‘เทคโนโลยีอวกาศกับการบริหารจัดการ ความเสี่ยงอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย’

28 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลายประกอบกับเทคนิคการวิเคราะห์สีและการสะท้อนของแสงเมื่อมีการถ่ายภาพจากดาวเทียมทำให้เกิดการสร้างข้อมูลที่สามารถติดตามสภาวะต่างๆ ของพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา โดยยังสามารถครอบคลุมทั่วประเทศ (หรือในบางกรณีทั่วโลก) ซึ่งถูกจัดเก็บและประมวลผลเป็นระบบ ข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจและนโยบาย ซึ่งถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจหรือการใช้ทรัพยากรในระดับพื้นที่ ที่ไม่มีข้อมูลหรือการเก็บข้อมูลเป็นไปได้ยาก โดยในหลายประเทศข้อมูลดาวเทียมได้ถูกนำมาใช้ในภาคเกษตร เช่น การวางแผนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ (precision farming) การควบคุมปริมาณผลผลิตในตลาดเพื่อลดความเสี่ยงทางราคา การประกันภัยพืชผล ทั้งนี้ การนำข้อมูลจากดาวเทียมไปประยุกต์ใช้จึงต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาประกอบด้วย

[caption id="attachment_90151" align="aligncenter" width="700"] ข้อมูลดาวเทียมภาคเกษตร ข้อมูลดาวเทียมภาคเกษตร[/caption]

งานวิจัยนี้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาสร้างฐานข้อมูลเพาะปลูกและความเสี่ยงของเกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทย ซึ่งทุกๆปี ประมาณหนึ่งในห้าของเกษตรกร 6.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศประสบปัญหาผลผลิตหรือรายได้ตกต่ำ เนื่องจากขาดข้อมูลที่มีคุณภาพ และวิธีการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำ ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้รับประกันภัย แม้รัฐบาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เองก็ยังขาดข้อมูลที่มีคุณภาพในการพุ่งเป้าความช่วยเหลือและในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลังที่ยั่งยืน

ข้อมูลดาวเทียมสามารถสะท้อนการเพาะปลูกและความเสี่ยงของชาวนาได้จริงหรือ?

ข้อมูลดาวเทียม Terra MODIS และ Radarsat ที่มีความถี่และความละเอียดสูงทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถใช้ในการติดตามสถานะการเพาะปลูกแบบใกล้เคียงเวลาจริงตลอดจนนำมาสร้างสถิติความเสี่ยงเกษตรกรจากข้อมูลจากดาวเทียมระยะเวลา 16 ปี ในอดีตของแต่ละพื้นที่กว่าหกสิบล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบกับข้อมูลการเพาะปลูกจริงรายครัวเรือนจากการสำรวจของหลายสำนัก พบว่าการประมาณการเพาะปลูกและความเสียหายมีความแม่นยำโดยเฉลี่ยถึง 80% และ 75% ตามลำดับ และในบางกรณีมีความแม่นยำกว่าข้อมูลรายพื้นที่ ที่ถูกจัดเก็บโดยภาครัฐ โดยความแม่นยำจะยังไม่สูงมากนักสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีความหลากหลายของการเพาะปลูก

แล้วจะนำฐานข้อมูลเกษตรที่มีคุณภาพนี้ไปพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ยั่งยืนให้ชาวนาอย่างไร?

งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าฐานข้อมูลที่มีคุณภาพเช่นนี้หากเข้าถึงได้โดยทุกภาคส่วนจะช่วยสนับสนุนเกษตรกร เอกชนผู้รับประกันภัย และรัฐ ดังนี้ (1) ให้ตัวเกษตรกรเองใช้ข้อมูลในการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง (2) ให้เกิดการพัฒนาระบบตลาดประกันภัยที่ยั่งยืน โดยลดต้นทุน และช่วยให้ผู้รับประกันภัยสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือสินเชื่อพ่วงกับประกันภัยประเภทต่างๆ เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงิน หรือรัฐบาลได้นำมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงภัย ตลอดจนสามารถกำหนดอัตราเบี้ยประกันที่เป็นธรรมตามสถิติความความเสี่ยงที่แท้จริง และ (3) ข้อมูลความเสี่ยงของเกษตรกรทั้งระบบก็จะช่วยให้ภาครัฐสามารถออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิด Public-Private Partnership โดยผนวกความช่วยเหลือของรัฐเข้ากับการผลักดันตลาดประกันภัยและการปรับตัวของเกษตรกรได้

การศึกษานี้เป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่งซึ่งมุ่งหวังจะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงศักยภาพของการบูรณาการและการลงทุนในเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลภาคการเกษตรที่มีคุณภาพและครบวงจร ตลอดถึงการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการกำหนดบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐเพื่อให้เกษตรกรจัดการความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง และเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันในตลาดประกันภัยอย่างยั่งยืน เพื่อความมีเสถียรภาพของเกษตรกร ระบบการเงินภาคการเกษตร และเสริมสร้างนโยบายของภาครัฐที่จะทำให้เกิดวินัยทางการคลังในระยะยาว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ "มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล" ซึ่งจัดโดยสายนโยบายการเงินและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวันที่ 15-16 กันยายน 2559 (รายละเอียดที่ www.bot.or.th) ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของคณะ จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559