‘บิ๊กตู่’วอนทุกฝ่ายแจ้งเหตุป่วน นักวิชาการแนะเร่งสอบอย่าตัดบางประเด็น

21 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆเร่งพยายามฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศ กระทั่งเกิดเหตุวินาศกรรมหลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ได้สร้างแรงสะเทือนต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว "เสาหลัก"สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์เหตุเชื่อมโยงทางการเมือง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า เป็น "การวินาศกรรมการเมือง" มิใช่ "การก่อการร้าย"

[caption id="attachment_86778" align="aligncenter" width="700"] ลำดับเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ใน 7 จังหวัด (ระหว่าง 10-12 สิงหาคม 2559) ลำดับเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ใน 7 จังหวัด (ระหว่าง 10-12 สิงหาคม 2559)[/caption]

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมร่วมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และหน่วยงานความมั่นคงเกี่ยวกับแนวทางการทำงานภายหลังเกิดเหตุระเบิดหลายจุดในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ เรียกร้องขอให้สื่อระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะหลายเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวน และไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ถูกกดดัน เพราะจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก และไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รวมทั้งต่างประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะประชาชนต้องมีส่วนร่วม ดูแลพื้นที่ของตัวเองคู่ขนานกันไปกับหน่วยงานความมั่นคง สร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่มีความอ่อนไหว ขอเวลาให้ คสช. รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงทำงานก่อน

"ฝากทุกคนช่วยกันดูแลประเทศชาติ และการเสนอข่าวที่อาจกระทบต่อวงกว้าง เมื่อยังไม่เกิดความชัดเจน จะยิ่งสร้างความเกลียดชัง จึงต้องช่วยกันเดินหน้าประเทศ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการ สมช. ระบุว่า ที่ผ่านมามีการแจ้งเตือน แต่ไม่สามารถระบุชี้ชัดว่า จะมีการก่อเหตุเมื่อใด อย่างไร ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้ช่วยกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดกับประเทศ เกิดกับบ้านของเราเอง เมื่อเห็นอะไรที่เป็นข้อสงสัยขอให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า สิ่งเหล่านั้นจะมีผลกระทบหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ได้ว่า กลุ่มที่ก่อเหตุหลายจุดในพื้นที่ภาคใต้เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นเหมือนที่มีการกล่าวอ้าง เพราะวิธีการในการก่อเหตุเป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานแล้วนำมาวิเคราะห์ก่อนจะสรุป

ส่วนการดูแลสถานการณ์นับจากนี้ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ประมาท และต้องดูแลทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ไม่ใช่ดูแลเฉพาะพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุ และอยากขอร้องประชาชนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ส่วนมาตรการด้านการข่าวนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างมากโดยหน่วยงานด้านการข่าวจะต้องลงไปดูแลตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน

จับตา"บิ๊กตู่" ถกสันติสุขใต้หรือไม่

ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุม International Conference on Blue Ocean Strategy ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ Transforming Nations through Creativity and Innovation ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของไทยร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์บนเวทีระดับผู้นำร่วมกับผู้นำของประเทศอื่นๆ อาทิ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐมัลดีฟส์ นายกรัฐมนตรีรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี สมเด็จพระราชาธิบดีอีมสวาติที่ 3 แห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เป็นต้น

ทั้งนี้ กลยุทธ์น่านฟ้าสีคราม หรือ Blue Ocean Strategy เป็นแนวคิดที่มาจากนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ชื่อ ดับเบิลยู ชาน คิม (Professor W. Chan Kim) และ เรเน โมบอร์ค (Professor Renee Mauborgne) หลักการ คือ ไม่มุ่งเน้นในการตอบสนองต่อความต้องการที่มีอยู่ของตลาด หรือการแข่งขัน แต่จะเน้นการสร้างความต้องการของลูกค้าหรืออุปสงค์ขึ้นมาใหม่ หรือที่เรียกว่า Demand Creation ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าต่อลูกค้าที่จะได้รับคุณค่าที่แตกต่างไปจากสินค้าอื่นๆ ขณะที่ในส่วนขององค์กรจะช่วยลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น อันจะนำไปสู่การเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจ S-Curve ของรัฐบาล

น่าสนใจว่า การเดินทางครั้งนี้จะมีการหารือถึงแนวทางและกระบวนการสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมด้วยหรือไม่ จากที่ก่อนหน้าได้มีการหารือพูดคุยกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาต่อเนื่อง

"เอกชัย" แนะรีบสอบสวน

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สะท้อนความเห็นส่วนตัวต่อเหตุระเบิดและการเกิดไฟไหม้ในหลายพื้นที่ในภาคใต้ที่เกิดขึ้นว่า เชื่อมั่นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูล รายละเอียด และโพรไฟล์ต่างๆอยู่ในมืออยู่แล้ว รวมถึงการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด และทางหลักนิติวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งควรรีบสอบสวนโดยเร็ว อย่าทิ้งไว้นาน กระทั่งเงียบหายไปอย่างที่ผ่านมา เพราะจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประเทศ

นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานาว่า เกิดจากปัญหาการเมืองบ้าง ผลประชามติบ้าง เกิดจากคนภายใน รวมถึงการก่อการร้าย เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะหลักฐานยังไม่แน่ชัด และจะทำให้เกิดอคติเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีการวางแผน เตรียมการมานานแล้ว ผอ.สำนักสันติวิธีฯ ระบุ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เกิดในพื้นที่ 6-7 จังหวัดที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กวาดล้างขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งคนกลุ่มนี้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นในเมื่อหลักฐานยังไม่แน่ชัด จึงไม่อยากให้ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งทิ้งไปเสีย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559