พ้นจุดต่ำสุดเปิดเกมรุก สั่งทูตไทยแจงจุดแข็งในเวทีโลก/ขับเคลื่อนธุรกิจลุยต่างประเทศ

15 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นจุดต่ำสุดและก้าวข้ามจุดแห่งความกังวลแล้ว รองนายกฯสมคิดฟันธงถึงเวลาลงทุน รัฐบาลตั้งธงเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เปิดเกมรุกมอบภารกิจทูตไทยแถลงจุดแข็งในเวทีโลก เจ้าสัวไทยเบฟแนะปรับความเชื่อขับเคลื่อนธุรกิจบุกตลาดต่างประเทศ สภาธุรกิจหนุนลงทุนเมียนมารักษาระดับการแข่งขัน เผยช่องทางและโอกาสทางการค้าเพียบ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อีกยาวไกลหรือใกล้แค่เอื้อม” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดดังจะเห็นดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวปรับดีขึ้นและจะเริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะหลังผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน หลายสำนักวิจัยอย่างในต่างประเทศมองเศรษฐกิจไทยโต 3 % และล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตเฉลี่ยที่ 3.3 %

“ ผลโหวตเมื่อ 7 สิงหาคมเหมือนฝาจุกที่เปิดออกทำให้คลายกังวลจาก 10 ปีกว่าที่ผ่านมาที่มีความกลัวว่าจะตกลงกันไม่ได้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย บางสำนักวิจัยที่เคยลดเป้าจีดีพีเพราะกลัวในเรื่องเศรษฐกิจโลกไม่ดีเรื่องของเบร็กซิท (อังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป) แต่เมื่อผลโหวตผ่านเอกชนเริ่มหน้าบานต่างหันมาปรับเป้าเศรษฐกิจและเชื่อว่าดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวจะค่อยๆปรับดีขึ้น”

ส่วนสัญญาณที่สะท้อนเศรษฐกิจช่วงที่เหลืออาทิการเบิกจ่ายเร่งรัดการลงทุนในช่วงสุดท้ายของปีงบประมาณ 2559 การบริโภคการผลิตและการเร่งลงทุนภาคเอกชนหลังจากที่เริ่มคลายความกังวลขณะที่มาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนก็ยังไม่หมดและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะให้การช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยผ่านกลไกแบงก์รัฐ คนจนในเมืองและกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเชื่อว่าหากช่วยเกษตรกร 20-30 ล้านคนมีรายได้ดีขึ้นการบริโภคในช่วงปลายปีนี้ก็จะดีขึ้นด้วย

ดร.สมคิดย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนไม่ใช่แค่ชื่นชมอย่างเดียวแต่ต้องลงทุนด้วยเพื่อเป็นการช่วยประเทศให้เดินหน้าโดยตนยังได้ขอร้องให้ภาคเอกชนไปลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดพื้นที่ให้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากสำหรับการลงทุนในประเภทสิ่งทอเรื่องอาหารแปรรูปฮาลาล เพื่อให้หมู่บ้านในพื้นที่เกิดความมั่นใจ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีไปช่วยเหลือ 3 จังหวัดใต้เรื่องการวางโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการค้าผ่านออนไลน์

ในขณะที่โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของประเทศก็ยังเดินหน้าอาทิเรื่องการลงทุนรถไฟฟ้าทุกสายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. ภายในปีนี้ ส่วนเรื่องส่งออกเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เพราะปัจจัยภายนอก แต่การค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จะเป็นตัวช่วยโดยที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนภายในให้เอกชนไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศเพื่อนบ้านมาลงทุนที่เรา

“เมื่อการเมืองผ่อนคลายการที่เราจะเป็นเกตเวย์จะยิ่งชัดเจนขึ้นบทบาทในเวทีต่างประเทศจากเสถียรภาพการเมืองจะทำให้ไทยเสียงดังขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นโดยขณะนี้ต่างชาติ(ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเศรษฐกิจไทยโต 3 % หอการค้าไทยประเมินที่ 3.3 % แต่หน้าที่ของผมคือชอบที่จะตีทะลุเหมือนเกมส์โปเกม่อน”

