ดูงานระบบรางไทย-มาเลเซีย (ตอนจบ)

21 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
ฉบับที่ผ่านมาผู้เขียนได้นำเสนอถึงการได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆในการเทรนนิ่ง การประกอบตัวรถไฟฟ้าของโรงงานในมาเลเซียเพื่อนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศมาเลเซียที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันระบบราง สำหรับประเทศไทยนั้นหลายคนที่อยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับระบบรางล้วนมีความหวังที่จะได้เห็นการผลิตรถไฟหรือการประกอบรถไฟและรถไฟฟ้าในประเทศไทยได้เองมากกว่าที่จะจัดซื้อมาให้บริการเท่านั้น

[caption id="attachment_86715" align="aligncenter" width="500"] การประกอบตัวรถไฟฟ้าของโรงงานในมาเลเซีย การประกอบตัวรถไฟฟ้าของโรงงานในมาเลเซีย[/caption]

วันนี้แนวคิดของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเร่งผลิตรถไฟ-รถไฟฟ้าเองล้วนได้รับการสนับสนุนของบุคคลหลากหลายอาชีพโดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสเดินทางร่วมกับสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย(วศรท) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ไปศึกษาดูงานการผลิตและบริหารจัดการระบบรางของประเทศมาเลเซียช่วงวันที่ 7-10 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมความเห็นมานำเสนอเป็นบางช่วงบางตอนเพื่อให้ "แนวคิด" ดังกล่าวสามารถนำไปมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาระบบรางของไทยดังต่อไปนี้

 หลากแนวคิดพัฒนาระบบรางไทย-มาเลเซีย

ในมุมมองของนักวิชาการอย่าง "ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา" ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงประเด็นที่หลายคนต่างมีคำถามในใจว่า "ทำไมมาเลเซียทำได้? ทำไมประเทศไทยน่าจะทำได้ก่อนแต่ทำไม่ได้ซะที" ว่าต้องการสร้างกรอบความคิดของคนทั้งชาติ ให้ไปในทางเดียวกัน ประการสำคัญ คือ ต้องพึ่งพาตนเอง และต้องมีเทคโนโลยีของตนเองที่เป็นอิสระ ด้วยการวางวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาระยาวของชาติที่มีประสิทธิภาพ

ด้านมุมมองของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบราง "วิโรจน์ ลิมปนวัฒนกุล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) ได้ยกตัวอย่างแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SCOMI ที่โดดเด่นด้านผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลว่าเป็นตัวอย่างที่ดี (หรือไม่) ที่รัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนจนปัจจุบันแข็งแรงเพียงพอที่จะออกไปเสนองานแข่งกับชาติอื่นๆ อาทิ บราซิล และอินเดีย ล่าสุดมีความมั่นใจสูงที่จะเปิดตลาดในเมืองไทย โดยมีคนไทยร่วมอยู่ในความสำเร็จนี้ด้วย นั่นแสดงว่าคนไทยก็มีความสามารถสูงไม่แพ้ใครนั่นเอง

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งมุมมองของภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) "ภาวิณา อัศวมณีกุล" หนึ่งในผู้ร่วมคณะในครั้งนี้กล่าวว่าการศึกษาดูงานครั้งนี้ได้เห็นองค์รวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะ "วัตถุประสงค์หลัก" ของการพัฒนาระบบรางในประเทศที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองการให้บริการภายในประเทศเท่านั้น ดังนั้นการที่ไทยกำหนดตัวเองว่า "เป็นผู้ซื้อที่ฉลาด" คือซื้อของดี คุณภาพสูงนั้นจะทำให้ประเทศได้โครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว ในขณะที่การปรับปรุงระดับเทคโนโลยี และความรู้ทางเทคนิคต้องพึ่งต่างชาติ จะทำให้ต้นทุนการประกอบการระบบรางมีแนวโน้มสูงขึ้น

[caption id="attachment_86714" align="aligncenter" width="500"] ระบบราง ระบบราง[/caption]

ลุ้นใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราง ต.ค.นี้

สำหรับความหวังของไทยนั้นปัจจุบันแนวทางการพัฒนาระบบรางของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (ร่าง)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และคาดว่าจะประกาศใช้ตั้งแต่ ตุลาคม 2559 โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้การขับเคลื่อนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วต่อไป

ดังนั้นแม้จะเป็นเพียงแนวคิดบางช่วงบางตอนของผู้ที่เกี่ยวข้องด้านระบบรางแต่ก็ถือว่ามีส่วนดีที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปบรรจุหรือกำหนดไว้ในรายงานผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ส่วนความสำเร็จจะเกิดขึ้นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่นั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า...ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเลือกแนวทางใดต่อการขับเคลื่อนระบบรางในประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559