แบงก์เซ็นสัญญาลูกค้าเก่า ‘เงินฝาก’ค้ำนำร่อง เล็งขยายประเภทหลักประกันทางธุรกิจ

21 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ย่างเข้าสู่เดือนที่ 2 ของผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 (ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติจริงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 หลังจากประกาศใช้บังคับในวันที่ 2 กรกฎาคม2559) ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้เพิ่มประเภททรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง(สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้) 3.สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ(เครื่องจักร/สินค้าคงคลัง) 4.อสังหาริมทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง 5.ทรัพย์สินทางปัญญา(ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ) และ 6.ทรัพย์สินอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง (ขณะนี้มีการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มขึ้นมา 6 ประเภท หลักทรัพย์, ทรัสตี้, หุ้นกู้, ซื้อขายสินค้าล่วงหน้ารวมทั้งแฟกตอริงด้วย)

[caption id="attachment_86749" align="aligncenter" width="700"] ประเภทหลักประกันและมูลค่าของหลักประกัน ประเภทหลักประกันและมูลค่าของหลักประกัน[/caption]

โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแก่ผู้รับหลักประกัน โดยยังใช้ทรัพย์สินนั้นผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อไปได้ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์และแก้ไขข้อจำกัดการจำนองและจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้จำนองเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนหรือกรณีจำนำที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันกับผู้รับจำนำ

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.)หรือทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้า “สินเชื่อหลักประกันธุรกิจทีเอ็มบี” ว่า ที่ผ่านมาเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวเพียง 1 เดือน ส่วนใหญ่ลูกค้าให้ความสนใจพอสมควร หลักๆยังคงเป็นลูกค้าที่ใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน ซึ่งเปลี่ยนมาเซ็นสัญญาใช้สินเชื่อตัวนี้แทนแล้วประมาณ 3 หมื่นราย ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อตัวอื่นที่ธนาคารให้บริการ เช่น สินเชื่อที่ใช้บัญชีลูกหนี้เป็นหลักประกัน, สินเชื่อที่ใช้สินค้าคงคลังเป็นหลักประกัน ,รวมถึงที่ใช้เครื่องจักรหรือสิทธิประโยชน์ในการรับเงินโครงการต่างๆ ยังมีลูกค้ารายใหม่ไม่มาก แต่ต่อไปสินเชื่อภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจนั้นจะเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม

“เรากำลังอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กที่ต้องการใช้วงเงินไม่เกิน 3-5 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารจะทำตลาดถึงลูกค้าทั่วไปมากขึ้นในช่วงที่เหลือ ซึ่งความต้องการสินเชื่อยังเป็นไปตามตลาด ทั้งรายใหญ่และกลุ่มเอสเอ็มอียังไม่ดีมากนัก”
ด้านนายพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารทยอยส่งลูกค้าที่ใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน ไปจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหลักหมื่นรายแล้ว ซึ่งลูกค้าจะต้องให้ความยินยอม เพราะลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ที่เหลืออยู่ระหว่างทำสัญญาจากฐานลูกค้าที่มีประมาณ 4 หมื่นรายคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะรายละ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ การออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อภายใต้หลักประกันทางธุรกิจใหม่ ธนาคารกสิกรไทยจะแบ่งเป็นลูกหนี้การค้าและสินค้าคงเหลือเป็นหลัก ส่วนหลักประกันที่เป็นสิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้านั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษาความชัดเจน

สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ที่เพิ่งให้บริการ คือ “ลูกหนี้การค้าเป็นหลักประกัน”กำหนดเงื่อนไขต้องเป็นลูกค้าเก่า ซึ่งขายสินค้าให้กับบริษัทขนาดใหญ่(ซัพพลายเชน) มีลูกหนี้การค้าอยู่โดยธนาคารจะอนุมัติวงเงินเพิ่มให้ 20% ของวงเงินกู้เบื้องต้นที่ลูกค้าได้รับ และปัจจุบันมียอดอนุมัติแล้ว 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายเดิม

“เดิม เรารับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้า (แฟกตอริง) ทั้งรายเล็กและรายกลาง พอร์ตสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทโดยมียอดการซื้อขาย 4 หมื่นล้านบาท พอมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจก็เปลี่ยนมาปล่อยกู้เป็นลูกหนี้การค้าสำหรับแฟกตอริงเกรดดี แต่รายที่เกรดไม่ถึงเกณฑ์หรือยังไม่ดีแบงก์จะคุมกระแสเงินสดด้วยคือ เก็บเงินเอง แต่ผลอนุมัติที่ยังไม่มากเพราะตอนนี้ลูกค้ายังไม่ค่อยรู้ นอกจากนี้ในส่วนของสินเชื่อที่ใช้ “สินค้าคงคลังเป็นหลักประกัน”เรายังไม่กระตุ้นตลาด แต่จะเน้นเจาะตลาดภายในติดต่อโดยตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยทีมอาร์เอ็มของแบงก์”

อนึ่ง (4 ส.ค.59) นางวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้มา 1 เดือน มีผู้มาจดทะเบียนหลักประกันแล้ว 4.7หมื่นราย โดยมีสินทรัพย์ที่จดทะเบียนมูลค่ากว่า 2.5แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก 2.09 แสนล้านบาท สินค้าคงคลังมูลค่า 3.2หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นอื่นๆ อาทิ ลูกหนี้การค้า รถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจยังเอื้อต่อการค้าในแง่ของการเกิดบุริมทรัพย์ตามกฎหมายเหนือตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และมีกระบวนการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว และเป็นธรรมซึ่งสินเชื่อภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจึงส่งผลดีทั้งลูกค้าผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน(สถาบันการเงินเจ้าหนี้) โดยการบังคับหลักประกันมี 2 กรณีคือ การบังคับทรัพย์สิน และกรณีการบังคับกิจการ โดยการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินนั้นทำได้ 2 วิธีคือ จำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีการประมูลโดยเปิดเผย(ผู้รับหลักประกันมีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ภายใน 15 วันเมื่อได้ครอบครองทรัพย์สิน)

วิธีที่ 2 บังคับทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธินั้น ภายใต้เงื่อนไขหนี้ที่ค้างชำระเป็นต้นเงินเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ,ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยแล้วเป็นเวลาถึง 5ปี,ไม่มีหลักประกันรายอื่น/บุริมทรัพย์อื่น อันจดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน,ผู้ให้หลักประกันไม่คัดค้านการบังคับหลักประกันหลุดเป็นสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ หากสถาบันการเงินเจ้าหนี้หรือผู้รับหลักประกันสามารถตกลงกับผู้ให้หลักประกันหรือลูกค้าได้โดยส่งมอบลูกหนี้การค้าหรือสินค้าคงคลังโดยไม่ต้องดำเนินคดีทางศาล กรณีผู้ให้หลักประกันไม่ยินยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลและสามารถจบลงได้ในชั้นอุทธรณ์โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลฎีกา

ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองของสถาบันการเงินโดยเพิ่มเติมประเภทหลักประกันให้ครอบคลุมถึงหลักประกันประเภทกิจการที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทและสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีตราสารที่สถาบันการเงินสามารถนำมาหักลดมูลหนี้ก่อนการกันสำรองได้(ดูตารางประกอบ)และธปท.อาจสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นสินทรัพย์ได้หากพิจารณาเห็นสมควร

โดยสรุป แม้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมุ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสัดส่วน 70%จากบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 2.8 แสนรายซึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพียง 30% หรือประมาณ 8 แสนรายส่วนใหญ่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ที่สำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวนั้น มีการตั้งเงื่อนให้ผู้ประกอบการที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้จะต้องมีพฤติกรรมที่ใช้บัญชีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559