สานศาสตร์ศิลป์สถาปัตย์ วาดเส้นสีน้ำ เมืองมรดกโลกฮอยอัน

22 ส.ค. 2559 | 04:30 น.
เพราะ... การเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมคือส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทางความรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ไม่เพียงแค่ลายเส้นและการก่ออิฐถือปูนแต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป

[caption id="attachment_87355" align="aligncenter" width="500"] วาดเส้นสีน้ำ “เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม” วาดเส้นสีน้ำ “เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม”[/caption]

การเล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงจัดโครงการวัฒนธรรมศึกษาสถาปัตยกรรม วาดเส้นสีน้ำ “เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม” ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อความหมาย สะท้อนมุมมองการทำนุบำรุงศิลปะมรดกทางความคิดและจิตวิญญาณของแต่ละชาติ ซึ่งความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมถือเป็นจุดเด่นของงานสถาปัตยกรรมในภูมิภาคอาเซียน ทั้งด้านรูปแบบ ลักษณะภายนอก ตลอดจนภาษาที่ใช้ในการออกแบบ การนำนักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ มากกว่า 27 สถาบัน มาเรียนรู้งานศิลปะนอกสถานที่ผ่านการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพสีน้ำ การวาดภาพลายเส้น หรือการถ่ายรูปนั้น ไม่เพียงเป็นการเพิ่มประสบการณ์และการฝึกฝนฝีมือซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของงานด้านสถาปัตย์ แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปิดมุมมองแบบองค์รวมไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากถิ่นที่อยู่ของตนเอง และผลสะท้อนกลับมาก็คือการเกิดจิตสำนึกในการบำรุงรักษา การหวงแหน และเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในถิ่นที่อยู่ของตนเองต่อไป

[caption id="attachment_87354" align="aligncenter" width="500"] เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม[/caption]

คณะผู้ร่วมโครงการกว่า 40 ชีวิต ได้เดินทางไปร่วมวาดภาพสีน้ำและลายเส้นที่เมืองฮอยอัน อดีตเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 23 ในปี 2542 โดยปักหลักวาดภาพในจุดต่างๆ หลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “สะพานญี่ปุ่น” ก่อสร้างโดยชุชามชาวญี่ปุ่นเมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว รายละเอียดและเรื่องราวบนสะพานสะท้อนฝีมือช่างในอดีต พร้อมภาพฉากหลังที่เต็มไปด้วยกลุ่มอาคารบ้านเก่าสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมในเวียดนาม ต่อด้วย “สมาคมฟุกเกี๋ยน” ศูนย์กลางของการเที่ยวชมเมืองโบราณฮอยอัน ประกอบด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ประจำตระกูลมากกว่า 20 หลัง โดดเด่นด้วยสีสันและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของชาวจีนที่อพยพเข้ามาในช่วงปี 2388- 2428 และสุดท้ายที่ “โบสถ์คริสต์” ใจกลางเมืองดานัง การก่อสร้างสไตล์กอทิธสีชมพู ตกแต่งด้วยลวดลายอันประณีต สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ในประเทศเวียดนาม

[caption id="attachment_87353" align="aligncenter" width="500"] เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม เมืองโบราณฮอยอัน มรดกเวียดนาม[/caption]

อ.ทรงพจน์ สายสืบ ผู้อำนวยการสถานที่ปรึกษาการบริหารจัดการเชิงเทคนิค เพื่อสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปฏิคม ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปภัมภ์ กล่าวว่ากิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสีน้ำอาเซียน สร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง นิสิต นักศึกษา คณาจารย์และผู้คนในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม โดยในทุกๆ ปีคณะทำงานกำหนดเป็นเมืองมรดกโลกในแต่ละประเทศอาเซียน ที่มีระเบียบการบริหารจัดการที่เป็นระบบแต่ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเรียนรู้และนำมาใช้พัฒนาการจัดการการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้สินค้าเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทย การออกแบบเพื่อตอบสนองเพียงความสะดวกในการใช้งานนั้นคงไม่เพียงพอ หากแต่ต้องมีการสื่อสารถึงคุณค่าให้ผู้มาเยี่ยมชม ได้รับรู้ในลักษณะของบรรยากาศโดยภาพรวม การให้ผู้ร่วมโครงการได้ละลายพฤติกรรมและตัวตนความเป็นสถาปนิก ออกไปก่อนและทดลองถ่ายทอดบรรยากาศที่ตนรับรู้ได้ผ่านการเขียนภาพสีน้ำ เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการได้เรียนรู้และถ่ายทอดความรู้สึกที่ได้รับรู้ ซึ่งมากกว่าเพียงแค่งานสถาปัตยกรรมแต่รวมถึงชีวิตและสภาพสังคมที่ตกผลึกรวมอยู่ด้วยกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559