‘อาคม’หนุนทางด่วนเพิ่มอีก3เส้น เสนอ‘บิ๊กตู่’ไฟเขียวสร้างในปี 60

26 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
"อาคม" เผยปี 60 คมนาคมผลักดันทางด่วนเพิ่มอีก 3 เส้นทาง เสนอครม.อนุมัติดำเนินการ สนองนโยบายนายกฯประยุทธ์ ให้ขยายกรุงเทพฯเชื่อมต่อกับชานเมืองมากขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดใช้ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ว่าต้องการให้ทางด่วนมีส่วนอย่างมากในการแก้ไขปัญหาจราจรทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ และเพื่อให้พร้อมรองรับต่อการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอาเซียน ให้สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งมีแผนรองรับไว้แล้วให้สอดคล้องกับระบบการคมนาคมรูปแบบอื่นๆ ด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการทางพิเศษสายศรีรัช –วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ล่าสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ได้ให้บริการอย่างเป็นทางการ เร็วกว่ากำหนดเดิมซึ่งวางไว้ปลายปี 2559 โดยกระทรวงคมนาคมขอความร่วมมือจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วกว่าแผนงาน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชน และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างแรงงาน

ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการต่อขยายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีแนวสายทางไปตามแนวเขตทางรถไฟเดิม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 และสิ้นสุดโครงการ บริเวณย่านบางซื่อ ใกล้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) เข้าเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายศรีรัชเดิม และลงสู่ระดับดินที่ราชพฤกษ์ บางบำหรุ จรัญสนิทวงศ์ พระราม 6 และกำแพงเพชร 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ จำนวน 10 ด่าน อัตราค่าผ่านทางเป็นระบบเปิดเหมาจ่ายในอัตรา รถยนต์ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6 - 10 ล้อ 80 บาท และรถเกิน 10 ล้อ หรือรถพ่วงอื่นๆ 115 บาท คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการจะมีปริมาณจราจรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 45,000 เที่ยว/วัน และในปีแรกของการเปิดให้บริการจะมีปริมาณจราจรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 97,000 เที่ยว/วัน

ส่วนอัตราค่าผ่านจะเป็นระบบเปิดแบบเหมาจ่ายทางรถยนต์ 4 ล้อ ราคา 50 บาท/ รถ 6-10 ล้อ ราคา 80 บาท และรถเกิน 10 ล้อ หรือรถพ่วงอื่นๆ ราคา 115 บาท โดยคาดว่าเมื่อมีการเปิดใช้บริการจะมีปริมาณจราจรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นเที่ยวต่อวัน และในปีแรกของการเปิดให้บริการจะปริมาณจราจรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.7 หมื่นเที่ยวต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีทางด่วนทั้งหมด 7 โครงการระยะทางรวม 208 กิโลเมตร ซึ่งมีรถที่ใช้งานวันละประมาณ 18 ล้านคัน

นายอาคมกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณปี 2560 กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันโครงการทางพิเศษระยะเร่งด่วนอีก 2 ช่วง คือ พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 16.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนต่อเชื่อมกับทางด่วนฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันออก ระยะทาง 9.2 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการขยายทางด่วนศรีรัชนี้ให้เชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ด้านทิศเหนือต่อไป ระยะประมาณ 300 เมตร วงเงินลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท
ขณะที่การใช้ระบบตั๋วร่วมอยู่ระหว่างเร่งรัดการใช้งานระบบตั๋วร่วมระหว่าง บัตรอีซี่พาส และบัตรเอ็มพาส ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยอยู่ระหว่างรอการตัดระบบบัญชีเท่านั้น

"ในอนาคตจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้ไม้กั้นมาให้บริการกับทางด่วนจะทำให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความสมบูรณ์ ทันสมัย มากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559