ไทยยูเนี่ยน ผู้นำยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย ชูงานวิจัยควบคู่นวัตกรรมหนุนสู่อนาคตที่ยั่งยืน

25 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิต และแปรรูปปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่สุดของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารทะเลชั้นนำทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมควบคู่กับการเพิ่มคุณภาพบุคลากร  ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ คือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้  นวัตกรรมและบุคลากรนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วน สนองตอบนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำพาสังคมไทยก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ "ประเทศไทย 4.0" ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Gii (Global Innovation Incubator)” ศูนย์นวัตกรรมด้านปลาทูน่าแห่งแรกในโลกและแห่งแรกของไทยที่ลงทุนโดยภาคเอกชน

รัฐเล็ง 3 ปีนวัตกรรมพลิกโฉมสินค้าไทย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สูงขึ้น พึ่งนวัตกรรมมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยต้องเป็นการนำองค์ความรู้งานวิจัย นวัตกรรมไปต่อยอด ประยุกต์ใช้กับภาคผลิต อุตสาหกรรม และสังคม

“การขับเคลื่อนงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการได้จริงๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งต่อให้ภาคเอกชนมีโจทย์ มีทุน แต่ถ้าไม่มีกำลังคน หรือมหาวิทยาลัยมีกำลังคน อาจตั้งโจทย์ผิด ก็จะทำให้ความร่วมมือไม่เกิดขึ้น ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยในการเชื่อมโยง 2 ภาคส่วนนี้เข้าด้วยกัน”

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพระดับสูงค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยระดับอาจารย์ หรือนิสิตนักศึกษา แต่ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมยังขาดความสนใจในการลงทุนด้านนวัตกรรม ทำให้ไม่มีเวทีที่เป็นตัวประสานระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะทำให้เกิดการวิจัยร่วมกันในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้และยินดีอย่างมากที่สามารถสร้างศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนให้เกิดขึ้นได้จริง การสร้างศูนย์นวัตกรรมขึ้นในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงจะส่งผลด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมผู้มีองค์ความรู้จากทั่วโลก มาร่วมงานศึกษาวิจัยปลาทูน่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า  อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายจากรัฐบาลที่ให้การลดหย่อนภาษี และมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ  ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) และการลงทุนด้านนวัตกรรม เชื่อว่าอีก 3 ปีนับจากนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจ ได้เห็นนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_88386" align="aligncenter" width="500"] บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)[/caption]

หนุนสิทธิประโยชน์เร่งพัฒนา

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการลงทุนงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนให้ขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด  จึงได้มีมาตรการทั้งด้านการเพิ่มกำลังคน  โครงการ และด้านภาษี โดยในส่วนภาษีมีมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในงานวิจัยมากขึ้น  เช่น  บริษัทใดมีการพัฒนานวัตกรรม งานวิจัยนั้นสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 3 เท่าตัว  รวมถึงมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี จากการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นอกจากนั้น ภาครัฐยังได้ตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนทางด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่ระดับ 1 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท รวมถึงมีแนวทางส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม (University-Industry Linkages: UIL)ให้มากขึ้น

“อุตสาหกรรม ธุรกิจ”เติบโต เข้มแข็งและมีศักยภาพแข่งขันได้ ต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์” 
บอสใหญ่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ชู Gii ดันเป้ารายได้

ด้าน นายธีรพงศ์  จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า “ขณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีค่าแรง หรือต้นทุนที่ถูกที่สุดในโลก และการที่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ได้ก็จะยิ่งทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรองด้านอื่นนอกจากด้านราคา ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นคำตอบที่นำไปสู่การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจ สำหรับศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ที่ทางบริษัทฯจัดตั้งขึ้น ใช้งบลงทุน 3 ปี อยู่ที่ 600 ล้านบาท จะเป็นศูนย์นวัตกรรมที่สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มกำไร เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และความอยู่รอดของธุรกิจ

“แนวทางการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Gii เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้สินค้าที่คิดค้นขึ้นถูกลอกเลียนแบบได้ รวมถึงเป็นแหล่งองค์ความรู้ในการเรียนรู้ และผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย สร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยทางบริษัทฯตั้งเป้าในปี 2020 (พ.ศ.2563)จะก้าวเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงถึง 8,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้คาดหวังว่าสินค้าใหม่ๆ ที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่คิดค้นจากศูนย์ฯแห่งนี้จะสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10% ของเป้าหมายรายได้ดังกล่าว และช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร”

