กาง2แผนแม่บทปฏิรูป/ชูยุทธศาสตร์ 20 ปี ‘ลดเหลื่อมล้ำ-รักษากรอบความยั่งยืน’

25 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
การสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2559 ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “โลกเปลี่ยน คลังปรับ” (เมื่อวันที่ 18 ส.ค.59) โดยมีข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์การเงิน-การคลัง และตลาดทุน ร่วมเสวนาเจาะยุทธศาสตร์การคลังไทย ภายใต้ความท้าทายที่ต้องเผชิญทั้งภาระทางการคลังและกรอบความยั่งยืน ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2558-2577) และแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินระยะกลาง 5ปี (2559-2563)

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเทศและสถาบันสัมพันธ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นำเสนอผลงาน ภายใต้เรื่อง “โลกเปลี่ยน คลังปรับ : เจาะยุทธศาสตร์การคลังไทย” ว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอก โดยที่เศรษฐกิจโลกมีการเชื่อมโยงระหว่างกันทำให้ไทยที่เป็นประเทศเล็กและเปิดกว้างพึ่งพาการส่งออกสินค้ากว่า 75% ของจีดีพี ขณะที่การแข่งขันทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เข้มข้นมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความยั่งยืน

[caption id="attachment_89102" align="aligncenter" width="700"] แผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงิน การคลังเพื่อสังคมกรอบระยะกลาง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559/2563 แผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงิน การคลังเพื่อสังคมกรอบระยะกลาง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2563[/caption]

ส่วนความท้าทายจากภายในมีอยู่ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,780 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี แต่ยังไม่ถึงด้านบน เพราะกรอบรายได้ด้านบนจะต้องอยู่ที่ 21,735 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะปรับเพิ่มตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ไทยต้องวิ่งให้เร็วกว่าเดิม เพราะถ้าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอยู่ที่ 3-3.5% จะต้องใช้เวลานานถึง 15-20 ปีกว่าจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง

และ 2.การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ภายในปี 2568 หากสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีแตะ 1ใน 5 ของประชากรทั้งหมด/ประมาณ 20%ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะพบปัญหา 2 ด้าน คือภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นและมีวัยทำงานลดลง หากเป็นแบบนี้ไทยจะยังคงอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไป 3.การต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเรื้อรัง แม้ว่าไทยจะต่อสู่กับปัญหาดังกล่าวโดยลดจำนวนคนจนจากระดับ 36 ล้านคน เหลือเพียง 7 ล้านคน แต่ยังไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะคนรวยที่มีประมาณ 10% ของประชากรเมื่อเทียบกับคนจนมีความแตกต่างกัน 35 เท่า ในแง่ของการถือครองสินทรัพย์ และการถือครองที่ดิน โดยคนระดับบนถือครองที่ดินประมาณ 80% และคนระดับล่างมีเพียง 20% ไทยจึงต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายใน 10-20 ปีข้างหน้าให้ได้ 4.การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาทั้งในและภายนอก ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังและกึ่งการคลังที่เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้มีภาระการคลังที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐเพิ่มอย่างจำกัด ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยต้องยึดกรอบ 3 ส่วนสำคัญ คือ หนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60% ต่อจีดีพี งบการลงทุนต่องบประมาณรวมต้องไม่เกิน 25% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% ต่อจีดีพี กระทรวงการคลังจึงต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ด้าน ดร.มณีขวัญ จันทรศร เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงแนวทางของกระทรวงการคลังในการรองรับความท้าทาย ดังกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินของกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2559-2563) และแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม (พ.ศ. 2559-2563) เป็นแผนระยะกลางเวลา 5 ปี สอดรับกับร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสนับสนุนศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง และการเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลและเป็นมืออาชีพ โดยประกอบด้วย 12 ยุทธศาสตร์

ขณะที่แผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม มี 5 เป้าหมาย กล่าวคือ ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้เพียงพอและลดความเหลื่อมล้ำ พึ่งพาตนเองได้ มีการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และภาคเอกชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการเพื่อสังคม ประกอบด้วย 4ยุทธศาสตร์ ซึ่งแผนแม่บทฯ ดังกล่าวมีโครงการรวมกันมากกว่า 80 โครงการ