ดร.สมคิดกล่าวในตอนท้ายว่า จากการตั้งรับมานานวันนี้ประเทศไทยต้องเปิดเกมรุกอย่างแข็งแรง โดยจากนี้ไปทูตไทยทุกคนต้องไปแถลงต่อนานาประเทศให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของประเทศไทย ความสำเร็จและจุดแข็งของไทย “เราต้องมีเสียงในเวทีโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตก” (อ่านรายละเอียดประกอบ หน้า 4)

ปรับความเชื่อรุกตลาดต่างประเทศ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “ทำตลาดอย่างไร ก้าวไกลระดับโลก” ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ถือเป็นโอกาสอันดีในการทำธุรกิจและขยายการเติบโตและสร้างแบรนด์ในตลาดต่างประเทศของผู้ประกอบการชาวไทย ที่ไม่เพียงแต่การค้าใน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงอาเซียน+3 อาเซียน+6 และอาเซียน+9 หมายถึงตลาดและโอกาสทางธุรกิจที่ครอบคลุมเกือบครึ่งโลก เช่นเดียวกับนักธุรกิจฝั่งยุโรป ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าในทุกภาคส่วนของไทยเบฟ จะให้ความสำคัญกับการปรับความเชื่อ (Mindset) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ไปในระดับโลก สถานะภาพของแบรนด์ ซึ่งหมายถึงภาพลักษณ์องค์กร ตราสินค้า ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ เพื่อให้รองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น การสื่อสารต่างๆ จึงต้องเพิ่มความเร็วให้เท่าทันกัน

“ไทยเบฟวางวิชั่น 2020 ตามแผนยุทธศาสตร์ 6 ปี โดยโฟกัสใน 3 ขาธุรกิจประกอบด้วย กลุ่มสุรา เบียร์ และนอนแอลกอฮอล์ แต่ในอนาคตเรามองไปถึงเรื่องความหลากหลายของพอร์ตธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นที่มาของ ฟู้ด ออฟ เอเชีย (Food of Asia : FOA) ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญพร้อมทั้งเป็นการขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจอาหารในต่างประเทศอีกด้วย”

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายหรือเรียกว่าเป็นยุคของสมาร์ทคอนซูมเมอร์ โลกของอินเตอร์เน็ต อีคอมเมิร์ช เข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการค้าและการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาดและเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดไม่เข้าใจดิจิตอลย่อมส่งผลต่อเสียต่อการสร้างแบรนด์อย่างแน่นอน

ชู 5 กลยุทธ์ขึ้นผู้นำเครื่องดื่มเอเชีย

อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยเบฟฯได้มีการปรับตัวในเรื่องของการลงทุนตั้งแต่ปี 2012 (2555) ด้วยกาตเข้าซื้อกิจการของบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ จำกัด (มหาชน) หรือเอฟแอนด์เอ็น และสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในช่วงปลายปี 2556 ไปจนถึง ต้นปี 2557 โดยปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้า อาทิ โออิชิ ไปทำตลาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และเป็นเบอร์ 1 ในลาว กัมพูชา เริ่มทำตลาดเชิงรุกในสิงคโปร์ มาเลเซีย และปีหน้าจะเข้าไปรุกตลาดเวียดนามอย่างจริงจัง เนื่องจากตลาดชามีขนาดใหญ่มากกว่าไทย และเติบโตมาก

ทั้งนี้การเจาะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนจะใช้รูปแบบการซีนเนอร์ยีกับบริษัทในเครือเพื่อสร้างการเติบโต โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจเกิดขึ้นด้วยกลยุทธ์ 5 ข้อ เพื่อนำไปสู่ความเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในเอเชีย ได้แก่ การเติบโตทั้งด้านรายได้และกำไร (Growth) เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาเซียน การขยายธุรกิจ (Diversity) นำสินค้าที่มีความหลากหลายเข้าทำตลาด เช่น 100 พลัส จากเอฟแอนด์เอ็น เข้ามาทำตลาดในไทย หรือการนำเครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ น้ำอัดลมเอส และชาเขียวโออิชิไปบุกตลาดมาเลเซีย เป็นต้น

