โชว์รายได้Q2ทีวีดิจิตอล เวิร์คพอยท์-แกรมมี่จูงกันโต/โฆษณา7เดือน6.58หมื่นล้าน

18 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
เผยผลประกอบการไตรมาส 2/2559 “ทีวีดิจิตอล” เวิร์คพอยท์จูงมือจีเอ็มเอ็ม 25 โกยรายได้เพิ่ม ขณะที่อสมท/อาร์เอส/ช่องวันติดลบ ชี้ปัจจัยรอบด้านทั้งสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลผู้ประกอบการลดใช้จ่าย ขณะที่ต้นทุนรวมเพิ่ม ด้านนีลเส็น โชว์ตัวเลขอุตสาหกรรมโฆษณา 7 เดือน มีมูลค่า 6.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.82% หลังบิลลิ่งสื่อทีวี/เคเบิลตกกราวรูด ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต/เอาต์ดอร์/ทรานสิต/โรงหนังตบเท้าโต

[caption id="attachment_86192" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการ ไตรมาส 2/2559 "ทีวีดิจิตอล" ผลประกอบการ ไตรมาส 2/2559 "ทีวีดิจิตอล"[/caption]

นางสาวบุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ แกรมมี่ เปิดเผยว่า ภาพรวมของทีวีดิจิตอลของแกรมมี่ทั้งสองช่อง ได้แก่ ช่องวัน และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของเรตติ้งและรายได้ จากการวางคาแรคเตอร์ช่องที่ชัดเจน ฐานผู้ชมขยายตัว และจากจุดแข็งในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพที่เข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีการต่อยอดคอนเทนต์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว

ทั้งนี้หลังจากที่ช่องวันมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างการลงทุนและอำนาจการควบคุมกิจการในไตรมาสแรกปี 2558 ส่งผลให้มีการจัดประเภทเงินลงทุนในบริษัท เดอะ วัน เอ็น เตอร์ไพรส์ ฯจากเดิมชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเดิมถือเป็นบริษัทย่อยเปลี่ยนเป็นเงินลงทุนในการร่วมค้า และบันทึกด้วยวิธีส่วนได้เสีย ดังนั้นตัวเลขในงบการเงินที่คงอยู่ในส่วนนี้จะประกอบด้วย ส่วนงานย่อยที่ถือลิขสิทธิ์ในคลังผลงานเดิม ได้แก่ เอ็กแซ็กท์ ซึ่งไตรมาสสองนี้มีรายได้เท่ากับ 5 ล้านบาท ลดลง 98% จากปีก่อน เนื่องจากคงเหลือเพียงรายได้จากลิขสิทธิ์ในคลังผลงานเก่าเท่านั้น

ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม25 ประกอบด้วย ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ทีวีดิจิตอล ธุรกิจวิทยุและโชว์บิซในเครือ เอไทม์ โดยจีเอ็มเอ็ม 25 มีรายได้ในไตรมาส 2 เท่ากับ 469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จากปีก่อน ทั้งนี้มาจากจากการดำเนินงานของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ขณะที่สื่อวิทยุรายได้ลดลง 10% จากช่วงปีก่อน แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นใน ไตรมาส 2

อย่างไรก็ดีปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจทีวีดิจิตอลมาจาก อุตสาหกรรมโฆษณาในครึ่งปีแรกนี้ ซึ่งยังคงมีการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังตามสภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ในไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงโลว์ซีซันและได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาว อย่างไรก็ดี สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่เจาะกลุ่มแมสได้ในวงกว้างและเป็นช่องทางที่ลูกค้าใช้งบโฆษณามากที่สุด ดังนั้นแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาจะฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก โดยการใช้จ่ายงบโฆษณาจะขึ้นอยู่กับรายการใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามา และการรักษาเรตติ้งของรายการเดิมไว้

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) พบว่ามีรายได้รวมตามงบการเงินรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (ไม่รวมรายได้อื่น) เท่ากับ 801.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122.78 หรือเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีรายได้รวม 678.92 ล้านบาท ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของรายได้รวมของบริษัทมีสาเหตุหลักมา จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจ รายการโทรทัศน์ ประกอบด้วย รายได้จากการขายโฆษณาและโปรโมตในช่วงเวลา ต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ของบริษัท สถานีโทรทัศน์อื่น และ ช่องทางสื่อต่างๆ เช่น YouTube รวมถึงรายได้ จากการให้เช่าช่วงเวลาให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อออกอากาศรายการโทรทัศน์ และ รายได้จากการรับจ้างผลิต รายการเพื่อออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ของเวิร์คพอยท์และสถานีโทรทัศน์อื่น โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เวิร์คพอยท์มีรายได้จากรายการโทรทัศน์รวมเท่ากับ 730.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 เท่ากับ 179.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33%