TDRIปรับภาษีตรงจุด ลดทับซ้อนองค์กร

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นในหัวข้อ “เจาะยุทธศาสตร์การคลังไทย” ว่า สิ่งสำคัญของรายรับ-รายจ่ายของภาคการคลังจะต้องบริหารให้ยั่งยืน โดยทุกประเทศมีการลดภาษีกัน เพราะกังวลในเรื่องของการบริโภคและการลงทุน ซึ่งของไทยลดจากระดับ 25% เหลือ 20% แต่หากย้อนมาดูด้านรายรับ จะเห็นว่าภาษีที่ใหญ่ที่สุด จะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา โดยภาษีแวตของไทยที่อยู่ 7% ถือว่าต่ำมากในโลก จึงต้องคิดพิจารณาว่าจะมีการปรับหรือไม่ เพื่อการปฏิรูปในอนาคต

ขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดามีคนจ่ายน้อยมากจากระบบแรงงานที่มีอยู่กว่า 38.5 ล้านคน มีแค่ประมาณ 10.3 ล้านคนที่กรอกแบบฟอร์มภาษี แต่จำนวนที่มีการจ่ายจริงมีเพียง 4 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 10 ดังนั้น จึงต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษี ส่วนภาษีนิติบุคคล หากคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี จะพบว่าการจัดเก็บลดลงทุกปี แม้ว่าจีดีพีจะขยายตัวก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีของภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยในแต่ละปีไทยจะสูญเสียจากรายได้การจัดเก็บภาษีราวๆ 2.24 แสนล้านบาท จากตัวเลขที่จัดเก็บภาษีได้อยู่ที่ประมาณ 5.60 แสนล้านบาท หากนำส่วนที่สูญเสียมาบวกกับที่จัดเก็บได้ จะสามารถทำอะไรได้อีกมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเพิ่มภาษีมรดก และสิ่งปลูกสร้าง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

นอกจากนี้ เครื่องมือหลักที่จะเข้ามาใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางการเงิน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดตั้งกองทุน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินให้เปล่าตามโครงการสวัสดิการ หากย้อนดูจะพบว่าไทยมีกองทุนจำนวนมาก ภาครัฐอาจจะต้องมาคิดทบทวนว่ามีการทับซ้อนกันหรือไม่ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อาจจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมได้ และที่สำคัญมีเครื่องมือและนโยบายแล้ว จะต้องมีการติดตามประเมินผลว่านโยบายที่ทำไป หรือเครื่องมือที่ใช้ถูกกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล

“เห็นด้วยในหลักการของร่างแผนแม่บทการปฏิรูปการคลังการเงินฯ และร่างแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคมของกระทรวงการคลัง แต่การทำยุทธศาสตร์ให้ถึงคนได้ หรือถึงเป้าหมาย จะต้องมีการประสานงานกับหลายหน่วยงานด้วย เช่น บีโอไอ หรือการจัดตั้งองค์กรใหม่ ควรปรับปรุงที่มีอยู่ให้ดีขึ้นหรือไม่ และจะต้องมีการติดตามประเมินผลด้วย”

จุฬาฯ แนะสร้างกลไกตลาด

ด้าน รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า นโยบายภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ มือที่ทำงาน (Active Hand) และ 2.สร้างระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐเป็นมือที่ทำงานอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่าสัดส่วนประมาณ 28.5% ของจีดีพี มาจากภาครัฐทั้ง การใช้จ่าย-การลงทุน ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องเชื่อมโยงกันเป็นฮับ และรายรับ การเก็บภาษีจะช่วยการเติบโต และการเพิ่มฐานภาษีเรื่องของสินทรัพย์/พร็อพเพอร์ตี้ มีงานวิจัยของเอดีบีคาดว่าจะช่วยให้จีดีพีระยะยาวขยายตัวได้ 0.4% และการพัฒนาเชิงนวัตกรรม จะต้องสร้างสถาบันเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะต้องสร้างกลไกตลาดในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีไม่ใช่ราคา และพร้อมจะช่วยเหลือคนที่ล้มให้กลับมา

“การพัฒนาในระดับต่อไป รัฐต้องสร้างระบบที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จูงใจให้ใช้เทคโนโลยี พัฒนาระบบการเงิน พัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ และสร้างระบบกลไกสำหรับผู้ที่พลาดให้กลับเข้ามาเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจได้”

จี้คลังตามให้ทัน “เทคโนโลยี”