แนะเตรียมพร้อมลงทุนเมียนมา

ด้านนายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ในเครือสหพัฒน์ และประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวในหัวข้อ “โอกาสทอง เจาะตลาด CLMV” ว่า แนวทางการเติบโตและกลยุทธ์การค้าขายในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศเมียนมาที่กำลังเนื้อหอมมีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนจำนวนมาก เห็นได้จากในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าจากไทยสู่เมียนมามากขึ้น และในอดีตเมียนมาจะให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค แต่ปัจจุบันเมียนมาเริ่มนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ด้านต่างๆที่สามารถนำไปผลิตเองได้ เช่น ผ้าผืนและด้าย การเกษตร ปูนซีเมนต์ และเหล็ก เป็นต้น

“การนำเข้าสินค้าของไทยสู่เมียนมาปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไปอย่างมาก จากเดิมที่จะเน้นการนำเข้าอุปโภค บริโภคเข้าไป แต่ขณะนี้เปลี่ยนรูปแบบสินค้านำเข้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่สามารถนำไปผลิตเองได้มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่ารูปแบบการนำเข้าสินค้าที่เปลี่ยนไปสะท้อนให้เห็นว่าเมียนมาเริ่มคิดถึงการพัฒนาโครงสร้าง และเตรียมผลิตสินเพื่อทดแทนการนำเข้าเช่นเดียวกับประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน”

ขณะเดียวกันความเนื้อหอมของเมียนมาทำให้มีผู้เข้าไปลงทุนจำนวนมาก โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนมากสุดได้แก่ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 โดยสาเหตุที่ทำให้นักธุรกิจไม่กล้าเข้าไปลงทุน ได้แก่ 1 ขาดคู่ค้าที่เหมาะสม 2.เงินทุนและความมั่นใจการลงทุน 3.การเก็งกำไรซื้อที่ดิน ไทย-เมียนมา 4.ไม่อยากลำบาก ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเห็นคนไทยทำธุรกิจรูปแบบการนำสินค้าไปจำหน่ายมากกว่าจะไปตั้งโรงงานผลิตอยู่ที่นั่น ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการจำหน่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอเนื่องจากไม่ช่วยให้เกิดผลระยะยาว แต่ควรอดทนเรียนรู้กับพื้นที่ก่อนที่จะขยายในธุรกิจที่เหมาะสม

ส่วนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีก็เช่นเดียวกันต้องอาศัยองค์ประกอบให้รอบด้าน อีกทั้งต้องทำหรือผลิตสินค้าในสิ่งที่คนประเทศเมียนมาต้องการไม่ใช่ทำสิ่งที่บริษัทอยากทำ พร้อมทั้งต้องหาสิ่งที่เขาต้องการเจอ เช่นภาคเกษตรกรรมต้องการพัฒนาด้านการเกษตร ประเทศไทยก็ควรเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนเขาเนื่องจากภูมิประเทศ เครื่องมืออุปกรณ์ประเทศไทยและเมียนมามีความใกล้เคียงกัน อีกทั้ง 5-10 ปีเมียนมาจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศไทยด้วย

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมียนมาเรื่องแรกที่รัฐบาลเมียนมาทำคือการปรองดองของชาติพันธุ์ในประเทศ รองลงมาได้แก่เรื่องลงทุน ดังนั้นจึงระมัดระวังกับการลงทุนที่จะส่งผลกระทบต่อชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดเป็นปัญหาต่อนักลงทุนที่จะเข้าไป แต่เชื่อว่าหลังจากนี้รัฐบาลใหม่ จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เมียนมามีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต แต่ก็มีปัจจัยลบเรื่องของความไม่แน่นอนสูง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559