เปิดแนวไฮสปีดเทรนปั้นเงิน ‘สมคิด’ดันรอบ 18 สถานีสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

25 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
เปิดโรดแมปพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 เส้นทางไฮสปีดเทรน 18 สถานีรวมพื้นที่ภายในสถานีกว่า 1.8 หมื่นตร.ม. ส่วนพื้นที่ย่านสถานีกว่า 1,043 ไร่ รวมทั้งพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ-กม.11 ตามนโยบาย “สมคิด” หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาที่สามารถนำมาคืนทุนและมีผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้น เน้นช่วยขยายการเติบโตของเมือง จี้ประสานผังเมืองเพื่อโอกาสการพัฒนาให้เป็น CBD และ TOD แต่ละสถานี เผยประมาณการรายได้ 30 ปีรวมกว่า 1.89 แสนล้าน ครบทั้งที่ดิน ร.ฟ.ท. ที่ดินราชพัสดุและที่ดินอื่นๆ

[caption id="attachment_89315" align="aligncenter" width="700"] พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์แนวรถไฟความเร็วสูง พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์แนวรถไฟความเร็วสูง[/caption]

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าหลังจากมอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและรถไฟเส้นทางต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนออกมาให้กับกระทรวงคมนาคมแล้วนั้น โดยต้องการให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาคืนทุนให้กับโครงการและทำให้โครงการมีผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้น เพื่อจะดึงดูดความสนใจภาคเอกชนในการร่วมลงทุนในโครงการ เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่หรือเมืองจะสามารถสร้างความเจริญเติบโตให้กับเมืองที่มีโครงการลงไป

โดยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ในขอบเขตและบริเวณสถานีเป็น Central Business District : CBD และ Transit Oriented Development : TOD โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กิโลเมตร สายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กิโลเมตร สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร และสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง 194 กิโลเมตรซึ่งจะต้องประสานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองอย่างใกล้ชิดต่อไป

"ในวันที่ 31 สิงหาคม นี้ จะนำคณะกระทรวงคมนาคมเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลเร่งผลักดัน"
นายสมคิดกล่าวอีกว่า จะนำเสนอเรื่องการใช้ประโยชน์ตามแนวรถไฟและรถไฟฟ้า ให้สามารถเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจในโซนภาคตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลแต่ละพื้นที่ในการจัดทำเป็นรูปแบบแอนิเมชันเพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาได้ชัดเจนว่าจะออกมารูปแบบใดบ้าง เช่นเดียวกับการพัฒนาเพื่อการเชื่อมโยงเออีซี อาทิ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเรือเฟอร์รี่ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประมาณเดือนตุลาคมนี้

"อยากเห็นว่างานเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากปี 2560 จะเห็นหลายโครงการเกิดการพัฒนา ประการสำคัญปลายปีนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จะจัดการประชุมนัดสำคัญเรื่องการลงทุนภายในประเทศไทย จึงต้องการให้แล้วเสร็จทันกับการประชุมดังกล่าว โดยเมื่อสามารถนำเข้าครม.ในเดือนตุลาคมคมนี้ก็จะเร่งผลักดันเปิดประมูลโดยเร็วต่อไป"

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา คัดเลือกไว้ 3 สถานี คือ สถานีสระบุรี พื้นที่ภายในอาคารสถานี 1,200 ตร.ม. พื้นที่บริเวณย่านสถานี 141 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียงที่พัฒนาได้ 97 ไร่ สถานีปากช่อง พื้นที่อาคาร 1,200 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 396 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง(พื้นที่ทหารบก(ทบ.) 541 ไร่ สถานีนครราชสีมา พื้นที่ในอาคาร 1,400 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 63.94 ไร่ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก คัดเลือกไว้ 5 สถานี คือ สถานีอยุธยา พื้นที่ในอาคาร 450 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 2.21 ไร่ สถานีลพบุรี พื้นที่ในอาคาร 450 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 50 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง(ของทบ.) 2,589 ไร่ สถานีนครสวรรค์ พื้นที่ในอาคาร 900 ตรม. พื้นที่ย่านสถานี 7.74 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง(ของทบ.) 6,120 ไร่ และของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) 3,385 ไร่ สถานีพิจิตร พื้นที่ในอาคาร 450 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 50 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง(กรมชลประทาน) 165 ไร่ และสถานีพิษณุโลก ภายในสถานี 900 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 10.39 ไร่ และพื้นที่ใกล้เคียง(ของทหารอากาศ) 9,323 ไร่

เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีนครปฐม พื้นที่ในสถานี 1,948 ตร.ม. ย่านสถานี 9.33 ไร่ สถานีราชบุรี ภายในสถานี 1,948 ตร.ม. ย่านสถานี 19 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง(เวนคืน) 141 ไร่ สถานีเพชรบุรี ภายในสถานี 1,214 ตร.ม. ย่านสถานี 110 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียง 385 ไร่ และสถานีหัวหิน ภายในสถานี 1,214 ตร.ม. ย่านสถานี 20 ไร่ และพื้นที่ใกล้เคียง 145 ไร่

เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีลาดกระบัง ในสถานี 65 ตร.ม. สถานีฉะเชิงเทรา ในสถานี 200 ตร.ม. ย่านสถานี43.65 ไร่ สถานีชลบุรี พื้นที่ภายในอาคาร 211 ตร.ม. สถานีศรีราชา ภายในอาคาร 211 ตร.ม. ย่านสถานี 40 ไร่ สถานีพัทยา พื้นที่อาคาร 4,638 ตร.ม. ย่านสถานี 56.25 ไร่ และสถานีระยอง พื้นที่ในอาคาร 174 ตร.ม. และพื้นที่ย่านสถานี 21.6 ไร่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559