สำหรับ “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน  หรือ Gii” จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำธุรกิจของไทย
ยูเนี่ยนนับจากนี้ไป เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังถือเป็นความอยู่รอดของบริษัทฯ ที่ยังต้องพัฒนาความยั่งยืนด้านต่าง ๆ ตามที่ได้ให้ความสำคัญไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งศูนย์นวัตกรรมฯ มีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนา โดยนำเอาวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นปลาทูน่า หรืออาหารทะเลมาศึกษาวิจัย ให้เกิดมูลค่าอย่างเต็มที่ ไม่มีส่วนเศษเหลือหรือเหลือน้อยที่สุด 2.ด้านสิ่งแวดล้อม และ3.ด้านการพัฒนาชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย
ขยายใหญ่ดึงมหา’ลัย-ต่างชาติร่วม

“ล่าสุดเรามีแผนขยายพื้นที่จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม จากปัจจุบันมีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร และมีนักวิทยาศาสตร์ ประมาณเกือบ 100 คน ในปี 2017 (2560) จะขยายศูนย์ฯให้ใหญ่ขึ้น 5-10 เท่า และมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมอีก 5-10 เท่า นับจากวันนี้กลุ่มบริษัทฯจะชักชวนผู้มีความรู้ทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต สร้างนวัตกรรมเพื่อความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์  รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ ผลิตนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้ศูนย์นวัตกรรมฯ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาปลาทูน่ายังได้เตรียมแผนขยายขอบเขตไปสู่อาหารสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น กุ้ง ที่ได้มีการเตรียมทีมงานในการใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต คาดจะเริ่มได้อย่างช้าในปี 2017  และในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะมีการเปิดตัวสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรม งานวิจัยเชิงพาณิชย์ ภายใต้การคิดค้นจากศูนย์นวัตกรรมฯ ของเรา”

นายธีรพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนนวัตกรรมได้ ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารว่าเห็นความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่ รวมถึงต้องมีเงินลงทุน และมีกำลังคน เพราะนวัตกรรมเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ซึ่งบริษัทคนไทยมีความสามารถในการลงทุนแต่ไม่ชอบรอนาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามากระตุ้น ทั้งด้านภาษี  เงินทุน หรือสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดการลงทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องบุคลากร เชื่อว่ามีคนเก่งทั่วโลก ที่สามารถดึงมาร่วมทำงานในไทยได้

“การลงทุนด้านนวัตกรรม วันนี้ประเทศไทยลงทุนประมาณ 0.3 %  ของจีดีพีเท่านั้น หากลงทุนได้ 1% เชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมประเทศเติบโต มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างแน่นอน เพราะการลงทุนด้านนี้ ขอเพียงเริ่มต้นให้ได้ตามสภาวะ สถานะทางการเงินที่มี และถ้าทุกคนให้ความสำคัญเรื่องนี้ ต่อไปจะมีศูนย์นวัตกรรมฯ ที่ช่วยพัฒนาสินค้าและบริการไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางที่มีนโยบายผลักดันให้อุตสาหกรรมลงทุนกับนวัตกรรม หรือมีนโยบาย Start up ส่งเสริมให้คนที่มีองค์ความรู้มารวมตัวเข้าสู่แหล่งเงินทุน เชื่อมโยงกับสถาบันอุดมศึกษา จัดสร้างสภาพแวดล้อมเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้  แต่ทั้งนี้ ขอให้เร่งลงมือทำ เพราะยิ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นเท่าใด ก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้น” นายธีรพงศ์ กล่าว

ในช่วง  10 ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นแขนงวิชาที่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่วิทยาศาสตร์มีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น“ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน” ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีพื้นที่ในการนำความรู้มาแปลงให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

“เราคาดหวังค่อนข้างมากจากศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ ถ้าผลงานของศูนย์นวัตกรรมฯเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทั้งทางด้านคุณภาพ ต้นทุน ความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ความแตกต่างจากคู่แข่ง และนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ บริษัทสามารถสร้างรายได้จากผลงานการวิจัยนี้ หากในปี 2563 บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โฉมหน้าไทยยูเนี่ยนน่าจะแตกต่างจากปัจจุบัน ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์ของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือทั้งด้านรายได้ ความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งการเป็นผู้นำนวัตกรรม และการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ”

