โหมโรงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สปป.ชงพิมพ์เขียวเสนอ11ด้าน

26 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
โหมโรงแล้วกับมหกรรม "ป+ป ประชาชนปฏิรูปประเทศไทย"ครั้งที่ 1 ในนามสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(สปป.) โดยการขับเคลื่อนของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ที่มี "สุริยะใส กตะศิลา" เป็นเลขาธิการ ที่ปักหลักอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ของดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในการเปิดเวทีระดมความเห็นทุกภาคส่วน 2 วันเต็มวันที่ 20-21 สิงหาคมที่ผ่านมา จุดกระแสปฏิรูปประเทศของภาคประชาสังคมขึ้นอีกคำรบ

[caption id="attachment_89594" align="aligncenter" width="700"] ข้อเสนอ 11 ประเด็นการปฏิรูปของสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอ 11 ประเด็นการปฏิรูปของสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย[/caption]

โดยการระดมความเห็นครั้งนี้ สถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอ "รังสิตโมเดล" ประกอบด้วย 11 ประเด็นปฏิรูปประเทศไทย ขึ้นเทียบเคียงคู่ขนานไปกับการดำเนินการของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และหน่วยงานราชการต่าง ๆ แบ่งกลุ่มย่อยระดมสมองสกัดความคิดเห็นออกมาเป็นข้อเสนอปฏิรูปเบื้องต้น 7 ประเด็น คือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการกระจายอำนาจ 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 3.ปฏิรูปตำรวจ ที่แยกออกมาเป็นอีกหัวข้อหนึ่งโดยเฉพาะ 4. ปฏิรูปเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม 5.ปฏิรูปพลังงาน 6.ปฏิรูปการศึกษา และ7.ปฏิรูปด้านเกษตรและทรัพยากร

ทั้งนี้ ในเวทีอภิปรายมีประชาชนหลากหลายกลุ่มสะท้อนความเดือดร้อน และเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา โดยมีข้อเสนอให้ไปเปิดเวทีป+ป ในทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

การขับเคลื่อนขบวนปฏิรูปของภาคประชาชนขึ้นมาครั้งนี้ เป็นจังหวะที่ล้อไปกับการปรับกลไกการปฏิรูปของภาครัฐ ที่กำลังปรับเปลี่ยนตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่งผ่านประชามติ ที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศขึ้นเป็นหมวด 16 โดยเฉพาะ ที่กำหนดให้สปท.ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องตราขึ้นภายใน 120 วัน และกำหนดให้เริ่มต้นการปฏิรูปแต่ละด้านภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีกลไกและกระบวนการอย่างไร

เสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ข้อเสนอจากเวทีประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ที่ชูคำขวัญ "เดินหน้าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" เป็นข้อเสนอจากภาคประชาสังคม จึงเป็นข้อเสนอที่แหลมคม และปรับในระดับโครงสร้างเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการรวมศูนย์อำนาจให้กระจายสู่พื้นที่มากขึ้น

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สรุปข้อเสนอจากกลุ่มปฏิรูปโครงสร้างการกระจายอำนาจ ให้ใช้จังหวัดเป็นหน่วยการพัฒนา จากการเฝ้าสังเกตติดตามพบว่า หลายเมืองมีผู้บริหารจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ ทำงานอย่างกระฉับกระเฉง สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เมืองมีพลังของการพัฒนาขึ้นมาได้ จึงเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โอนราชการส่วนภูมิภาคขึ้นกับผู้ว่าฯ โดยจังหวัดเป็นกึ่งส่วนกลางที่ขึ้นตรงกับนายกฯ เกิดให้เกิดจังหวัดจัดการตนเอง

เช่นเดียวกับกลุ่มการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นผู้นำเสนอว่า ต้องปฏิรูปไปถึงศาลด้วย เนื่องจากในโครงสร้างปัจจุบันการจะดำเนินการทางคดีต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูง คนยากจนเข้าไม่ถึง เสนอให้มีกลไกที่เรียกว่า ศาลระดับชุมชน หรือCommunity Justice ที่ประสบความสำเร็จมากในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยคดีความต้องเริ่มที่ระดับนี้ก่อน มีผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ร่วมในการวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งต้องเข้าร่วมโดยจิตอาสาไม่มีผลตอบแทน เพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ เชื่อว่าหากมีระบบนี้คดีความจำนวนมากจะยุติได้ที่ศาลจังหวัด โดยไม่ต้องขึ้นไปรกรุงรังที่ศาลยุติธรรมที่ปัจจุบันมีคดีมากจนล้น

ขณะที่ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจพุ่งเป้ากระจายอำนาจเช่นกันโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประมวลสรุปข้อเสนอว่า ให้ตำรวจแต่ละพื้นที่ไปขึ้นกับผู้ว่าฯ ซึ่งต่อไปผู้ว่าฯจะมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ จะสามารถกำกับดูแลและจัดสรรงบประมาณในการทำคดีและรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันภาระงบประมาณส่วนกลางจะลดน้อยลง ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการอื่น เช่น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก) กองปราบฯ ยังคงอยู่เพื่อทำคดีที่ข้ามเขตหลายพื้นที่

สังคายนา ก.ม.แข่งขันทางการค้า

อีกส่วนที่เป็นหัวใจคือ แยกงานสอบสวนออกจากอำนาจสืบสวนจับกุม โดยตำรวจยังคงดูแลงานสืบสวนต่อไป ขณะที่งานสอบสวนนั้นอาจทำได้ทั้งแยกออกมาเป็นฝ่ายงานอิสระ เพื่อไม่ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงทางคดีได้ รวมทั้งต้องมีอัยการและภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นหูเป็นตาด้วย

ด้านนายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ เสนอแนะการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นธรรมว่า ต้องขจัดการทำธุรกิจแบบผูกขาดให้หมดไป ไม่เช่นนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีลักษณะกระจุกไม่กระจายอยู่นั่นเอง ข้อเสนอของที่ประชุม คือ ต้องสังคายนากฎหมายการแข่งขันทางการค้า 2542 และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้มีการ ตั้งคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติขึ้น เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งหน่วยงานป้องกันการผูกขาดขึ้นในกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับปฏิรูปคุณธรรมการบริหารธุรกิจ สนับสนุนกลไกเพื่อธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบในระบบบรรษัทภิบาล เป็นต้น
เดินควบคู่ไปกับการลดความยากจน รวมถึงต้องปฏิรูปการศึกษาให้รับใช้ประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่สร้างนายทุนขุนศึกศักดินาขึ้นมาใหม่ สร้างประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างอำนาจของประชาชนให้ดุลและคานกันได้กับอำนาจรัฐและทุนสามานย์เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559