สปท.แนะตั้งสนง.กำกับดูแล อุดรูรั่วสหกรณ์ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน

23 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นใน "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ส่งผลสะเทือนกับ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนทั้งระบบ ความบิดเบี้ยวของโครงสร้าง และการบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาล เลยไปถึงขาดความรู้ความสามารถ ช่องโหว่สำคัญที่น่าสนใจยิ่งประการหนึ่ง

[caption id="attachment_88055" align="aligncenter" width="700"] สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำแนกตามขนาดผลิตภัณฑ์ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำแนกตามขนาดผลิตภัณฑ์[/caption]

โดยเมื่อเร็วๆนี้ "คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ" โดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกมธ.ชุดดังกล่าว นำเสนอรายงานพิจารณาศึกษาเรื่อง "การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน" ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ ร.อ.ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน

ในรายงานฉบับนี้ ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้นว่า เกิดจากขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงิน ขณะที่บางแห่งมุ่งขยายกิจการเชิงพาณิชย์โดยขาดความเชี่ยวชาญความชำนาญทำให้ประสบปัญหาการดำเนินงาน แม้ว่าภาพรวมผลประกอบการของสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น จะอยู่ในระดับน่าพอใจ และดีกว่าสหกรณ์ประเภทอื่นๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์การประมง และสหกรณ์ร้านค้า เป็นต้น จากการทำธุรกรรมระหว่างกัน ทั้งในรูปของการรับฝากจากสหกรณ์อื่นและการให้กู้ระหว่างกัน รวมถึงการนำเงินไปลงทุนภายนอก

รายงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประจำปี 2558 ให้ข้อมูลว่า มีสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่จดทะเบียนจำนวน 2,036 แห่ง แบ่งเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,448 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 588 แห่ง อย่างไรก็ดี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์สามารถรวบรวมข้อมูลได้เพียง 1,866 แห่ง เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ 1,349 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอีก 517 แห่ง มีสมาชิกรวมกันประมาณ 3.9 ล้านคน ขณะที่การดำเนินงานปี 2558 สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2.10 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุนระยะยาว 0.22 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ระยะยาว 1.51 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 82 ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียน 0.39 ล้านล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียน 1.00 ล้านล้านบาท เครื่องบ่งชี้ถึงเสี่ยงอันเกิดจากการขาดสภาพคล่องได้

และเมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ในปี 2558 พบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์มีผลกำไรสุทธิ 65,293 ล้านบาท ขณะที่มีผลขาดทุนสะสม 1,243 ล้านบาท แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีผลขาดทุนสุทธิ 1,882 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสม 15,424 ล้านบาท โดยผลดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำนวนมากเช่นนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบจากกรณีของ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ซึ่งมีสหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ มีสมาชิกจำนวนมาก ที่สำคัญเกิดการทุจริตโดยกรรมการและผู้บริหาร

กมธ.การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอประเด็นการปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนไว้หลายประการ ในด้านการส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆของสหกรณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ทบทวนกฎระเบียบต่างๆที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยด้านการพัฒนา เสนอให้นำระบบไอทีมาใช้บริหารภายใน และใช้ทำธุรกรรมของสมาชิก พร้อมพัฒนาแนวทางร่วมกัน และสร้างโอกาสที่จะเชื่อมโยงระบบของสหกรณ์เข้ากับเครือข่ายของธนาคาร เพื่อนำระบบสหกรณ์เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการชำระเงินของประเทศผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ห่างไกลสามารถโอนเงินและชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงบริการภาครัฐและสวัสดิการต่างๆได้สะดวกขึ้น พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงิน อาทิ จัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการศึกษาของบุตร กองทุนการออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพตลอดชีพ เป็นต้น

กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของผู้บริหารซึ่งควรมีความรู้ขั้นพื้นฐานทางด้านการเงินและธรรมาภิบาล มีหน่วยกำกับดูแล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสหกรณ์ และส่วนที่เป็นสถาบันการเงิน เสนอให้จัดตั้ง "สำนักงานกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน" ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ สามารถเลี้ยงต้นเองได้ และให้มีความคล่องตัวในการจัดหาผู้บริหารที่มีความรู้ความชำนาญด้านวิชาชีพมาเป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ดี กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปชุดนี้ ได้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สำนักงานกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ....ดำเนินการไปด้วยดี และสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ กมธ.ขับเคลื่อนฯ เชื่อว่า การจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวจะทำให้การส่งเสริม การพัฒนาและการกำกับกิจการสหกรณ์ทั้งสองประเภทนี้ เป็นสถาบันการเงินที่เติมเต็มช่องว่างของประชาชนระดับฐานรากประมาณ 4 ล้านคนให้ได้รับบริการทางการเงินและสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559