ปิดตำนานแฟลตดินแดง สู่...เมืองชุมชน

23 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ในที่สุด รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ได้อนุมัติงบ 3.57 หมื่นล้านบาท ให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการพลิกโฉมแฟลตดินแดง จากชุมชนเสื่อมโทรมกลายเป็นอาคารสูงทันสมัย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง

มหากาพย์"คนดินแดง"

ภาครัฐมีความพยายามหลายครั้งที่จะพัฒนาแฟลตดินแดง ให้เป็นเมืองที่ทันสมัย สอดคล้องกับความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีในย่านนั้น ดังเช่นพื้นที่ย่านรัชดา-พระราม 9 ซึ่งอยู่ไม่ไกล้ไม่ไกลจากดินแดง วันนี้กลายเป็นศูนย์ธุรกิจใหม่อีกแห่งหนึ่งของ กทม. นับจากมีรถไฟฟ้า MRT ผ่านเส้นทางดังกล่าว และสำหรับย่านดินแดงในอนาคตอีกไม่นานก็จะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) หากว่าการเจรจาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับชุมชนประชาสงเคราะห์ (ดินแดง-ห้วยขวาง) สามารถหาจุดที่ลงตัวได้

หากย้อนอดีตแผนการพัฒนาแฟลตดินแดง เริ่มขึ้นราวปี 2540 ครั้งนั้น กคช. วางแผนว่าจะพัฒนาพื้นที่ 3 โซน 32 อาคาร โดยเริ่มทุบอาคาร 9-20 ก่อนหรือ โซนซี และพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสูง 20-30 ชั้น ในส่วนของพื้นที่โซนเอและโซนบี จะนำพื้นที่โซนบี (อาคาร 1-8) มาสร้างเป็นศูนย์การค้า ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารชั้นใต้ดิน และอาคารสำนักงานสูง 6 ชั้นให้เช่า ส่วนโซนเอ (แฟลต 21-32) จะสร้างคอนโดมิเนียมไว้ขายให้แก่คนที่มีฐานะในราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ฟิตเนส ลานจอดรถ รวมมูลค่าทั้ง 3 โซน กคช.จะใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการทุบแฟลตและสร้างอาคารใหม่ไปด้วย แต่ปปรากฎว่าประชาชนชาวแฟลตไม่เห็นด้วย ทำการคัดค้านจนกระทั่ง การเคหะฯต้องปรับแผนการพัฒนาใหม่ทั้งหมดอีกครั้งโดยไม่มุ่งเน้นการลงทุนเชิงพาณิชย์แต่จะเน้นเชิงสังคมเท่านั้น

มาในปี 2555 ยุคที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ไล่บี้ กคช.ให้ทำแผนพัฒนาแฟลตดินแดงใหม่ โดยยึดโซนการพัฒนาเดิมที่เคยกำหนดเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่จะมีการปรับรูปแบบใหม่ โดยเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่าเชิงพาณิชย์ แต่ยังติดขัดเรื่องแหล่งเงิน อีกทั้งเจอกระแสคัดค้านจากคนในชุมชนอีก ทำให้แผนพัฒนาค้างเติ่ง ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ไม่กล้าปัดฝุ่น เพราะกลัวเสียฐานเสียงมวลชน

รัฐบาล คสช.เดินหน้าลุย

เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหาร ก็มีนโยบายอยากจะให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้น ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. รีบขานรับทันควัน ด้วยการให้ กคช.เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนชาวแฟลตดินแดง โดยการเคหะฯได้ปรับปรุงจนได้แผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง หน้าตาโครงการคล้ายกับโครงการของเอกชน ที่ประกอบด้วยอาคารสูงรูปทรงทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกครบ

ซึ่งตามแผนที่วางไว้ เริ่มจากก่อสร้างอาคารแรกได้ภายในปี 2558 ซึ่งมีความสูง 25 ชั้น มีห้องพักจำนวน 334 หน่วย บนขนาดเนื้อที่ 2 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โซน G ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานการเคหะชุมชนดินแดง เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยในอาคารแปลง 18-20 และ 21-22 รวม 5 อาคาร หลังจากนั้นจะทยอยพัฒนาอาคารอื่นๆต่อไป โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ภายในระยะเวลา 8 ปี ที่จะพัฒนาให้เสร็จทั้งโครงการ รวม 2 หมื่นหน่วย

ส่วนค่าเช่าใหม่นั้น คณะทำงานได้ข้อสรุปว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์อยู่อาศัยเดิมตั้งแต่ปี 2506 ที่มีอัตราค่าเช่าเดิมอยู่ที่ 300 บาทต่อหน่วยต่อเดือน ปรับเป็น 1 พันบาทต่อหน่วยต่อเดือน และอัตราค่าเช่าเดิมที่ 600 บาทต่อหน่วยต่อเดือน ปรับเป็น 1.5 พันบาทต่อหน่วยต่อเดือน ในขนาดพื้นที่ใช้สอยเดียวกันทั้งโครงการคือ 33 ตร.ม.ตลอดระยะสัญญาการเช่า 30 ปี

หลังจาก พล.ต.อ.อดุลย์ และการเคหะฯ ลงพื้นที่พบปะและทำความเข้าใจกับประชาชนชาวแฟลตดินแดง ในที่สุดก็ออกข่าวว่าสามารถร่วมมือกันได้ จนนำไปสู่การชงแผนฟื้นฟูเมืองดินแดง ให้ ครม.อนุมัติ

"จากผลสำรวจถือว่าเป็นผลสำรวจที่ผู้พักอาศัยเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ แม้จะยังไม่ครบทุกหน่วย แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี แสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นที่ต้องการของพี่น้องประชาชนชาวชุมชนดินแดง คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ และสามารถดำเนินการก่อสร้างในเดือนตุลาคม คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน งบการก่อสร้างจะมาจากกคช.ประมาณ 600 ล้านบาท มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งทั้งโครงการจะมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนจะมีทั้งกู้ในประเทศและส่วนของกคช.ซึ่งคลังค้ำประกันทั้งหมด" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ถึงวันนี้แผนฟื้นฟูเมืองดินแดงจะเริ่มเดินเครื่อง แต่ชาวแฟลตบางส่วนก็เตรียมทำเรื่องคัดค้านถึงนายกฯพลเอกประยุทธ์ในเร็วๆนี้ ไม่รู้จะเป็นหนังเรื่องยาวอีกครั้ง รึไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559