‘ปั๊มยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้าสีม่วง’ โจทย์ยาก รฟม.

26 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
หลังจากรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการยังไม่ทันครบ 1 เดือน ก็เกิดกระแสกระหน่ำการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กรณีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าคาดการที่ตั้งเป้าไว้ที่ 7 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท

ว่าไปแล้ว กรณีนี้ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะก่อนจะเร่งเปิดให้บริการ นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.เคยชงเรื่องเสนอบอร์ดของบประมาณอุดหนุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง 11 ปีแรก เนื่องจากประเมินว่ารายได้จะต่ำกว่ารายจ่าย

รฟม.หารือขสมก.ปรับระบบฟีดเดอร์

นายพีระยุทธ กล่าวว่าประชาชนยังต้องใช้ระยะเวลาการปรับพฤติกรรมของการใช้บริการเดินทางรูปแบบใหม่ เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อช่วงเตาปูน-บางซื่อที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาให้สามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างลงตัวโดยเร็ว จึงส่งผลให้ประชาชนบางส่วนยังไม่ตัดสินใจหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าในขณะนี้

"บริการเสริมที่เปิดให้บริการไปแล้วทั้งรถโดยสารขสมก.และรถไฟพบว่ามีปริมาณใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นคนต่อวันแสดงว่าความต้องการเดินทางยังมีปริมาณค่อนข้างสูงเพียงแต่ยังไม่สะดวกเท่านั้น แต่ทางรฟม.ได้เร่งแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อที่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน) เพื่อให้สามารถได้ข้อยุติด้านการเดินรถช่วง 1 กิโลเมตรนี้คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนนี้จะได้ข้อยุติชัดเจนเพื่อขออนุมัติต่อผู้บริหารระดับสูงต่อไป"

[caption id="attachment_89609" align="aligncenter" width="302"] รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม[/caption]

ดังนั้น รฟม.เตรียมหารือร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เพื่อจัดเส้นทางเดินรถโดยสารขสมก.ให้สามารถเชื่อมโยงสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีต่างๆได้อย่างสะดวกและเข้าถึงมากขึ้น เช่นเดียวกับรถโดยสารรูปแบบต่างๆที่จะดูในการดูแลของขบ.ที่ให้บริการในพื้นที่นนทบุรีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าในเส้นทางนี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อาทิ สามแยกบางใหญ่ คลองบางไผ่ และศูนย์ราชการ และเตาปูน

เบื้องต้นได้เพิ่มความถี่ของการเดินรถช่วงเร่งด่วนให้มากขึ้น จากเดิม 15 คัน เพิ่มเป็น 18 คัน และอยากเพิ่มการรองรับระยะ 1 กิโลเมตรบางซื่อ-เตาปูนให้มากขึ้นอีก ทั้งนี้อยากขอดูความนิ่งของปริมาณผู้โดยสารที่ชัดเจนก่อนอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนกลยุทธ์ด้านการตลาดยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะค่าโดยสารต้องพิจารณาร่วมกับบีอีเอ็มโดยปัจจุบันรฟม.จ้างบีอีเอ็มเดินรถ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายให้บีอีเอ็มทุกเดือนส่วนจะออกมาเป็นรูปแบบใดบ้างนั้นจะเร่งดำเนินการในเร็วๆนี้ โดยจะดูความเหมาะสมโดยเร็วต่อไปเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น

ขาดศูนย์กลางธุรกิจ จุดสร้างแรงดึงดูด

ถึงแม้ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยหนาแน่น ยิ่งช่วงหลังมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่โดยกายภาพของทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นย่านที่อยู่อาศัย และศูนย์ราชการเป็นหลัก ขณะที่สำนักงานธุรกิจชั้นนำ โรงแรมชั้นนำหรือแหล่งช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในพื้นที่มีไม่มากนัก ซึ่งวันนี้มีเพียงศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสท์เกต ที่บางใหญ่ ไม่เหมือนกับศูนย์กลางธุรกิจในเขตกรุงเทพฯชั้นในหรือชั้นรอง ที่มีครบองค์ประกอบนอกจากคนทำงาน คนอยู่อาศัยในพื้นที่แล้วยังได้นักท่องเที่ยวมาเสริม

นอกจากนี้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางค่อนข้างมาก จะด้วยรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสาร ตามเส้นทางปกติหรือทางด่วน หรือจะเดินทางทางเรือก็ได้ ทำให้ไปไหนมาได้สะดวก ที่สำคัญค่าโดยสารไม่แพงเมื่อเทียบกับเดินทางด้วยรถไฟฟ้า

นายล้าน (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่อาศัยในย่านบางใหญ่ กล่าวว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะได้ในเรื่องระยะเวลา ไม่ต้องประสบปัญหาการจราจร ซึ่งถนนกาญจนาภิเษก และถนนรัตนาธิเบศร์ การจราจรค่อนข้างหนาแน่นตลอดเวลา เฉพาะอย่างยิ่งช่วงเช้าและเย็นจะติดหนักมาก ฉะนั้น ถ้าไม่มีงานเร่งด่วน ตนเองก็จะใช้บริการรถตู้ มาต่อรถตู้ที่ย่านงามวงศ์วาน ที่นี่มีรถตู้เข้าเมืองหลายจุด สีลม มาบุญครอง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนั่งรถแค่ 2 ต่อก็เดินทางเพื่อทำงานในย่านธุรกิจ แต่ถ้าวันไหนต้องการเวลาก็เลือกใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งไม่ค่อยสะดวกต้องต่อรถหลายต่อ ออกจากบ้านด้วยรถตู้มาสถานีบางใหญ่ ถึงสถานีเตาปูนก็ใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อไปสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เร็วกว่านั่งรถเมล์ ขสมก.ที่ รฟม.จัดให้ เมื่อคำนวณแล้วค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะมากกว่ารถตู้ค่อนข้างมาก

ดังนั้น กล่าวได้ว่าความไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง ตั้งแต่ 1 สถานีที่ขาดหายไประหว่างสถานีบางซื่อกับสถานีเตาปูน ที่ทำให้การเดินทางของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ไหลลื่นก็ดี การขาดแมกเน็ตที่สำคัญๆอย่าง โรงแรมชั้นนำ อาคารสำนักงานชั้นนำ ศูนย์การค้า แหล่งช็อปปิ้งหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่จะสร้างสีสันให้กับพื้นที่ก็ยังไม่ครบสมบูรณ์ จึงทำให้การเดินทางมีเพียงแต่ขนคนเข้า-ออกเมือง เพื่อเดินทางมาทำงานช่วงเช้าและกลับบ้านช่วงเย็นเป็นหลัก การเพิ่มจำนวนรถเมล์ ขสมก.หรือจัดระบบเชื่อมต่อที่สถานีปลายทางเตาปูนก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก ที่สำคัญต้องเพิ่มความหนาแน่นของจำนวนคนและธุรกิจเข้าไปตลอดแนวเส้นทาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559