ดับกระแสส.ว.เลือกนายกฯ

27 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
ฝุ่นตลบที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มาตลอดทั้งสัปดาห์ เมื่อมีการขับเคลื่อนให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ปรับแก้ถ้อยคำ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของสนช. ที่ก็ผ่านประชามติมาเช่นกัน ที่ว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฎิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

โดยบทบัญญัติหลักในรัฐธรรมนูญระบุ การจะได้ตัวนายกฯนั้น พรรคการเมืองต้องเสนอ 3 รายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และส.ส.จะโหวตเลือกจากรายชื่อในบัญชีพรรคที่มีเสียงเกิน 5 % ขึ้นไปเท่านั้น

หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคได้ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ระบุ เสียงข้างมากของส.ส.เสนอรัฐสภา ขอมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรค ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา คือ ทั้งส.ส.และส.ว. จากนั้นให้ส.ส.ไปสรรหานายกฯใหม่โดยสามารถเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีก็ได้

แต่จากประชามติเห็นชอบคำถามพ่วงที่สนช.เสนอข้างต้น ระบุให้ใน 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรธน.นี้ "ให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ"

ในคำถามพ่วงระบุสมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า..... ความเข้าใจของคนที่ออกเสียงทั่วไปคือ ไปปรับแก้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่ว่า คือแทนที่จะกลับไปใช้ม. 159 ที่ให้สภาผู้แทนฯเลือกนายกฯ ก็ไปปรับแก้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ว่า ต่อจากใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภารับรองไม่ต้องใช้บัญชีพรรคในการเสนอชื่อนายกฯ แล้วก็ใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาโหวตชื่อนายกฯ จากการเสนอของส.ส. ซึ่งอาจเป็นบัญชีพรรคหรือคนภายนอกก็ได้

แต่มีสนช.หลายคนดาหน้าออกมา รวมถึงกระทั่ง"พรเพชร พิชิตชลชัย" ประธานสนช. ชี้ว่า เมื่อประชาชนรับรองคำถามพ่วงที่ระบุให้ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ขยายความต่อว่า หมายถึงให้ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯและร่วมโหวตได้ทันทีตั้งแต่ขั้นตอนแรก ซึ่งนั่นคือ ต้องเขียนบทเฉพาะกาลขึ้นมายกเว้นความในมาตรา 159 ว่าด้วยการโหวตชื่อนายกฯของส.ส. ไม่ให้ใช้ใน 5 ปีแรก

จนถูกกระแสสังคมตีโต้ "ได้คืบเอาศอก"

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ที่กลายเป็นจุดศูนย์กลางกระแสความเคลื่อนไหวการเมือง เมื่อมีคนประกาศตั้งพรรคเพื่อหนุนเป็นนายกฯคนนอกทันทีนั้น ตอบแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ผูกมัดเส้นทางเดินในอนาคต เพียงย้ำยังไม่ถึงเวลา

แต่ในประเด็นเรื่องอำนาจโหวตเลือกนายกฯคนนอกของส.ว.นั้น ส่งสัญญาณชัดว่า มี 2 ขั้นตอน คือ ส.ส.เลือกกันก่อน เลือกไม่ได้แล้วค่อยมาถึงส.ว.

จนถึงท่าทีล่าสุด"มีชัย ฤชุพันธ์"ดับกระแสแล้ว เมื่อยืนยันการปรับแก้เป็นหน้าที่กรธ. ส่วนความเคลื่อนไหวสนช.โดยอ้างเพื่อเป็นแนวทางเผื่อไว้เป็นทางออกจากทางตัน "คงสายไปแล้ว" เพราะหากต้องการเสนอจริง ควรเสนอตั้งแต่กรธ.อยู่ระหว่างการร่างรธน. และยืนยัน"จะยึดคำถามพ่วงเป็นหลัก จะเขียนเป็นอื่นไปไม่ได้"

ซึ่งที่จริงแล้ว แม้จะผ่านด่านกรธ.ในการปรับแก้ถ้อยคำในรธน.ไปแล้ว ยังต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรองอีกชั้น แต่เมื่อทั้งนายกฯและอ.มีชัยออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนแล้ว ว่าอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ เป็นประตู 2

ดับกระแสร้อนทันควัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559