ต่างชาติย้ายฐานลงทุนหนีไทย เหตุเป้าส่งออกติดลบ4ปีซ้อน

19 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
เอกชนชี้อีกปมใหญ่ ส่งออกไทยส่อติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากนักลงทุนต่างชาติย้ายออกกว่า 4 แสนล้าน ช่วง 3 เหตุการณ์สำคัญ "น้ำท่วมใหญ่54-วิกฤติการเมือง56และก่อนลงประชามติ59" จับตารายใหม่ยังแห่ออก ขาดแรงจูงใจสิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้งเอฟทีเอ-อียูและทีพีพีกับสหรัฐฯ ประธานสภาอุตฯชี้ส่งออกไทยยังมีโอกาสโงหัว ม.หอการค้าฯชี้รัฐเร่งเอกชนสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพิ่มขีดแข่งขันหนีคู่แข่งอาเซียน

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากมูลค่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 (จากปี 2556-2558 การส่งออกของไทยติดลบ -0.26, -0.43 , -5.79% ตามลำดับ ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้-1.59%) ส่วนหนึ่งมองว่ามาจากการย้ายฐานการลงทุนของต่างชาติในไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.tradingeconomics.com : Bank of Thailand) ระบุหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 มีนักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือFDI ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นช่วง 3 เดือนคิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท

ต่อมาในปี 2556 เมื่อมีการผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรัฐสภา ส่งผลให้มีการคัดค้านออกมาชุมนุมบนท้องถนน ส่งผลให้ต่างชาติย้ายฐานไปอีก 9.8 หมื่นล้านบาทและล่าสุดช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าทุนFDI ย้ายออกไปอีก 8.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจากกังวลว่าจะเกิดเหตุความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่เลิก รวมแล้ว 3 ช่วง 3 เหตุการณ์มีผลให้ทุนต่างชาติย้ายออกจากไทยรวมเป็นเม็ดเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาท

"จากทุนต่างชาติที่ย้ายออก เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังติดลบถึง ณ ปัจจุบัน นอกเหนือจากเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทส่งออก"

นายบัณฑูรกล่าวเพิ่มเติมว่าช่วงที่ผ่านมาจากผลกระทบทางการเมืองทำให้การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทยหยุดชะงัก ขณะที่สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีที่อียูเคยให้กับไทยก็ถูกตัดสิทธิตั้งแต่ปี 2558 รวมทั้งกรณีที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ มีผลให้ต่างชาติและนักลงทุนไทยขาดแรงจูงใจในการลงทุนในไทย

ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติใหญ่ได้หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนามที่ได้บรรลุความตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปแล้ว และยังเป็นสมาชิกทีพีพีที่รอมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้เวลานี้การส่งออกของเวียดนามไปตลาดอียู และสหรัฐฯขยายตัวสูงมาก

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกยกตัวอย่างบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานออกจากไทยช่วงหลังน้ำท่วมปี 2554 รายใหญ่ก็มีบริษัท โตชิบา สตอเรจ ดีไวซ์(ประเทศไทย)จำกัด (บจก.) ที่ได้ตัดสินใจย้ายสายการผลิตฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ในไทยทั้งหมดไปฟิลิปปินส์,บจก.โตชิบา(ประเทศไทย)ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์ทั้งหมดไปยังโรงงานในมาเลเซีย, บจก.นิคอน ผู้ผลิตกล้องรายใหญ่ได้ขยายไลน์การผลิตชิ้นส่วนกล้อง DSL บางส่วนจากไทยไปลาว และบจก.แอลจี อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย)ได้ย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์จากไทยไปเวียดนาม เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ข้อมูลบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานจากไทยไปไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นรายบริษัทได้ แต่ได้เสนอในภาพรวมนั้น (ปกติบริษัทต่างชาติปิดกิจการ หรือย้ายฐาน การขอโอนเงินออกต้องขออนุมัติจาก ธปท.)

สอดรับกับนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ระบุว่าที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์บางค่ายย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นออกไป เช่นไปผลิตในอินโดนีเซีย ขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูงในไทย เช่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ได้ออกไปลงทุนใน CLMVI (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย)เพื่อใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ และจีเอสพีของประเทศเพื่อนบ้านในการส่งออก โดยในปีที่ผ่านมาคาดโรงงานเครื่องนุ่งห่มของไทยซึ่งตั้งเวียดนามมากที่สุด(มากกว่า 25 โรง)มีมูลค่าการส่งออกจากเวียดนามรวมกันราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท)

"การที่ต่างชาติย้ายฐานออกจากไทย และมีผู้ประกอบการไทยในหลายกลุ่มสินค้าออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยลดลง นอกจากเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ผลกระทบจากการก่อการร้าย ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดที่ปรับตัวลดลง กระทบสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงตาม รวมถึงผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง"

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. (ส.อ.ท. สภาหอการค้าฯ และสมาคมธนาคารไทย) คาดการณ์ส่งออกไทยในปี 2559 จะติดลบ 2% หรือเสมอตัวที่0% (ปี 2558 ไทยส่งออกมูลค่า 2.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยในครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ปัจจัยลบหลักยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว และเรื่องค่าเงิน อย่างไรก็ดีมองว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต หากรัฐและเอกชนมีความพยายามในการหาช่องทางการทำตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง

"การส่งออกของไทยที่ลดลง มองเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลงเป็นหลัก ส่วนผลกระทบจากต่างชาติย้ายฐานยังไม่ทราบตัวเลขจริงว่าออกไปมากน้อยแค่ไหน และกระทบมากน้อยเพียงใด ส่วนกรณีผลกระทบจากเวียดนามเป็นสมาชิกทีพีพีต่อการส่งออกไทย มองว่ายังกระทบไม่มาก แต่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นมากกว่าไทยแน่"

ขณะเดียวกันดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่าการส่งออกของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของปัจจัยภายนอก เป็นผลกระทบหลักจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ผลจากค่าเงินบาทของไทยในบางช่วงแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค ทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่า มีผลต่อคำสั่งซื้อ

อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าได้ถูกผลิตและส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ในส่วนสินค้าเกษตรเช่นข้าว ไทยถูกแย่งตลาดจากสินค้าจากเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา รวมถึงสินค้าผักและผลไม้ และประมง ไทยเสียตลาดให้เวียดนาม และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น

"ทางออกของสินค้าไทยต้องเร่งยกระดับการผลิตเป็นสินค้าระดับกลาง-บน เป็นเกรดพรีเมียมมากขึ้น มีการพัฒนาออกแบบดีไซน์ และใช้นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเวลานี้รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนผู้ประกอบการปรับโครงสร้างการผลิตจากอุตสาหกรรม 3.0 เป็น 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ใช้นวัตกรรมและการออกแบบดีไซน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหนีคู่แข่งในอาเซียน การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพออกไปทำตลาด การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ในการผลิตมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559