ส่งออกญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง เยนแข็งซ้ำเติมดีมานด์อ่อน

23 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมหดตัวอย่างหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก หลังค่าเงินเยนแข็งซ้ำเติมความต้องการจากภายหนอกประเทศที่อ่อนแอ

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมลดลง 14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เหลือ 5.728 ล้านล้านเยน นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการนำเข้าลดลง 24.7% เหลือ 5.215 ล้านล้านเยน หดตัวเป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน ส่งผลให้เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามูลค่าการค้าของญี่ปุ่นเกินดุลอยู่ 5.135 แสนล้านเยน

ค่าเงินเยนปรับตัวขึ้นแตะระดับเกือบสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องประชุมฉุกเฉินเพื่อประเมินสถานการณ์ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นกล่าวว่า ได้มีการจับตามองสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่าเกิดการปั่นค่าเงินหรือไม่ และจะตอบโต้ถ้ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตามนักลงทุนมองว่าทางการญี่ปุ่นมีทางเลือกในการเข้าแทรกแซงตลาดเงินไม่มากนัก เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการลดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศจี 7 ไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ดี การเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินเยนได้ ตราบใดที่นักลงทุนยังมีความคาดหวังต่ำว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หลังข้อมูลเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ และการส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ทางการของเฟด
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ความอ่อนแอในการส่งออกจะคงอยู่ต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง "การส่งออกไม่มีกำลังมากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น มันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราต้องมีความต้องการภายในประเทศเข้ามาสนับสนุน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยได้ แต่ช่วยได้เพียงในระยะสั้นเท่านั้น มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพูดถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม" นายโนริโอะ มิยากาวะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากมิซูโฮ ซีเคียวริตีส์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมลดลงเนื่องจากการลดลงของการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ เรือไปยังอเมริกากลาง และเหล็กไปยังอิตาลี โดยการส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ลดลง 12.7% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อน หลังจากเดือนมิถุนายนลดลงไปแล้ว 10% ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง 11.8% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากลดลง 6.5% ในเดือนมิถุนายน

รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า เศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนขยายตัวได้ 0.2% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 2% โดยการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในไตรมาสที่ผ่านมาช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เล็กน้อย ขณะที่การลงทุนของภาคธุรกิจลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคแทบจะไม่มีการเติบโต

บีโอเจกล่าวว่า จะทำการประเมินผลของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่าบีโอเจอาจให้โอกาสนี้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 28 ล้านล้านเยนเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559