27แอร์ไลน์เริ่มนับหนึ่งขอAOC คาดใช้เวลา 6 เดือนยื่นเอกสารให้ ICAO ตรวจมี.ค.ปีหน้า

25 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
27 แอร์ไลน์ไทย ย้อนกลับไปเริ่มต้นขั้นตอนที่ 1 ในกระบวนการออกAOC ใหม่ เผยต้องไปปรับปรุงคู่มือใหม่ ให้สอดคล้องกับข้อแนะนำของ CAAi ชี้ล่าสุดการบินไทย ส่งคู่มือใหม่แล้ว รอการตรวจสอบ ด้าน“จุฬา” คาดใช้เวลา 6 เดือนในการออกใบรับรองเดินอากาศ เพื่อเตรียมยื่นเอกสารให้ ICAO ตรวจใหม่ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ปีหน้า ทั้งเตรียมข้อมูลความคืบหน้าแก้ไขข้อบกพร่องให้อียู พิจารณาชี้มาตรฐานการบินของไทยอีกครั้ง 13 ก.ย.นี้

[caption id="attachment_89413" align="aligncenter" width="700"] กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือการออก AOC ใหม่ ของ กพท. กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือการออก AOC ใหม่ ของ กพท.[/caption]

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ทุกสายการบิน จะต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นขั้นตอนที่ 1 ในกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ Re-certification หรือการออกAOC ใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน (ตารางประกอบ) แม้ว่าก่อนหน้านี้สายการบินต่างๆรวมถึงการบินไทยได้ผ่านการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1-3 ไปแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 คือการตรวจสอบการปฏิบัติการ

เนื่องจากกระบวนการในขั้นตอนที่1-3 ที่สายการบินต่างๆได้ส่งคู่มือ (Manual) ไปแล้ว เป็นการดำเนินการก่อนที่ทาง CAA International (CAAi) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ได้รับการรับรอง และเป็นบริษัทในเครือของ UK Civil Aviation Authority (UK CAA) ที่กพท.จ้างมาทำงานร่วมกับกพท. ซึ่งเมื่อCAAi เข้ามาก็มีข้อแนะนำให้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดใหม่ๆในกระบวนการออก AOC ดังนั้นสายการบินต่างๆ ต้องไปปรับแก้ไขคู่มือใหม่ ให้สอดคล้องกัน เพราะสิ่งที่สายการบินต้องดำเนินการในขณะนี้ก็เหมือนกับการยื่นเรื่องขอจัดตั้งสายการบินใหม่ ซึ่งในส่วนของการบินไทย ได้ไปปรับปรุงคู่มือใหม่มาแล้ว และได้ยื่นให้กพท.พิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ซึ่งการไปเริ่มขั้นตอนใหม่ ทำให้มีแนวโน้มที่กพท. จะออกAOC ให้การบินไทยได้ช้ากว่าเดิมจากที่ก่อนหน้านี้ คาดว่าจะอยู่ภายในเดือนธันวาคมนี้ไปเป็นช่วงปลายมกราคมปีหน้า

ในส่วนของสายการบินอื่นๆก็ต้องปรับปรุงคู่มือให้พร้อมเพื่อมายื่นเรื่องใหม่กับกพท. ซึ่งหากสายการบินใด ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจาก IOSA (IATA Operational Safety Audit) ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA) ก็ไม่น่ามีปัญหาที่ต้องปรับปรุงคู่มากนัก เพราะมาตรฐานมีความสอดคล้องกันอยู่ แต่สายการบินใดที่ไม่มีก็อาจจะต้องปรับปรุงคู่มือหลายครั้งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการออกAOC ใหม่

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12-14 กันยายนนี้ กพท.จะเรียกสายการบินต่างๆทั้ง 27 สาย (เดิมมี 28 สายการบินหยุดทำการบินไป 1 สายการบิน) เข้ามารับทราบข้อมูลกระบวนการออกAOC ใหม่ ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ใหม่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการออก AOC ใหม่อย่างเป็นทางการ และขณะเดียวกันสายการบินใดพร้อมก่อนก็จะตรวจสอบก่อนในลำดับแรกๆตั้งแต่ในช่วงดังกล่าวเป็นต้นไป คาดว่าการตรวจสอบทั้งหมดทุกสายจะใช้เวลาในการดำเนินการตรวจสอบเป็นเวลา 6 เดือน หรือแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมีนาคม2560 จากนั้นจะยื่นเอกสารเพื่อขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO เข้ามาดำเนินการตรวจสอบซ้ำ หรือ ICVM (Coordinated Validation Mission) ภายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2560

"สายการบินใดที่ตรวจสอบแล้วไม่ผ่านมาตรฐานตามช่วงเวลาที่กำหนด จะไม่สามารถได้รับAOC และไม่สามารถทำการบินได้ จนกว่าจะไปแก้ไขให้ผ่าน เพราะเราต้องการสกรีนสายการบินที่มีมาตรฐานจริงๆ เพื่อปลดล็อกธงแดงจาก ICAO และในส่วนของความคืบหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns - SSC)จำนวน 33 ข้อนั้น มีการแก้ไขข้อบพร่องแล้วเสร็จไปแล้ว 10 ข้อ อีก 22 ข้อดำเนินการแก้ไขคืบหน้าไปกว่า 75% และอีก 1 ข้อ แก้ไขคืบหน้าไปไปกว่า 50%โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ครบถ้วนทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินการควบคู่ไปกับการไขข้อบกพร่องอื่นๆ (Finding) ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 8 เดือนจากนี้"

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ขณะนี้คงยังบอกไม่ได้ว่าไทยจะถูกปลดธงแดงเมื่อไหร่ ต้องรอ ICAO เข้ามาตรวจสอบ จึงไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ ขณะที่นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)เผยว่าหลังการหารือบอร์ดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ กพท. ให้เร่งรัดวางแผนงานความคืบหน้าในการแก้ไขSSC ที่ไทยติดธงแดงICAO เพื่อเตรียมรายงานให้กับกระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป (อียู) หรือ DG Move: Directorate General Mobility andTransportations ที่กำหนดการประชุมในวันที่ 13 กันยายนนี้ ณ นครบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559