ผู้ชนะรางวัล DEmark 2016 ดีไซน์หมุนโลกธุรกิจ 54 บริษัท 67 ผลงานเด่น

28 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ผลิตภัณฑ์จะน่าสนใจหรือไม่ก็อยู่ที่การออกแบบให้มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ ติดตาตรึงใจและที่สำคัญคือนวัตกรรมใหม่ๆเกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก จึงมีการประกวดการออกแบบอยู่เนืองๆ และสำหรับโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี หรือ DEmark Award ก้าวสู่ปีที่ 9 แล้วนั้น โดยปีนี้ จัดในธีม “ดีไซน์หมุนโลกธุรกิจ” (Design Driven Business) ตอกย้ำความสำคัญของการออกแบบ ที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เผยโฉม The Winner ผู้คว้ารางวัล DEmark 2016

[caption id="attachment_90168" align="aligncenter" width="500"] OVERWHELM OVERWHELM[/caption]

ปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล DEmark Award 2016 จำนวน 67 รายการ จาก 54 บริษัท แบ่งเป็นประเภทสินค้า 6 ประเภท คือ “กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์” ผลิตภัณฑ์ ก้านกล้วย (Kan Kluay) ที่แขวนเสื้อโค้ชและหมวก ออกแบบ โดย “ชญาณิน ษักดิกุล” ที่ได้แรง บันดาลใจมาจากปืนก้านกล้วย อันเป็นการละเล่นของไทยที่ใช้ก้านกล้วย ก้านเดียวมาทำเป็นเครื่องเล่น โดยการคว้านก้านเพื่อให้อ้าและพับเก็บได้ เหมือนเดิม ใช้เก็บของใช้ให้อยู่ในพื้นที่จำกัดในแนวตั้ง การใช้งานมีกลไก ง่ายๆในการง้างและขัดไม้ เพื่อให้เกิดการยื่นของชิ้นส่วนไม้มารับของที่จะใช้ จัดเก็บในรูปแบบการแขวน ซึ่งใช้งานง่ายแค่ใช้ปลายนิ้ว ออกแบบให้ จุดแขวนมีความสูงหลายระดับ เพื่อรองรับสรีระผู้ใช้งานในวัยต่างๆได้ อย่างลงตัว เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติลบเหลี่ยมมุมเพื่อสะท้อนความเรียบ ง่าย และความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน

“กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์” ผลิตภัณฑ์ Eggwhite Bow Tie Set โบว์ไทที่ออกแบบโดย “ศิริณุช คีตะธนิตินันท์” นำเสนองานฝีมือของไทย ไม้ไทย ผ้าไทย ลายไทย ผ่านผลงานที่เป็นรูปแบบสากลเพราะสิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของไทย ที่ควรจะกระจายไปทั่วโลก การใช้ไม้ยางพาราเป็นวัสดุหลักซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ใช้ผ้าเป็นวัสดุ เพื่อให้เกิดความ แตกต่างและสามารถจดจำได้ สายคล้องคอที่สามารถถอดเปลี่ยนได้เพื่อ Mix and Match ระหว่างลวดลายของไม้ และลายของผ้า ที่นำศิลปะลายไทย และสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยมาใส่ลงในชิ้นงาน

“กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ” ผลิตภัณฑ์ OVERWHELM (Thai Silk Jewelry) เป็นเครื่องประดับแนวคิดใหม่ที่นำผ้าไหมไทยมาประยุกต์เป็นเครื่องประดับสุดเก๋ออกแบบโดย “สุพัชณา ลิ้มวงศ์” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความหลงใหล ในลวดลายอันสวยงามของผ้าไหมไทย และแนวคิดที่ต้องการสร้างการรับรู้ ใหม่ให้กับผ้าไหมไทยร่วมไปกับการตระหนักถึงคุณค่าเอกลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยการสร้างสรรค์เครื่องประดับจากผ้าไหมไทย อาทิ กำไลข้อมือ ซึ่งไม่มุ่งเน้นการนำเสนอผ้าไหมในแบบที่เป็นผืนสำเร็จรูปแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อสารคุณค่าของภูมิปัญญาการถักทอผ้าไหมไทย โดยใช้แนวคิดแบบ ย้อนกลับเพื่อแสดงโครงสร้างของผ้าไหม (reverse engineering) ซึ่งกลาย มาเป็นความสนุกของการสร้างผิวสัมผัสที่แตกต่างรวมไปถึงการถอดรหัสสี ผ้าไหมไทยจากการประสานของเส้นพุ่งและเส้นยืนเกิดเป็นสีสันที่หลากหลาย จากลักษณะดังกล่าวทั้งหมดทำให้ผ้าไหมจะไม่ได้ถูกจดจำ ในฐานะเป็นเพียงผืนผ้าแต่จะถูกจดจำในฐานะของงานฝีมือที่ถูกสร้างสรรค์อย่างละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน

“กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม” ผลิตภัณฑ์ชื่อ SEASON (freestanding shower ฝักบัวอาบน้ำ outdoor) ออกแบบโดย “บริษัท Bathroom Design จำกัด” เป็นผลงานฝักบัวอาบน้ำ สำหรับติดตั้งเอาต์ดอร์ ที่รูปร่างดูแปลกตา ออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานได้ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ปรับได้ 3 ระดับ ด้วยการดีไซน์ให้เป็นกิ่งไม้ โดยแต่ละกิ่งของ shower สามารถเปลี่ยนทิศทางและเปิด-ปิดได้อย่างอิสระ ต่อกัน ทำให้เกิด function ที่แตกต่าง ทั้งปริมาณน้ำและทิศทาง สร้างความแตกต่างกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปทุกฤดูกาลด้วยรูปทรงกิ่งไม้ที่สะท้อนความเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับงานเอาต์ดอร์ได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามและบรรจุภัณฑ์” ผลิตภัณฑ์ Little Bulb จาก “บริษัท JL Mova” เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำมันมะพร้าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา การใช้งานน้ำมันมะพร้าวในประเทศต่างๆ ที่มีสภาพอากาศแตกต่างกัน ที่มักส่งผลกระทบต่อการแปรสภาพของน้ำมันมะพร้าวได้ ดีไซเนอร์ จึงได้ออกแบบขวดบรรจุภัณฑ์จากวัสดุซิลิโคน โดยซิลิโคนเป็นวัสดุที่ ปลอดภัย สามารถทนความร้อนได้มากกว่า 200 องศา เมื่อเทียบกับ วัสดุประเภท PET ที่ใช้เป็นขวดบรรจุน้ำมันมะพร้าวที่ขายอยู่ในปัจจุบัน ถูกออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายหลอดไฟ และระบบการเปิดฝา 2 ชั้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านการใช้สินค้าสำหรับตลาดต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าน้ำมันมะพร้าวในประเทศไทยทั้งหมดทำจากขวดแข็งหรือไม่เหมาะต่อการบีบ ซึ่งทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการใส่ใจในเรื่องคุณสมบัติของตัววัตถุดิบหรือสิ่งแวดล้อมใน ประเทศที่มีผลต่อคุณภาพสินค้าเมื่อถูกนำไปใช้ ซึ่งวัสดุซิลิโคนนั้นออกแบบมาให้สามารถบีบน้ำมันมะพร้าวใน สถานะของแข็งได้ ส่วนฝา 2 ชั้นนั้นช่วยในกรณีที่น้ำมันมะพร้าวมีจำนวนน้อยมากแล้วจำเป็นต้องใช้ช้อนตักออก ด้วยการเปิดฝา

“กลุ่มกราฟิกดีไซน์” ผลงาน Holy Moly ภาพประกอบร้านขายขนมพาย ออกแบบโดย “ชมกร จีรพัฒนณุวงษ์” จากบริษัท ฟาร์มกรุ๊ป (Farmgroup) ซึ่งมีความตั้งใจให้ร้านโฮลี่โมลี่ ไม่ใช่ร้านขายพายธรรมดาทั่วไปแต่เป็นร้านที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ความสนุกสนานที่มาจากภาพประกอบเฉพาะตัวของ โฮลี่โมลี่ที่ใช้ลายเส้นง่ายๆและสะท้อนความตลกๆของวิถีคนไทยภาพประกอบนี้ถูกนำไปใช้ในส่วนต่างๆ ของร้าน กล่องใส่พาย เมนู และสติกเกอร์ที่จะเปลี่ยนไปตาม เทศกาลต่างๆ เมื่อลูกค้าเข้ามาที่ร้านจะไม่ได้เห็นเพียง แต่ความน่ากินของพายเท่านั้น ทั้งคนไทยและ ชาวต่างชาติยังได้เห็นการใช้ชีวิตที่เมืองไทยในมุมที่ตลก ขบขันผ่านภาพประกอบของโฮลี่โมลี่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559