สินค้าใหม่ๆ ทยอยสู่ตลาด

ขณะที่ ดร.ธัญญวัฒน์  เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เวลานี้คนรับประทานปลากระป๋องน้อยลง เพราะมองว่าปลากระป๋องก็คือปลากระป๋อง ไม่มีความแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มทำให้ไทยยูเนี่ยนนิ่งเฉยไม่ได้ จึงได้ลงทุนนวัตกรรม ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงเพื่อระยะยาว สำหรับปลาทูน่านับจากนี้จะไม่ใช่แค่ปลาทูน่าที่เราเคยเข้าใจ แต่จะมีสินค้าทูน่าที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการเพิ่มยอดขาย  มีฐานการตลาดกว้างขึ้น และเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำไร สร้างนวัตกรรม เพิ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มบุคลากรด้านวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศมากขึ้น

“เราตัดสินใจสร้างศูนย์นวัตกรรมของเราเอง แต่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพราะต้องยอมรับว่ามีศักยภาพในการสร้างคนแต่องค์ความรู้เราน้อย และอาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งเราต้องการให้ศูนย์นวัตกรรมฯเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อยกระดับบริษัทฯ จึงได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และขณะนี้ตอนนี้ได้ขยายความร่วมมือ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มาทำงานวิจัยกับเรา และไม่ใช่มีเพียงอาจารย์นักวิจัยเท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษารวมถึงนักวิจัยเก่งๆ จากต่างชาติมาทำงาน คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับเราอีกด้วย สำหรับศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ที่ตั้งได้เพียง 1 ปีกว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้เห็นการทำงานของทั้ง 3 ภาคส่วนระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาอย่างที่รัฐบาลต้องการจะให้เกิดขึ้นได้จริง”

ลงนามร่วมมืออีก3มหาวิทยาลัย

ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวอีกว่า ไทยยูเนี่ยนฯ เป็นตัวอย่างของภาคเอกชนในการสร้างความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและคน ให้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจ เพราะบริษัทมีโจทย์ชัดเจนว่าจะพัฒนาอะไร ต้องมีความพร้อมในการลงทุนด้านวิจัย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีกำลังคน นักวิจัย อุปกรณ์เทคโนโลยี และภาครัฐอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เข้ามาช่วยประสาน ปลดล็อคกฎระเบียบเอื้อให้นักวิจัยมาทำงานกับภาคเอกชน ทำให้ขณะนี้มีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์กล้าเดินออกจากมหาวิทยาลัยมาร่วมทำงานที่ศูนย์วิจัยภาคเอกชน หรือภาคการผลิตมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนักวิจัยในประเทศเท่านั้น นักวิจัยไทยในต่างประเทศก็กลับมาทำงานในไทย ลดอัตราสมองไหล ดึงคนคุณภาพกลับสู่ประเทศได้ด้วย

โดยขณะนี้ “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน” มีบุคลากรนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติ และยังสามารถดึงนักวิจัยคนไทยเก่งๆ ที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาทำงาน ขณะนี้มีนักวิจัยเกือบ100 คน และมีแผนจะเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้มากขึ้นภายในปีนี้

“ขณะนี้เราได้ลงนามความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโครงการพัฒนานักวิจัยบัณฑิตศึกษา โดยการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยผลิตนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะรับบัณฑิตสาขาด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มาทำงานร่วมกับเรา และทำวิจัยควบคู่ระหว่างการทำงาน โดยจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเมื่อได้ผลงานวิจัยที่นอกจากเป็นประโยชน์ต่อบริษัทแล้ว นิสิตนักศึกษายังยกระดับดีกรี และใช้เป็นผลงานในการจบปริญญาโท และปริญญาเอกได้ โดยกระบวนการต่างๆ จะเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย”
1 ปีจดสิทธิบัตรแล้ว 4 เรื่อง

ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า ผลงานของศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ  ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว 4  เรื่อง โดยทุกเรื่องเป็นการนำนวัตกรรม เพื่อไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แตกต่างจากสินค้าชนิดอื่นๆ คาดว่าภายในปีนี้ จะสามารถออกผลิตภัณฑ์ตัวแรกของโลกที่เกี่ยวกับปลาทูน่า และไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน จะทำให้ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทแรกที่นำนวัตกรรมมาผลิตปลาทูน่าที่คุ้มค่า มีการใช้ปลาทูน่าสร้างมูลค่าในการทำอาหารให้คนได้ทานมากขึ้น เพิ่มกำไรโดยทำให้ปลามีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการลดใช้พลังงานทุกด้าน ที่สำคัญบริษัทไม่เน้นที่ยอดขายแต่จะเน้นที่มาร์จิ้นหรือกำไร เพื่อความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนในอนาคต