‘อุตตม’ลั่น‘IoT’ จะพลิกโฉมประเทศไทย

22 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
เป็นเพราะเป้าหมายของรัฐบาลต้องการผลักดันประเทศไทย เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจและดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบตามแผนภายในระยะเวลา 20 ปี

นั่นจึงเป็นที่ของการจัดงาน"Thailand: Digital Transformation" โดยสมาคมศิษย์เก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงการคลัง ได้จัดงานขึ้นมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 โดยมีดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที มาปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "พลิกบริบทประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล"

[caption id="attachment_87373" align="aligncenter" width="700"] ยุทธศาสตร์ดิจิตอลไทยแลนด์ของกระทรวงไอซีที ยุทธศาสตร์ดิจิตอลไทยแลนด์ของกระทรวงไอซีที[/caption]

ITO คือยุคท้าทาย

ดร.อุตตม กล่าวว่า สำหรับ IoT (Internet of Things) คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และ เป็นความท้าทายที่เผชิญ คือ ประเทศไทย เจริญรุดหน้ามาจากยุคที่ 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ โมเดลประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และ โมเดลประเทศไทย 3.0 ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก สู่โมเดลประเทศไทย 4.0 หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ("Value–Based Economy) รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี (2560-2579) วันนี้เข้าสู่ยุค 4.0 คือ ยุค IoT หรือ ยุคอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ ยุคดิจิตอล สะท้อนรายได้ของคนไทย เราเติบโตมาตลอดแต่เรามาติดระดับปานกลาง ทำอย่างไรจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เป็นระดับที่สูงพอสมควรแต่สามารถทำได้ดีกว่านี้ มีหลายประเทศอยู่ระดับเดียวกับเราหรือหลังเรา อันนี้ประเทศไทยต้องมีการสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการจากสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้ และ สามารถขายได้ทั้งในและนอกประเทศ

ไม่เพียงเท่านี้อีกหนึ่งความท้าทาย คือ ประเทศไทยปรับตัว และใช้โอกาสจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนอกประเทศไทย โดยเฉพาะการรวมตัวทางเศรษฐกิจใกล้ตัวสุด คือ AEC (Asean Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) การรวมตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลให้เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน วันนี้การค้าขายออนไลน์ช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่อาเซียนได้อย่างรวดเร็ว เพราะที่ตั้งของประเทศได้เปรียบ ทำอย่างไรถึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งในด้านโทรคมนาคมในการซื้อขายออนไลน์อี-คอมเมิร์ซ ได้ด้วย

ดันดิจิตอลไทยแลนด์ สู่เป้าไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่ ไทยแลนด์ 4.0 นั้นหมายถึง วิสัยทัศน์ภาพจากไทยแลนด์ 1.0 มาที่ 4.0 ที่ต้องการไปแต่ยังไม่ถึงก็จะเป็นเศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มอันนี้ คือ เป้าหมายที่ต้องไปถึง และ แนวทางที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 คือ แนวทางที่รัฐบาลเรียกว่ารวมพลังประชารัฐ คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน-มหาวิทยาลัย และ สถาบันการศึกษา ช่วยกันทำเพราะเทคโนโลยีดิจิตอลนำไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ที่สัมผัสทุกกลุ่ม ทุกมิติ ผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ ที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนในสถานที่การงานรวมไปถึงบุคลากรอีกด้วย เช่นกรณีของ อูเบอร์แท็กซี่ และ โปเกมอน โก

ดังนั้นไทยแลนด์ 4.0 เป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการมุ่งไปถึง มาถึง ดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งกระทรวงไอซีที รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวพันอย่างไร ดิจิตอลไทยแลนด์ หรือ ง่าย ๆ เป็นภาพ เป็นวิสัยทัศน์ ว่า ประเทศไทยแลนด์ 4.0 ที่เราต้องการเห็นเป็นประเทศซึ่งมีการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยการสร้างมูลค่าสูงๆ ในหลายภาคส่วน จะเกิดขึ้นได้เราต้องเป็น ดิจิติลไทยแลนด์ ก็คือประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในเชิงเศรษฐกิจสังคม และ สัมพันธ์ไทยแลนด์ 4.0 ก็คือเป็นตัวจักรสำคัญไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ถ้าไม่มี เชื่อได้เลยว่า ไทยแลนด์ 4.0 เกิดยากมาก

"เรื่องหนึ่งที่ต้องทำคือเศรษฐกิจสังคมดิจิตอล นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ไปพูดในประเทศมาเลเซีย และ เป็นจังหวะดีที่ต้องทำ"

3 หมื่นหมู่บ้านได้ใช้เน็ตเร็วสูง

นอกจากนี้ ดร.อุตตม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น ต้องมีความเสถียร ที่มีศักยภาพ นำไปสู่โครงการที่จะยกระดับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดจะใช้ไฟเบอร์ออพติก เป็นส่วนใหญ่ ออกไปให้ทั่วประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 76,000 หมู่บ้าน ประมาณ 40,000 หมู่บ้านมีอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่อีก 30,000 หมู่บ้านยังไม่มีเครือข่ายครอบคลุม ซึ่งรวมสถานศึกษา, สาธารณสุข และ การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. จะทำภาพให้ครบ ดังนั้นค่าบริการไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องไม่สูงกว่ากรุงเทพฯ เนื่องจากหลายประเทศกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น อังกฤษ และ ออสเตรเลีย กำลังทำ ถ้าคนไทยไม่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันนวัตกรรม พลังสร้างสรรค์ที่อยากเห็นก็ไม่มีทางได้ผล

ไม่เพียงเท่านี้ต้องนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาสู่ภาคเศรษฐกิจเป็นภาคการผลิต การบริการ การท่องเที่ยว รัฐบาลมียุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอลและอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจรโดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษีดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทั้งนี้ การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมหรือ First s-curve จะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ 70% จากเป้าหมาย ส่วนอีก 30% เป็น New S-curve จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญ ทั้งหมดจะเป็นการสร้าง "New Startups" ต่างๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม 6 ยุทธศาสตร์ (ดูตารางประกอบ) เป้าหมาย คือ ภายในปีหน้าต้องเสร็จ 2 ปีวางพื้นฐานไว้ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึง เมื่อมีการเข้าถึงหมายถึงเรื่องของการศึกษา การสร้างโอกาสการทำมาหากินค้าขายออนไลน์ก็จะตามมา นอกจากนี้ในเรื่องของ ไว-ไฟ ประมาณ 10,000 แห่ง จะทำให้ กศน. จำนวนกว่า 7,000 แห่ง และจะพัฒนาศูนย์ดิจิตอลชุมชน ของ กระทรวงไอซีที ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นศูนย์พัฒนาดิจิตอลประชารัฐอีกด้วย

ในส่วนงบประมาณในการลงทุนติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นจะไม่ใช่งบประมาณกลาง และนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจัดงบประมาณให้โดยเอาเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 900 จำนวนกว่าแสนล้านบาท และมีการจัดสรรมาให้ 2 หมื่นล้านบาทมาทำโครงข่ายพื้นฐานให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้ใช้ นอกจากนั้นเงินอีกส่วนจะไปขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไปเชื่อมต่อกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมาความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 6 เท่า ดังนั้น 3 ปีข้างหน้าผู้ประกอบการคาดเดาไว้ว่าจะเพิ่มอีก 6เท่าตัว เพราะฉะนั้นดิจิตอลเกตเวย์ ต้องเพียงพอ ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ 70% ของประเทศไทยต้องไปอาศัยประเทศสิงคโปร์ ถ้าวางเครือข่ายเหล่านี้แล้วเสร็จจะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการได้ใช้ สัดส่วนก็เปลี่ยนไป และ กระจายความเสี่ยงของประเทศได้มากขึ้น

และทั้งหมดคือยุทธศาสตร์ดิจิตอลไทยแลนด์ ของ กรทรวงไอซีที โดย "ดร.อุตตม" มั่นใจว่า "IoT" จะพลิกโฉมประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559