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของรายได้ธุรกิจรายการโทรทัศน์ของเวิร์คพอยท์มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จาก ช่องเวิร์คพอยท์ในช่องโทรทัศน์ของบริษัท โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 บริษัทมีรายได้ค่าโฆษณาและโปรโมต ค่าเช่าเวลา เท่ากับ 669.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 เท่ากับ 234.18 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54% และหากรวมรายได้จากการรับจ้างผลิตรายการให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อออกอากาศในช่องเวิร์คพอยท์

สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกเวิร์คพอยท์มีต้นทุนผลิตทั้งสิ้น 409.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.43 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่มีต้นทุนผลิตเท่ากับ 382.84 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของบริษัท ทั้งนี้ต้นทุนรายการโทรทัศน์ประกอบ ไปด้วย ต้นทุนผลิต, ค่าจัดจำหน่ายใบอนุญาต, ค่ายิงสัญญาณ, ค่าตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการ, ต้นทุนส่วนกลาง และต้นทุนค่าเช่าเวลาออกอากาศ เป็นต้น

ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาตลาดทีวีดิจิตอลค่อนข้างอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เนื่องจากมีสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้นจำนวนมากขณะที่เม็ดเงินในอุตสาหกรรมกลับมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นอีกทั้งจากพฤติกรรมผู้ชม ลูกค้าโฆษณาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนผลประกอบการของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) พบว่า รายได้จากธุรกิจสื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุ ในไตรมาส 2/2559 มีรายได้จากธุรกิจสื่อจำนวน 529.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 59.5 ล้านบาท คิดเป็น 10.1% แต่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในปีเดียวกันซึ่งมีจำนวน 105.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.8% อันเนื่องมาจาก ช่อง 8 ยังมีสามารถในการปิดยอดขายโฆษณาระยะยาว มีรายการที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น ทั้งรายการในกลุ่มกีฬา ได้แก่ รายการ "8 Max มวยไทย" "เดอะ แชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก" "ศึกมวยโลก ช่อง 8 HBO Boxing ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากผู้ชมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการขยายเวลาของรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูง เนื้อหาข่าวและการนำเสนอมีรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น ท าให้ คุยข่าวช่อง 8 เป็นที่ชื่นชอบในวงกว้าง

ขณะที่ผลประกอบการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในไตรมาส 2/2559 พบว่า ธุรกิจโทรทัศน์มีรายได้ 286 ล้านบาท ลดลง 32% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 418 ล้านบาท ซึ่ง อสมท ให้เหตุผลว่าเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งระบุว่าสัดส่วนรายได้มาจากการขายโฆษณา 55%, ค่าเช่าเวลา 12%, โครงการภาครัฐ 30%, อื่นๆ 3% ซึ่งแนวทางแก้ไขของ อสมท คือเพิ่มสัดส่วนรายการที่ผลิตเองให้มากขึ้น (ปัจจุบันมีสัดส่วน 70% ของเวลาทั้งหมด) ลดรายการที่แชร์รายได้ลง เพิ่มจำนวนนาทีโฆษณาของ อสมท เองให้มากขึ้น และหันไปเจรจาตรงกับเจ้าของสินค้า

ล่าสุดบริษัท นีลเส็น(ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยข้อมูลตลาดโฆษณาในประเทศไทย 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่ารวม 65,852 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีจำนวน 71,435 ล้านบาท หรือคิดเป็น - 7.82% แบ่งเป็น สื่อทีวีอะนาล็อก มูลค่า 30,445 ล้านบาท ติดลบ 11.14% สื่อเคเบิล/แซตเทลไลต์ 2,860 ล้านบาท ติดลบ 18.56% สื่อทีวีดิจิตอล 11,399 ล้านบาท ติดลบ 7.78% ส่วนสื่อนิตยสารมีมูลค่า 1,710 ล้านบาท เป็นสื่อที่ติดลบมากสุดกว่า 29.69% ขณะที่อีก 4สื่อมีการเติบโต ได้แก่ สื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่า 983 ล้านบาท เติบโต 70.96% สื่อเอาต์ดอร์ 3,168 ล้านบาท เติบโต 30.05% สื่อทรานสิต 2,887 ล้านบาทเติบโต 17.21% และสื่อในโรงภาพยนตร์ 3,177 ล้านบาท เติบโต 14.08%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559