอกให้ไปทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อน เพื่อนำมาเสนอ เพื่อเป็นการสกรีนในระดับหนึ่งถึงความตั้งใจในการลงทุน ไม่ใช่แค่เข้ามาเสนอโครงการ เพื่อนำไปขายโครงการต่อ นายจุฬา กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559