เจโทรนำทัพเจ-ป๊อปบุกต่างแดน ยํ้านโยบาย‘คูล เจแปน’กระตุ้นส่งออกคอนเทนต์บันเทิง

26 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
การปรากฏตัวของนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในชุดเสื้อและหมวกแดงของ “ซูเปอร์มาริโอ” ตัวการ์ตูนในเกมยอดฮิต ท่ามกลางพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงริโอ เดอ จาเนโรประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมการนำเสนอพรีเซนเตชันแสดงความพร้อมของประเทศญี่ปุ่นที่จะทำหน้าที่เจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปที่กรุงโตเกียวภายใน 4 ปีนับจากนี้ นับเป็นการตอกย้ำให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ญี่ปุ่นภูมิใจนำเสนอยุทธศาสตร์ “คูล เจแปน” เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

[caption id="attachment_89819" align="aligncenter" width="500"] นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ (ขวา) นางสาวโทโมโกะ มาสุดะ (ซ้าย), นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ (ขวา)[/caption]

นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ “คูล เจแปน” (Cool Japan) ซึ่งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกวัฒนธรรม-บันเทิง หรือ เจ-ป๊อป (J-pop) ของญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจลิขสิทธิ์เนื้อหา (คอนเทนต์) ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี เกม และการ์ตูน (ครอบคลุมช่องทางสื่อต่างๆ อาทิ ทีวี ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน และการ์ตูนดิจิตอลผ่านจอสมาร์ทโฟน) รวมถึงลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์การ์ตูน เป็นกลยุทธ์บันได 3 ขั้น โดยขั้นแรกจะเป็นการสร้างความตระหนักและเผยแพร่ให้ผู้ชมหรือผู้บริโภคในต่างแดนได้รู้จักและเกิดความนิยมชมชอบในเจ-ป๊อปรูปแบบต่างๆ ดังที่กล่าวมา เป็นการสร้างกระแส “ญี่ปุ่นนิยม” ในต่างประเทศ ผ่านแคมเปญการตลาดสำหรับผู้บริโภค การจัดสัมมนา หรือกิจกรรมการตลาดผสมการแสดงดนตรี เช่นงาน Anime Festival Asia Thailand 2016 หรือ AFATH 2016 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยงานดังกล่าวมีบริษัทญี่ปุ่นในธุรกิจบันเทิง เกม และดนตรี เข้าร่วม 10 ราย และศิลปินเพลงจากญี่ปุ่นที่มาเปิดมินิคอนเสิร์ตอีกคับคั่ง

ขั้นที่ 2 คือ การจำหน่ายสินค้าและบริการที่เป็นเจ-ป๊อปในตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายให้มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งนำไปสู่ขั้นที่ 3 คือการเชิญชวนให้ชาวต่างชาติอยากมาสัมผัสเจ-ป๊อปในประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งจุดนี้ก็จะมีผลพลอยได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในที่สุด จากข้อมูลของสำนักคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นพบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายคูล เจแปนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยในปี 2559 นี้มีการอัดฉีดงบประมาณส่งเสริมกิจกรรมต่างๆภายใต้นโยบายดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 35.3 พันล้านเยนในปี 2558 เป็น 37.6 พันล้านเยน

นางสาวโทโมโกะ มาสุดะ ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ฝ่ายธุรกิจบริการ จากเจโทรสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายใต้นโยบาย “คูล เจแปน” รัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายส่งเสริมการส่งออกสินค้าเนื้อหาด้านวัฒนธรรม-บันเทิง ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านเยนภายในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 3 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเมื่อพูดถึงการส่งออกเนื้อหาด้านวัฒนธรรม-บันเทิงของญี่ปุ่น เนื้อหาส่วนที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ การ์ตูน (ทั้งในรูปหนังสือและ E-book ซึ่งดูได้ทางหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ตามมาด้วย เกม คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน และแอนิเมชัน

ผู้แทนจากเจโทรยังกล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยนั้น นับว่าเป็นตลาดที่มีความคุ้นเคยกับเนื้อหาด้านวัฒนธรรมและความบันเทิงจากญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาถึงตลาดต่างประเทศทั่วโลกที่ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าประเภทแอนิเมชัน (การ์ตูนญี่ปุ่น) ไปจำหน่าย จะพบว่า ไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 โดยมีการทำสัญญาซื้อขายสินค้าในกลุ่มแอนิเมชันระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทญี่ปุ่นถึง 54 สัญญา เป็นรองจากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน จีน และแคนาดา ตามลำดับ แต่หากจำกัดวงแคบลงเป็นเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กลุ่มอาเซียน) ประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าประเภทแอนิเมชันของญี่ปุ่น ตามมาด้วยอันดับ 2 และ 3 คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ตามลำดับ ดังนั้น ไทยจึงเป็นตลาดที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญและทำธุรกิจร่วมด้วยมากที่สุดในอาเซียนเมื่อพูดถึงธุรกิจด้านเนื้อหาวัฒนธรรมและความบันเทิง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559