ภายใต้การเสวนา หัวข้อ “อนาคตการคลังไทยกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลง” ด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้สะท้อนแนวคิดว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในวันนี้ล้วนแต่เกิดจากธุรกิจเดิมที่เปลี่ยนไป โดยมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นแพลตฟอร์ม เช่น ธุรกิจแท็กซี่ ที่มีอูเบอร์เข้ามา หรือคำว่า บล็อกเชน ที่เป็นเครือข่ายความเชื่อมั่นและทำธุรกรรมระหว่างกันบนเครือข่ายนี้ อาทิ การกู้ยืมระหว่างกัน แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer to Peer) และการระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เป็นต้น หรือแม้แต่หุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ซึ่งต่อไปจะเข้ามากระทบต่อแรงงาน หรือการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ บริบทที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้องคาพยพจะต้องปรับตัว เพราะผลกระทบจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ กับการมาของเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม

ส่วนภาคการเงินการคลัง จะเห็นว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์ ได้เปิดสำนักงานฟินเทค เพื่อเข้ามาดูแลเรื่องของ Financial Technologyสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ไทยจะต้องมีการสร้างทีมงานเรื่องนี้เพื่อก้าวให้ทัน โดยโครงสร้างกำกับดูแลจะต้องมีการพัฒนาร่วมกัน หรือการออกกฎหมายใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยี และคนของรัฐจะต้องพัฒนาเรื่องเหล่านี้ให้ทัน หากโครงสร้างพร้อม บุคลากรพร้อม สามารถนำข้อมูลใส่ระบบที่เปิด และให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องก้าวไปสู่ดิจิตอล หรือแม้แต่รายจ่าย จะเกิดความโปร่งใสและสร้างความยั่งยืนได้

“โมเดลที่จะบริหารการเงินการคลัง จะต้องเป็นเรื่องของฟินเทคที่เข้ามาอย่างแน่นอน ซึ่งเราจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับไม่ให้สายเกินไป โดยอย่างน้อยก้าวให้ทัน หรืออย่างมากคือก้าวหน้ากว่า อย่างไรก็ดี โลกเริ่มมองว่าการพัฒนาที่แท้จริง คือ การพัฒนาคนให้มีความสุข โดยวัดจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ว่าดีแค่ไหน จะต้องมีอายุยืนยาว ความรู้จากการเรียน คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 92 เพราะถ้าคนมีคุณภาพ มีความแข็งแกร่งทางกายภาพจะนำไปสู่พลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี และวิธีที่ดีที่สุดหากจะพูดเรื่องของอนาคตจะเป็นอย่างไร คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การบริหารจัดการของกระทรวงการคลัง จะต้องมีการปรับปรุงและติดตามการกำกับดูแล เพราะโครงสร้างการคลังไม่ได้มีเพียงเฉพาะรายได้-รายจ่าย แต่ยังเชื่อมไปยังตลาดเงินตลาดทุน เช่น เรื่องของไฮโซม่านฟ้า ที่จะต้องดูว่าจะมีการกำกับอย่างไร เพราะมีการใช้ระดมทุนแบบคลาวน์ฟันด์ดิง หรือเพียร์ทูเพียร์ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องดูแลจับตาดูความเสี่ยงทั้งตลาดเงินตลาดทุน ประกัน และสหกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแยกกันทำงานไม่ได้ อาจจะต้องมีการรวมศูนย์หรือรวมกันลดความเสี่ยงเรื่องเหล่านี้

TBA ชี้ ระบบการเงินไทยยังเผชิญความผันผวน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) สะท้อนแนวทางการรับมือของระบบสถาบันการเงินไทย ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่า เชื่อว่าสถาบันการเงินจะต้องเผชิญปัญหาอีกมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมีกฎเรื่องของบาเซิล 3 เข้ามา เป็นเรื่องที่ธนาคารต้องมีความพร้อมและระมัดระวังเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญของสถาบันการเงินหรือเป็นหัวใจ คือ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS)

“หัวใจของแบงก์คือเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพราะแบงก์ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และหากเกิดความผันผวนแบงก์จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในทุกเซ็กเตอร์ เพื่อให้เกิดการปรับตัวกับความผันผวน เพราะถ้าไม่ปรับแบงก์ก็จะไม่ให้ยืมเงิน ทำให้ไม่มีผลกำไรกลับมาใส่เงินกองทุน ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจอีกรอบ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559